วันที่ 10 พ.ย.67 นายพายุ เนื่องจำนงค์ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคประชาชน ออกมากล่าวหารัฐบาลแทรกแซง การบินไทย ด้วยการส่งคนการเมืองเข้าไปเป็นผู้บริหารในคณะกรรมการแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) อาจเป็นการครอบงำกิจการของการบินไทยนั้น ข้อเท็จจริงที่เป็นดังนี้
1.การฟื้นฟูกิจการการบินไทยเกิดขึ้นช่วงปี 2563 ในตอนนั้นการบินไทยมีหนี้ 3.32 แสนล้านบาท ถูกยื่นฟ้องล้มละลาย แต่ศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้ฟื้นฟูกิจการ ซึ่งมีเงื่อนไขต้องมีการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟู 5 คนจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อเข้ามาดูแลแผนฟื้นฟูกิจการให้ผ่านการพิจารณาของเจ้าหนี้
2.ขณะนั้นการบินไทยมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ก.คลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 51.03% เมื่อต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ การบินไทยต้องขายหุ้นออกเพื่อให้พ้นพันธะทางกฎหมายกับรัฐ ช่วงแรกขายให้กองทุนวายุภักดิ์ 1 จำนวน 3.17% เมื่อรัฐถือหุ้นการบินไทยน้อยกว่าครึ่ง การบินไทยพ้นสภาพรัฐวิสาหกิจ สถานะของการเป็น “สายการบินแห่งชาติ” จบลง (ปัจจุบันคลังถือหุ้น 41.4% )
3.การเริ่มฟื้นฟูกิจการการบินไทย เกิดขึ้นในรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจาก คสช. และมีการแต่งตั้งผู้บริหารจากฝ่ายการเมืองเป็นกรรมการแผนฟื้นฟูฯ เหตุใดตอนนั้นคุณศิริกัญญาจึงไม่ทักท้วง? จนปี 2565 กรรมการแผนฟื้นฟูฯ พ้นจากตำแหน่ง 2 คน เหลือ 3 คนจนถึงปัจจุบัน เหตุใดในตอนนั้นคุณศิริกัญญาจึงนิ่งเฉย? ไม่มีความเป็นห่วงเป็นใยการบินไทย
แต่กลับมีปัญหาทันทีในรัฐบาลนี้ที่ ก.การคลัง เสนอชื่อผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯแทนตำแหน่งที่ว่างลงมานาน 2 ปี คือ คนหนึ่งคือ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบาย และแผนการขนส่งและจราจร จาก ก.คมนาคม อีกคนหนึ่งคือรองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ จาก ก.การคลัง
ทั้งสองเป็นข้าราชการที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ตรงกับสายงานการคมนาคมและการบริหารการเงิน ซึ่งมีความเหมาะสม แต่คุณศิริกัญญา กลับคัดค้านและหาว่าเป็นการแทรกแซงการบินไทย หรือเป็นเพราะทั้งสองมาจากการเสนอโดยรัฐบาลเป็นพรรคเพื่อไทย จึงต้องค้านไว้ก่อนหรือไม่? โดยไม่ดูความสมเหตุสมผล เลยเถิดจนมาถึงการใช้วาทกรรมเดิมๆให้ร้ายรัฐบาล
4.กระทรวงการคลัง มีสถานะเป็นทั้ง “เจ้าหนี้ใหญ่” และ “ผู้ถือหุ้นใหญ่” ของการบินไทย จึงสามารถเสนอชื่อได้ ไม่ใช่เป็นเพียง “เจ้าหนี้ส่วนน้อย” อย่างที่คุณศิริกัญญาให้ข้อมูลที่ไม่ครบถ้วน ทั้งหมดนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์คืนกลับสู่ประชาชนจากการใช้หนี้คืนของการบินไทย
“การเตรียมตัวออกจากสถานะสายการบินท่วมหนี้ มาเริ่มนับหนึ่งใหม่ เป็นช่วงรอยต่อที่สำคัญ หากสายการบินจะอยู่ได้ด้วยตัวเองต่อไป ควรได้บุคลากรคุณภาพ ที่ได้รับการคัดสรรโดยรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เข้ามาช่วยบริหารจัดการในขอบเขตที่กฎหมายอนุญาต ก็เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และผมมั่นใจว่า การประชุมเจ้าหนี้การบินไทย ในวันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ ทั้ง 2 บุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อ จะได้รับการพิจารณาจากเจ้าหนี้แล้วเดินหน้าบริหารจัดการในช่วงรอยต่อนี้เกิดประโยชน์มากที่สุด” นายพายุ กล่าว