"อดีต รมว.ต่างประเทศ" ยัน "เอ็มโอยู 44" ไม่ได้ยอมรับเส้นไหล่ทวีปกัมพูชา ขออย่าใช้วาทกรรมเสียดินแดน จนสร้างความเสียหายเหมือนในอดีต "นิกร" มองถ้า "ประชามติ" ไม่ถอยครึ่งก้าว เสี่ยงไม่ได้ "รธน.ฉบับประชาชน" วอน "เพื่อไทย" อย่าดันเสียงข้างมาก "บิ๊กต่าย" ยันเคารพกฎหมายไม่แทรกแซงมติบอร์ด รพ.ตำรวจ ปมชั้น 14
เมื่อวันที่ 10 พ.ย.67 นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า หลังการปั่นกระแสเสียเกาะกูดซาลงไป ก็ยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก เอ็มโอยู 44 แล้วทำเอ็มโอยูใหม่ โดยมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและกฎหมาย 2 ประเด็นใหญ่ คือ ประเด็นแรก กล่าวหาว่าเอ็มโอยู 44 ไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศ และจะทำให้ไทยเสียสิทธิทางทะเล ซึ่งไม่เป็นความจริง เนื่องจาก 4 เหตุผลคือ 1.ไม่มีเนื้อหาของเอ็มโอยู 44 ใดๆเลยที่ไปยอมรับเส้นที่กัมพูชาลาก 2. ฝ่ายไทยไม่เคยมีการกระทำหรือพฤติกรรมไปยอมรับเส้นของกัมพูชา 3.ยิ่งกว่านั้น เนื้อหาในข้อ 5 ของเอ็มโอยู 44 ระบุไว้ชัดเจนว่าตราบใดที่ยังไม่มีข้อตกลงเรื่องการแบ่งเขตทางทะเล ให้ถือว่า เนื้อหาเอ็มโอยู 44 และการเจรจาตาม เอ็มโอยู 44 จะไม่มีผลกระทบต่อการอ้างสิทธิ์ทางทะเลของทั้งไทยและกัมพูชา
และ 4. แผนผังแนบท้ายเอ็มโอยูระบุไว้ทั้ง 2 เส้นที่ไทยและกัมพูชาต่างอ้างสิทธิ์ ถ้าตีความว่าการทำเอ็มโอยูเท่ากับไทยยอมรับเส้นของกัมพูชา มันก็ต้องตีความในทำนองเดียวกันว่ากัมพูชายอมรับเส้นที่ไทยยึดถือด้วยใช่หรือไม่ ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายแถลงไปแล้วว่าเอ็มโอยูเป็นเพียงข้อตกลงไปเจรจา ไม่ใช่เป็นการยอมรับเส้นของอีกฝ่าย
ส่วนประเด็นที่สอง ที่กล่าวหาว่าถ้ารัฐบาลนี้เจรจากับกัมพูชาแล้วขุดน้ำมันและแก๊สในพื้นที่พัฒนาร่วมมาใช้ก่อน จะทำให้ไทยเสียสิทธิในเขตทางทะเลแน่ เรื่องนี้ทฤษฎีถูก แต่ข้อสันนิษฐานผิด เนื่องจากรัฐบาลและคณะกรรมการเจทีซีจะทำเช่นนั้นไม่ได้ เพราะการเจรจา ก) แบ่งเขตทางทะเล และ ข) พื้นที่พัฒนาร่วมหรือ JDA ต้องทำคู่ผูกติดกันไป แยกจากกันไม่ได้ ตามที่ระบุในข้อ 2 ของ เอ็มโอยู 44 นี่คือข้อดีของเอ็มโอยู แล้วจะเรียกร้องให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 ทำไม ทั้งๆที่มันป้องกันความกังวลของคนคัดค้าน มันย้อนแย้ง
นอกจากนั้น ถ้ายกเลิกเอ็มโอยู44 จะมีผลตามมาคือ 1. การประกาศเขตไล่ทวีปของแต่ละฝ่ายยังคงอยู่ พื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน 26,000 ตร.กม.จึงยังคงอยู่ 2. ไทยและกัมพูชาไม่สามารถเข้าไปสำรวจขุดเจาะน้ำมันและแก๊สในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนได้ 3. ทั้ง 2 ฝ่ายไม่มีความผูกพันที่จะต้องเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลและพัฒนาร่วมควบคู่กันไป ซึ่งไม่เป็นผลดี และ 4.ถ้ายกเลิก ข้อผูกพันให้มีการเจรจาเรื่องแบ่งเขตทางทะเลตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ตามที่ระบุในข้อ 3 ของเอ็มโอยูก็จะสิ้นผล ซึ่งเมื่อไทยไม่ยอมรับเส้นของกัมพูชา นี่คือช่องในการเจรจาให้ได้ข้อสรุปที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์
นายนพดล กล่าวต่อว่า ในประเด็นเอ็มโอยู 44 นี้ คนที่สงสัยโดยสุจริตก็มี แต่น่าเสียดายที่มีหลายคนที่ในอดีตเคยร่วมสร้างวาทกรรมเสียดินแดนในปี 2551 เพื่อหวังล้มรัฐบาลที่มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ โดยใช้ความเท็จใส่ร้ายว่าตนซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ทำให้ไทยเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาทั้งๆที่ไทยยกปราสาทให้กัมพูชาตามคำตัดสินศาลโลกไปแล้วตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งข้อเท็จจริงในปี 2551 คือกัมพูชาเอา 1.ตัวปราสาท และ 2.พื้นที่ทับซ้อนไปขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่รัฐบาลไทยเจรจาจนกัมพูชายอมตัดพื้นที่ทับซ้อนออก และยอมขึ้นทะเบียนมรดกโลกเฉพาะตัวปราสาทซึ่งเป็นของเขามาเกือบ 50 ปีแล้ว แต่ตนถูกโจมตีใส่ร้ายเท็จและไปฟ้องเอาผิดตน
