เข้าสู่โหมดหน้าหนาว พร้อมกับการเกิดฝุ่น หมอก ควัน ชนิดฝุ่นพิษจิ๋ว หรือที่เรียกว่า “ฝุ่นพีเอ็ม 2.5” กันอีกคำรบ ซึ่งก็จะวนลูปเช่นนี้เป็นประจำกันทุกปีในช่วงฤดูหนาว ที่สภาพอากาศแห้ง ฝุ่นละอองต่างๆ ฟุ้งกระจายได้ง่ายมากขึ้น
โดยปรากฏการณ์ข้างต้น ก็บังเกิดขึ้นในหลายภูมิภาคโลกเรา แต่ที่นับว่า หนักหนาสาหัสสากรรจ์ที่สุดตามการจัดอันดับค่ามาตรฐานฝุ่นละออง ก็ต้องยกให้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อินเดีย และปากีสถาน ที่อาการหนักยิ่งกว่าใครๆ ในช่วงที่ผ่านมา เพราะถูกจัดให้อยู่ในระดับเบอร์ต้นๆ หรืออย่างน้อยก็ 1 ใน 5 ท็อปไฟว์ (Top Five) ของกลุ่มประเทศที่มีสภาพอากาศอย่างเลวร้าย
ด้วยสภาพอากาศที่เลวร้ายจากปัญหาฝุ่น หมอก ควัน รวมถึงพีเอ็ม 2.5 ก็คร่าชีวิตผู้คนของทั้งสองประเทศในแต่ละปีมิใช่น้อยๆ
โดยสถานการณ์ที่อินเดีย ก็ทำให้ในแต่ละปีมีผู้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพจากปัญหามลภาวะทางอากาศจำนวนหลายล้านคน หรืออาจมากถึงระดับหลักสิบล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ ปรากฏว่า ถึงขั้นทำให้มีเสียชีวิตมากกว่า 2 ล้านคนในทุกๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากการติดตามสำรวจตั้งแต่ปี 2014 (พ.ศ. 2557) เป็นต้นมา เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีสำรวจติดตามและประมาณการก่อนหน้านี้ ระหว่างช่วงปี 1990 (พ.ศ. 2533) – 2013 (พ.ศ. 2556) ที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 1 ล้านกว่าคนในแต่ละปี
เรียกได้ ปัญหามลภาวะทางอากาศ จากกรณีฝุ่น หมอก ควัน ตลอดจนพีเอ็ม 2.5 ในอินเดีย มีแนวโน้มที่จะเป็นสาเหตุปัจจัยทำให้ประชาชนชาวภารตะเสียชีวิตเพิ่มมากขึ้นในทุกๆ ปีจนน่าเป็นห่วง
ทั้งนี้ จากสถานการณ์ปัญหามลภาวะทางอากาศในอินเดียข้างต้น ก็ทำให้ทาง “องค์การอนามัยโลก” หรือ “ดับเบิลยูเอชโอ” หรือที่นิยมเรียกกันสั้นๆ จนฮิตติดปากว่า “ฮู” (WHO : World Health Organization) ประเมินถึงผลกระทบของปัญหานี้กับค่าเฉลี่ยของอายุขัยของประชากรชาวอินเดียว่า จะส่งผลทำให้อายุขัยสั้นลงเฉลี่ย 5.9 ปีเลยทีเดียว
เหตุปัจจัยที่ทำให้ค่าเฉลี่ยของอายุขัยสั้นลง ก็เพราะปัญหามลภาวะทางอากาศ ก่อให้เกิดโรคร้ายต่างๆ สารพัดตามมา ไม่ว่าจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะเป็นเหตุปัจจัยในลำดับแรกๆ โรคที่เกี่ยวกับอวัยวะดวงตา โรคที่เกี่ยวกับปอด อันรวมถึงมะเร็งปอดด้วย โรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง โรคที่เกี่ยวกับระบบหัวใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งอวัยวะตับอ่อน อันจะทำให้ผู้นั้นต้องกลายเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2
โดยบรรดาโรคร้ายถ้าป่วยอย่างเรื้อรัง ก็อาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมา รวมถึงทำให้พิการ หรือเสียชีวิตได้
ขณะที่ สถานการณ์ปัญหามลภาวะอากาศ จากฝุ่น หมอก ควัน และพีเอ็ม 2.5 ในปากีสถาน ก็เลวร้ายปานๆ กัน
