วันที่ 10 พฤศจิกายน 2567 ที่โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม พร้อมด้วย นายนิยม เติมศรีสุข ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม พร้อมคณะผู้บริหารจากกระทรวงยุติธรรมและ กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่เยี่ยมนายเอ็ม (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี ชาว อ.นางรอง จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งถูกนางสารภี (ขอสงวนนามสกุล) อดีตข้าราชการครูเกษียณ ซึ่งเป็นมารดา สร้างห้องขังไว้ภายในบ้านพักหลังทนกับพฤติกรรมการติดยาเสพติดและการพนันไม่ไหว
โดยมีนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.ขอนแก่น,พล.ต.ต.อนุวัตร สุวรรณภุมิ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น,นายพันเทพ เสาวโกศล รอง ผวจ.ขอนแก่น ,นพ.ชาญชัย ธงพานิช ผอ.รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น นายชินกร แก่นคง นายอำเภอเมืองขอนแก่น และ นายนาวิน คำเวียง ว่าที่รองนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ร่วมให้การต้อนรับ
โดย พ.ต.อ.ทวี ได้พูดคุยกับ นางสารภี ผ่านระบบวีดีโอคอล เพื่อให้กำลังใจและรายงานความคืบหน้าขั้นตอนการบำบัดรักษา ในระยะ 1 สัปดาห์ที่นำตัวนายเอ็มจาก จ.บุรีรัมย์ มาบำบัดที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ก่อนที่จะเข้าตรวจติดตามการบำบัดฟื้นฟูนายเอ็ม ซึ่งอยู่ในกระบวนการบำบัดของ รพฯ.ร่วมกับผู้บำบัดรายอื่นตามตารางกิจกรรมที่กำหนด
นายเอ็ม กล่าวว่า การเข้ารับการบำบัดที่นี่ต่างจากที่อื่น ซึ่งก็จะตั้งใจเข้ารับการบำบัดรักษาตามวิธีทั้งหมดเพื่อที่จะเลิกและกลับบ้าน และขอฝากเพื่อนๆ ที่มาบำบัดให้มีความมุ่งมั่นตั้งใจจะได้กลับบ้านพร้อมกัน
ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้นที่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐจะต้องจิรงจังในการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด แม้บางพื้นที่รัฐจะบอกว่ารายงานเป็นศูนย์ แต่ชาวบ้านมาบอกว่ายังมียาเสพติดระบาดหรือมีพื้นที่เสี่ยง แบบนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ เราต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันทุกฝ่าย กรณีนายเอ็ม เดิมอาจจะมองว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเข้ารับการรักษาที่ รพ.นางรอง หรือหน่วยบำบัดต่างๆมาแล่วกว่า 10 ครั้งแต่ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ส่งมาบำบัดที่ รพ.ธัญญารักษ์ขอนแก่น ซึ่งครอบครัวก็มีความหวังว่านายเอ็ม จะหายขาด ตามวิธีการบำบัดบัดรักษาทางการแพทย์เฉพาะทาง และที่สำคัญคือนายเอ็ม มีลูกด้วย ดังนั้นกระบวนการสร้างความเข้มแข็งที่เริ่มจากครอบครัวจะต้องจริงจังและชัดเจน
“รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปราบปรามยาเสพติด ยกตัวอย่างธวัชบุรีโมเดล ที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่และกำหนดเป็นพื้นที่นำร่องปลอดยาเสพติด ซึ่งจะต้องเข้มงวดตรวจซ้ำทุกพื้นที่ อย่างละเอียด ควบคู่ไปกับการบำบัด ซึ่งในการบำบัดรักษาขอนแก่น เป็นตัวอย่างที่สำคัญที่ทำได้จริงและอยู่ในลำดับต้นๆของประเทศ เพราะเมื่อปราบปรามจับกุมผู้ค้ามาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว ผู้เสพ ยังคงมีการบำบัดด้วยวิธีทางการแพทย์ตรวจเข้ม ตรวจซ้ำ จาก รพ.แล้วยังคงมาอยู่ในศูนย์ฟื้นฟูหรือซีไอ ที่ตั้งขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดของผู้นำที่ทำจริง และต้องการแก้ไขปัญหาให้กับจังหวัดลงลึกไปในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก้าวต่อไปคือการสร้างคน” พ.ต.อ.ทวี กล่าว
รมว.ยุติธรรม กล่าวต่ออีกว่า จากข้อมูลผู้ที่ถูกคุมขังในคดียาเสพติด พบว่ามีกว่า 200,000 รายที่การศึกษาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาคเรียนบังคับ ดังนั้นการสร้างคน ให้มีคุณภาพแม้จะเป็นผู้ที่ถูกคุมขังหรือต้องราชทัณฑ์กระทรวงยุติธรรมจะนำเรื่องนี้มาบูรณาการกับกระทรวงศึกษาธิการหรือ กระทรวง อว.ให้กับผู้ที่ถูกคุมขังได้เรียน ทั้งแบบวิชาการ และวิชาชีพ เพราะเมื่อกลุ่มคนเหล่านี้พ้นโทษออกไปก็จะมีความรู้จากงานด้านวิชาการและวิชาชีพติดตัวไปด้วย
อย่างไรก็ตามจากการลงพื้นที่ครั้งนี้พบว่าผู้เสพ ที่เข้ารับการบำบัดนั้นมีอายุต่ำสุดคือ 14 ปี และติดมาจากสังคมในครอบครัว และแม้จะเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาแล้วแต่ก็เป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลยอมไม่ได้และจะต้องทำงานกันอย่างหนักและจริงจังมากขึ้น