ซึ่งต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯก็ได้พิพากษายกฟ้องตนและในคำพิพากษาก็ได้ระบุว่าสิ่งที่ตนทำถูกต้องตามสถานการณ์ ไม่กระทบสิทธิในดินแดนของไทยและไทยจะได้ประโยชน์จากการกระทำของตน จึงไม่อยากเห็นการสร้างวาทกรรมเสียดินแดนอีก เพราะเคยสร้างความเสียหายให้ประเทศเมื่อครั้งจุดประเด็นเรื่องเขาพระวิหารในปี 2551 ซึ่งทำให้มีการปะทะตามแนวชายแดน มีทหารเสียชีวิต และทำให้ในปี 2554 กัมพูชากลับไปยื่นตีความคำพิพากษาศาลโลกปี 2505 ส่งผลให้ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชาเสื่อมทรามลงในเวลานั้น
ภายหลังรัฐประหารปี 2557 ก็มีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบการเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อน OCA ตามกรอบเอ็มโอยู 44 จนถึงปี 2566 เกือบ 8 ปี ซึ่งก็เป็นการทำตามกรอบที่เหมาะสม แต่ตอนนี้ลุกขึ้นมาเรียกร้องให้ยกเลิกสิ่งที่พวกตนเคยใช้ดำเนินการ ประชาชนน่าจะคิดได้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องการเมืองหรือไม่ ตนเห็นว่าหากมีข้อห่วงใยโดยสุจริตควรส่งไปยังรัฐบาลดีกว่ากล่าวหาและบิดเบือนประเด็น นายนพดล กล่าว
วันเดียวกัน นายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขบทบัญญัติที่ว่าด้วยเกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญ ว่า จากที่ตนเสนอแนวทางให้ใช้เกณฑ์ผ่านประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญด้วยเสียงข้างมากชั้นครึ่ง คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ ขณะที่เสียงเห็นชอบนั้นใช้เสียงข้างมากของผู้มาออกเสียง และต้องเป็นจำนวนที่มากกว่าเสียงโนโหวต แทนการใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้น คือ ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิและเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ นั้นเพื่อให้เป็นแนวทางประนีประนอม ระหว่างหลักการที่ กมธ.ฝั่งสส.ยึดถือ คือ เสียงข้างมากปกติ และ กมธ.ฝั่งสว. ที่ต้องการใช้เกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น อย่างไรก็ดีในประเด็นข้อเสนอนั้นเชื่อว่าจะมีกมธ.ที่สนับสนุน ทั้งจากพรรครวมไทยสร้างชาติและจากพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากแนวทางเสียงข้างมากชั้นครึ่งนั้น เคยเป็นแนวทางที่พรรคภูมิใจไทยเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติต่อสภาฯ
นายนิกร กล่าวด้วยว่าส่วนกรณีที่แกนนำพรรคเพื่อไทย เช่น นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการใช้เสียงข้างมากปกติ และต้องการให้สภาฯ ยืนยันบทบัญญัติในเรื่องดังกล่าว หลังจากที่ผ่านเวลา 180 วันนั้น ตนมองว่าพรรคเพื่อไทยควรประเมินให้ดี เพราะหากมีกรณีแตกหักในชั้นกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นการแตกหักกับ สว. อาจทำให้ไม่ได้รับความร่วมมือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตามขั้นตอนแล้วต้องได้เสียงสว. รับหลักการวาระแรก 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง
เสียงของสว.มีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่รัฐธรรมนูญของประชาชน หากไม่มีหนทางประนีประนอมแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนอาจไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย ส่วนที่กังวลว่าจะมีผู้ออกมาใช้สิทธิประชามติ ไม่ถึง 50% ของผู้มีสิทธินั้น ตามสาระของร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประชามติ ได้เปิดให้ใช้วิธีออกเสียงผ่านทางไปรษณีย์ ซึ่งจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มาก และเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิประชามติเรื่องรัฐธรรมนูญเกินเกณฑ์กำหนด ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้ 2 ฝ่ายพยายามประนีประนอมกันถอยคนละครึ่งก้าวเพื่อข้ามความยากลำบากนี้ไปให้ได้เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ผู้คนเฝ้ารอ นายนิกร กล่าว
