เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 รศ.ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง "รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือ ประชาชนหวาดระแวง : อยู่ต่อไป ไทยจะล้มเหลว" โดยมีเนื้อหาดังนี้

เมื่อรัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือจะบริหารประเทศดำเนินนโยบายใดก็ติดขัด ประชาชนหวาดระแวงต่อความซื่อสัตย์สุจริตและความสามารถในการบริหารประเทศ

ตัวอย่างที่ปรากฏ ของความไม่เชื่อถือและหวาดระแวง

แจกเงินดิจิทัล ไม่ศึกษาให้รอบคอบ ติดขัดแหล่งเงินงบประมาณ อ้างระบบบล็อกเชนก็ล้มเหลว ถูกกล่าวหาว่าเอื้อประโยชน์กับผู้พัฒนาระบบและผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ผู้คนหวาดระแวงว่าแจกเงินเพื่อผลประโยชน์หาเสียงทางการเมือง

เปิดบ่อนกาสิโนถูกกฎหมาย ประชาชนจับได้ว่าซุกอยู่ใต้ชื่อสถานบันเทิงครบวงจร ประชาชนหวาดระแวงว่าเอื้อประโยชน์นายทุนใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งฟอกเงินสนับสนุนธุรกิจสีเทา ขณะเดียวกันสร้างความเหลื่อมล้ำคนในสังคมให้มากขึ้น คนไทยจะติดการพนันมากขึ้นปัญหาสังคมจะตามมาอีกมากมาย ทั้งลักขโมย จี้ ปล้นครอบครัวแตกแยก และฆ่าตัวตาย จะทวีจำนวนมากขึ้นอย่างยากที่จะแก้ไขเยียวยา

การคัดสรรประธานและกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในโอกาสต่อไป สังคมหวาดระแวงถึงการแทรกแซงของกลุ่มการเมืองในรัฐบาลที่จะครอบงำธนาคารแห่งประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อหวังประโยชน์ส่วนตนส่งผลให้ประเทศไทยจะประสบปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ จนถึงขั้นในระยะยาวอาจล้มละลาย รวมถึงสังคมหวาดระแวงว่าถ้ากลุ่มการเมืองในรัฐบาลสามารถครอบงำธนาคารกลางได้สำเร็จ จะนำเงินสำรองที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเก็บไว้เพื่อความมั่นคงออกมาใช้จ่ายเป็นผลงานเพื่อหาเสียงในระยะสั้น

โครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมอ่าวไทยและอันดามัน สังคมห่วงว่าหากศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอย่างไม่รอบคอบ โครงการไม่คุ้มค่าและไม่ประหยัดเวลาสำหรับการขนส่งทางมหาสมุทรได้จริงขณะเดียวกันสังคมเป็นห่วง และหวาดระแวงว่าเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อนักธุรกิจบางกลุ่ม ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งภาคพื้นดินและสองฝั่งทะเล โดยชาวประมงรายเล็กรายน้อยจะเดือดร้อน

ขุดเจาะปิโตรเลียม แก๊สและน้ำมันในอ่าวไทยอย่างเร่งรีบ โดยประชาชนหวาดระแวงว่า เป็นการเอื้อผลประโยชน์ของสองตระกูลข้ามชาติ (ไทยและกัมพูชา) เพราะผู้นำของทั้งสองตระกูล (ตระกูลชินและตระกูลฮุน)มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดแนบแน่น ถึงกับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษารัฐบาลในระหว่างหลบหนีคดีอาญาจากประเทศไทย การดำเนินการอย่างเร่งรีบในครั้งนี้ คนไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่ไว้ใจในความรอบคอบ อาจทำให้เสียอธิปไตยเหนือดินแดนบางส่วนได้

ภาพการเจรจาความเมืองระหว่างประเทศของผู้นำประเทศก็ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ ประชาชนและสื่อทั้งในและต่างประเทศต่างขบขันในการวางตน รวมถึงความรู้ความสามารถของผู้นำรัฐบาล ประชาชนเกิดความอับอาย ขาดความเชื่อมั่นโดยเฉพาะในเรื่องการต่างประเทศ ซึ่งอาจนำมาสู่ความเสื่อมถอยของไทยในเวทีโลก