ตามที่มีการเปิดเผยก็ระบุว่า แต่ละปีที่ปากีสถาน มีผู้ล้มป่วยโดยมีมลภาวะอากาศเป็นพิษ เป็นต้นเหตุ จำนวนหลายแสนคน แต่ทางคณะนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ เผยว่า นั่น! ยังไม่ใช่จำนวนที่แท้จริง โดยจำนวนที่แท้จริง อาจจะแตะหลักล้านก็เป็นได้ ซึ่งในจำนวนผู้ล้มป่วยจากพิษภัยของมลภาวะทางอากาศในปากีสถาน ก็เป็นผู้เสียชีวิตจำนวนมากกว่า 128,000 คน โดยคณะนักวิทยาศาสตร์ด้านสุขภาพ ระบุว่า จำนวนผู้เสียชีวิตที่แท้จริง ก็น่าจะมากกว่าที่มีการเปิดเผยข้างต้นเช่นกัน สำหรับ จำนวนผู้ที่ถูกปัญหามลภาวะทางอากาศคร่าชีวิตในแต่ละปีที่ปากีสถาน
สำหรับ สถานการณ์ปัญหามลภาวะอากาศ ฝุ่น หมอก ควัน และพีเอ็ม 2.5 ทั้งในอินเดียและปากีสถานปีล่าสุด ที่ประชากรของพวกเขากำลังผจญชะตากรรมอยู่นี้ ปรากฏว่า ที่อินเดีย จำนวนอย่างน้อยกว่า 20 เมือง ตามแว่นแคว้น หรือรัฐต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่ทางตอนเหนือ เช่น รัฐหรือแคว้นปันจาบ (ปันจาบอินเดีย) และกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ กำลังประสบกับปัญหาฝุ่น หมอก ควันอย่างหนัก
ตามที่มีการวัดดัชนีคุณภาพอากาศในอินเดีย เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เฉลี่ยแล้วก็เกินกว่า 380 ซึ่งเป็นตัวเลขที่วิกฤติ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ แล้ว
โดยทางการกรุงนิวเดลี ก็ระบุถึงสาเหตุปัจจัยที่ก่อมลภาวะทางอากาศระดับขั้นวิกฤตินี้ ก็มาจากหลายประการด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเผาเศษซากของตอซังพืชไร่ทางการเกษตรต่างๆ ของบรรดาเกษตรกร ซึ่งกรุงนิวเดลีถูกผลกระทบจากรัฐ หรือแคว้นต่างๆ ที่อยู่รายรอบ ไม่ว่าจะเป็นปันจาบ (ปันจาบอินเดีย) และหรยาณา อันเป็นพื้นที่ทางการเกษตร ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ ที่กรุงนิวเดลีย แออัดไปด้วยรถยนต์จนจราจรติดขัด ควันไอเสียจากโรงงงานอุตสาหกรรม และฝุ่นละอองจากพื้นที่ก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การก่อสร้างในโครงการใหญ่ๆ ในช่วงที่ประเทศกำลังมีเศรษฐกิจที่ขยายตัวเติบโตเช่นนี้ นอกจากนี้ รูปแบบการดำรงชีวิตในครัวเรือนต่างๆ ที่ปรุงอาหารด้วยถ่าน ที่มีทั้งถ่านจากไม้ และถ่านหิน ตลอดจนการที่ผู้คนในชุมชนมักจะเผาขยะกัน ก็เป็นอีกเหตุปัจจัยหนึ่งที่ก่อมลพิษทางอากาศ
ส่วนที่ปากีสถาน ที่เผชิญกับปัญหาฝุ่น หมอก ควันไม่แพ้อินเดียนั้น ที่นับว่าหนักหนาสาหัสที่สุด ก็เห็นจะเป็นแคว้นปันจาบ (ปันจาบปากีสถาน” ซึ่งแคว้นแห่งนี้มีพรมแดนติดกับแคว้นปันจาบของอินเดีย (ปันจาบอินเดีย) และมีสาเหตุปัจจัยคล้ายคลึงกับของอินเดีย โดยเมื่อกล่าวถึงแคว้นปันจาบทั้งของอินเดียและปากีสถานแล้ว ก็ถือเป็นดินแดนพิพาทเรื่องพรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษมาเลยก็ว่าได้ ซึ่งทั้งทางฝั่งปากีสถาน และทางฟากอินเดีย ก็ระหองระแหงระหว่างกันเรื่อยมา
ทว่า จากการที่ปันจาบ ทั้งของอินเดีย และปากีสถาน กำลังประสบกับมลพิษของฝุ่น หมอก ควัน และพีเอ็ม 2.5 อย่างหนัก ก็ส่งผลให้ทางการท้องถิ่นของทั้งสองแคว้นปันจาบ ต้องระงับท่าทีที่เป็นศัตรูระหว่างกันไปพลางๆ ก่อน พร้อมกับการนำเสนอแนวทางที่เรียกว่า “การทูตด้านสภาพอากาศ (Climate Deplomacy)” ของแว่นแคว้นทั้งสอง
โดยมีรายงานว่า ทางฝั่งของนางมาเรียม นาวาซ มุขมนตรีของแคว้นปันจาบปากีสถาน มีความประสงค์ที่จะเริ่มการเจรจากับนายภควันต์ สิงห์ มันน์ มุขมนตรีแคว้นปันจาบอินเดีย เพื่อก่อสัมพันธ์ในอันที่จะแสวงหาความร่วมมือเป็นประการต่างๆ ในการบรรเทาวิกฤติปัญหาฝุ่น หมอก ควัน และพีเอ็ม 2.5 ที่แว่นแคว้นของพวกเขากำลังเผชิญ