นายนิกร กล่าวด้วยว่าสำหรับการประชุมของกมธ.ร่วมฯ ในสัปดาห์หน้าจะงด และจะนัดอีกครั้งวันที่ 20 พ.ย. โดยเชิญตัวแทนของบริษัทไปรษณีย์ไทย และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาหารือถึงแนวทางการทำประชามติด้วยวิธีอื่นๆ นอกจากการตั้งหน่วยและลงคะแนนในคูหา เบื้องต้นจากที่ตนศึกษาแนวทางการทำประชามติด้วยระบบไปรษณีย์นั้น เชื่อว่าประเทศไทยสามารถทำได้ แม้ไม่เคยทำมาก่อน อีกทั้งหลังจากที่ กกต. เข้าหารือกับ กมธ.ร่วมแล้ว ทราบว่าจะเดินทางไปดูงานการประชามติที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่กกต.จะกำหนดและออกแบบการทำประชามติผ่านระบบไปรษณีย์ที่เหมาะสมต่อไปได้
ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สื่อข่าวมีรายงานแหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งว่า ตั้งแต่ ก.ตร.มีมติให้ พล ต.อ. กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เป็น ผบ.ตร.ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมา ผบ.ตร.กำชับตำรวจทุกนายว่า ต้องให้บริการประชาชนทุกคน อย่างเป็นธรรมและรักษากฎหมายและผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นต้องเร่งรัดและตั้งใจทำงานกับคดีต่างๆที่สังคมให้ความสนใจในช่วงนี้อย่างรวดเร็ว เช่น คดีป๋าเบียร์และแม่ตั๊กฉ้อโกงประชาชนในการหลอกขายทองคำ /คดีดิ ไอคอนกรุ๊ปฉ้อโกงประชาชน /คดีภรรยาบิ๊กตำรวจ และคู่กรณี / คดีนายษิทรา เบี้ยบังเกิด /คดีตำรวจ 6 นาย ร่วมกันอุ้มและรีดทรัพย์ชาวจีน / คดีบ่อนและพนันออนไลน์ / คดีทุนจีนสีเทา /คดีหลอกลวงประชาชนทางสังคมออนไลน์ / การจับกุมผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่จำนวนมากและคดีอื่นๆที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เพราะ ผบ.ตร.ให้นโยบายกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ทุกคดีที่เกิดขึ้นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว รอบคอบ เป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อสร้างชื่อเสียงที่ดีและกอบกู้ภาพลักษณ์ขององค์กรตำรวจให้สังคมเชื่อมั่นอีกครั้ง หากตำรวจรายใดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด ผบ.ตร.เน้นว่าต้องดำเนินคดีถึงที่สุดอย่างเด็ดขาดทุกราย
แหล่งข่าวกล่าวถึงกระแสข่าวที่ว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทำเรื่องขอเวชระเบียนการรักษาตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะที่รับโทษ จากโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ไปถึง 3 ครั้ง แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ
พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ กล่าวว่า ทราบเรื่องดังกล่าวแล้วว่า มีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระติดต่อขอข้อมูลการรักษาตัวของทักษิณ จากโรงพยาบาลตำรวจ แต่ในส่วนของการบริหารราชการ ถึงแม้ตนจะเป็นผู้บังคับบัญชา แต่อำนาจสิทธิ์ขาดขึ้นอยู่กับคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจที่จะต้องพิจารณาคำร้องขอว่าสามารถให้ได้หรือไม่ อย่างไร ยืนยันว่า ประเด็นนี้โรงพยาบาลตำรวจไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจาก ผบ.ตร. ส่วนเรื่องดังกล่าวจะมีนัยยะอะไรหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่กำชับให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
ส่วนกรณีของฝ่ายการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม และนักกฎหมายบางคน พยายามกดดันมาที่ ผบ.ตร.ว่า ผบ.ตร.ต้องสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจส่งข้อมูลของนายทักษิณให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อ หาก ผบ.ตร.ไม่กระทำ อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา157นั้น หากพิจารณาสิ่งที่ ผบ.ตร.กล่าวว่าเรื่องนี้เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ขอชี้แจงว่า กรณีของนายทักษิณนั้น ผบ.ตร. จะไม่แทรกแซงการทำงาน การพิจารณาและการตัดสินใจของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ ที่ต้องพิจารณาในรูปแบบของคณะกรรมการ แต่ขอให้ไล่เรียงไทม์ไลน์กรณีนี้ด้วยว่า นายทักษิณ กลับประเทศและไปรายงานตัวต่อศาลและเข้าเรือนจำในวันที่ 22 ส.