นี่คือตัวอย่างความหวาดระแวงสิ้นศรัทธาของประชาชนไทยในขณะนี้ และอาจลุกลามไปเรื่องอื่นๆ ในอนาคตเพราะหากประชาชนไม่เชื่อมั่นและศรัทธาต่อผู้นำและรัฐบาลเสียแล้ว จะทำอะไรก็ไร้ผล จนถึงขั้นอาจก่อให้เกิดความเสียหายกับประเทศอย่างยากที่จะเยียวยา

นอกจากการจากการขาดความเชื่อถือต่อผู้นำและรัฐบาลแล้ว ขณะนี้ประเทศไทยเผชิญกับปัญหารุมเร้ามากมาย ที่รัฐบาลจะเอาแต่เพียงเยียวยาเฉพาะหน้าเมื่อเกิดเหตุต่อไปอีกแล้วไม่ได้

ตัวอย่างเช่น

- สังคมสูงวัยที่โครงสร้างประชากรเปลี่ยน ผู้สูงอายุมีสัดส่วนสูงขึ้นมาก คนเกิดใหม่น้อยลง คนวัยทำงานน้อยลง จะเกิดวิกฤติการคลัง รัฐบาลจะมีค่าใช้จ่ายสูงแต่รายได้จากภาษีอากรจะน้อยลง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจะสูงมากขึ้น

- การเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศอย่างรุนแรง “โลกร้อน-โลกรวน” จะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะภาคการเกษตรอย่างมาก

- ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง ขณะที่เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาอย่างรวดเร็ว ไทยต้องเร่งพัฒนาความรู้ความสามารถมิใช่เพียงซื้อเทคโนโลยีมาใช้เท่านั้น

- ความขัดแย้งในการเมืองระหว่างประเทศที่รุนแรงยิ่งขึ้น ไทยอาจต้องเผชิญกับการตัดสินใจเลือกข้างหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เพื่อเห็นแก่ประเทศชาติ รัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร น่าจะรู้ตัวและประเมินศักยภาพของผู้นำรัฐบาลได้ว่า ขาดวุฒิภาวะ ไร้ประสบการณ์ ไม่มีความรอบรู้ หย่อนวิจารณญาณว่าควรทำอะไร ในเวลาและสถานที่ใด  หากรัฐบาลนี้บริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้สภาวะที่ขาดศรัทธาจากประชาชนเช่นนี้ต่อไป ประเทศชาติสังคมไทยจะทรุดหนัก ความไม่เชื่อถือศรัทธาและระแวงสงสัย จะทวีมากขึ้น จนไม่สามารถบริหารประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันอาจเป็นเหตุให้เกิดอำนาจนอกระบบ ที่ไม่พึงปราถนาเข้ามาดำเนินการได้

เพื่อเห็นแก่คนไทยทั้งประเทศ ถึงเวลาที่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะผู้นำรัฐบาลจะต้องตระหนักรู้และลุกขึ้นมาปรับปรุงตัวเองและคณะรัฐบาล เพื่อเรียกความเชื่อมั่นและศรัทธาจากประชาชนและสังคมไทย พร้อมทั้งลดความหวาดระแวงในการดำเนินการต่างๆ ว่ามิได้ทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ

แต่หากมีความยากลำบากหรือเป็นไปได้ยาก ก็ควรจะต้องพิจารณาแสดงสปิริตถอนตัวจากการเป็นรัฐบาล เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมากกว่า โดยเฉพาะเป็นผู้ที่ประชาชนเลื่อมใสศรัทธาเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สังคมจักยังจารึกถึงความเสียสละของนางสาวแพทองธาร ว่าครั้งหนึ่งได้ทำเพื่อส่วนรวม

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

พฤศจิกายน 2567