ค.2566 และรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยช่วงนั้นผู้บังคับบัญชาที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือ พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ และ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล อดีต ผบ.ตร. โดยช่วงนั้นพล.ต.อ กิตติ์รัฐได้รับการแบ่งงานจาก พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ ให้กำกับดูแลหัวหน้าศูนย์ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ศปปง.ตร.),ศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปก.ตร.)และพล.ต.อ. ต่อศักดิ์ มอบให้พล.ต.อ. กิตติ์รัฐ รับผิดชอบงานป้องกันและปราบปราม
แหล่งข่าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า หากพิจารณาไทม์ไลน์อย่างเป็นธรรมจะพบว่า การรับผิดชอบหน้าที่ของ พล.ต.อ. กิตติ์รัฐในช่วงที่เป็นรอง ผบ.ตร.กับกรณีนายทักษิณที่เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น จะพบว่า ในช่วงนั้นพล.ต.อ. กิตติ์รัฐไม่ได้เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจเลย แต่กระแสกดดันจากหลายฝ่ายในตอนนี้ที่พยายามโยงว่า ผบ.ตร.อาจไม่ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลของนายทักษิณและอาจมีความผิดไปด้วยนั้น ต้องพิจารณาข้อกฎหมายและเคารพการพิจารณาของคณะกรรมการของโรงพยาบาลตำรวจในกรณีนี้ด้วย หากบางฝ่ายระบุว่าผบ.ตร.มีอำนาจสั่งการให้โรงพยาบาลตำรวจดำเนินการในเรื่องนี้ได้นั้น ควรพิจารณาอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายที่มอบให้ ผบ.ตร.รับผิดชอบด้วยว่ากระทำ/ไม่กระทำอะไรได้บ้าง ขอ ยืนยันว่า แม้วันนี้ ผบ.ตร.มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย แต่ ผบ.ตร.ก็ต้องเคารพกฎหมายเหมือนประชาชนทุกคน ดังนั้น ผบ.ตร.จะกระทำในสิ่งนอกเหนือกฎหมายให้อำนาจหน้าที่ไม่ได้
ขณะที่ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เตรียมลงพื้นที่ช่วยนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทยหาเสียง ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 พ.ย.ว่า นายทักษิณ ไปอยู่ต่างประเทศมานานถึง 17 ปี พี่น้องประชาชนคนไทยไม่เคยลืมในผลงานและนโยบายที่นายทักษิณได้สร้างไว้ อุดรธานีเป็นเมืองหลวงคนเสื้อแดงภาคอีสานเช่นไร วันนี้ก็เป็นเช่นนั้น พี่น้องประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคไทยรักไทย พลังประชาชน จนมาถึงเพื่อไทย ไม่เคยลืม 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน เอสเอ็มแอล โอทอป หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 1 อำเภอ 1 ทุน โครงการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียนที่ขาดโอกาส
ครั้งนี้จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี จะได้มาพบมาให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ขณะนี้พี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานี ต่างนับถอยหลังให้ถึงวันที่ 13 และ 14 พ.ย.67 นี้เร็วๆ คาดว่าจะมีพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดอุดรธานีและพื้นที่ใกล้คียงมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้กันล้นหลาม อาจทะลุระดับแสนคนขึ้นไป นายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ทำกิจกรรมรณรงค์หาเสียงกับพี่น้องประชาชนทุกวัน ใช้ความขยันทุ่มเท สื่อสารนโยบาย โฟกัสในสิ่งที่จะเข้ามายกระดับต่อยอดพัฒนา เดินหน้าแก้ปัญหาประชาชน เชื่อมประสานการเมืองระดับชาติ ยกระดับอุดรธานีอย่างมียุทธศาสตร์ ซึ่งได้รับการตอบรับจากพี่น้องประชาชนชาวอุดรธานีอย่างดีมากๆ มีขวัญกำลังใจดีเพิ่มมากขึ้นในทุกๆวัน
พรรคเพื่อไทย ขอโฟกัสกับนโยบายและสิ่งที่จะพัฒนาร่วมกับพี่น้องชาวอุดรธานี เวทีปราศรัยของพรรคเพื่อไทยทุกพื้นที่ จึงเป็นเวทีที่สร้างสรรค์ พี่น้องประชาชนที่มาฟังก็จะได้ทราบว่าจะได้รับประโยชน์และโอกาสอย่างไรหากได้นายศราวุธ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย เป็นนายก อบจ.อุดรธานี นายอนุสรณ์ กล่าว