ชาวไทยเชื้อสายไท - ยวน ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ร่วมประเพณีกวนกาละแม เตรียมแจกประชาชนที่มาร่วมงานบุญกฐินสร้างความรักความสามัคคีในชุมชนที่สืบทอดมาเกือบ 100 ปี 1 ปีได้กินเพียงครั้งเดียว
(8 พ.ย.67) พระครูวินัยธร อำนาจอนุภัทโท เจ้าอาวาสวัดนาหนอง นายสาโรจน์ มูลพวก นายก อบต.ดอนแร่ พร้อมด้วยผู้นำชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกับชาวบ้านในชุมชนวัดนาหนอง ตั้งอยู่ที่ ต.ดอนแร่ อ.เมือง จ.ราชบุรี ชนชนแห่งนี้เป็นชาวไทยเชื้อสายไท - ยวนได้มาตั้งรกรากถิ่นฐานยานนานแต่โบราณกว่าร้อยปีมาแล้ว วันนี้ถือว่าเป็นวันดีที่ชาวบ้านทั้งหนุ่มสาว ผู้สูงวัยได้มาช่วยกันกวนกาละแมรวม 5 หมู่บ้าน มีการสืบทอดยาวนานเกือบ 100 ปีมาแล้ว มีการแบ่งกวนกาละแมออกเป็นหมู่บ้านละ 4 กระทะรวม 5 หมู่บ้าน จะได้กาละแมรวม 20 กระทะ ซึ่งได้รับการบริจาคงบจากผู้ใจบุญกระทะละ 3,000 บาท เพื่อซื้อกะทิ น้ำตาล ข้าวเหนียว มีการใช้แรงกวดผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกัน แต่ละกระทะมีระยะเวลาที่ยาวนานไม่ต่ำกว่ากระทะละ 4 – 5 ชั่วโมงจะได้กาละแมที่มีรสชาติ หวานมัน อร่อย มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ จากน้ำตาลมะพร้าว
จากการสอบถามสูตรเด็ดการกวนกาละแมของที่ชุมชนแห่งนี้ จะมีข้าวเหนียว 8 กิโลกรัม น้ำตาลปึก 20 กิโลกรัม หัวกะทิ 35 กิโลกรัม ต่อ 1 กะทะ ใช้ระยะเวลาการกวนต่อ 1 กระทะประมาณ 4 - 5 ชั่วโมง โดยจะใช้ไฟฟืนประมาณปานกลางใส่อยู่ตลอดเวลา มีการผลัดเปลี่ยนกันกวน เริ่มแรกใส่กะทิสีขาวนวลลงไป พร้อมส่วนผสมต่าง ๆ กวนเรื่อย ๆ สีก็จะเริ่มเปลี่ยนไปกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ที่จะเริ่มเหนียวข้นขึ้น การกวนต้องใช้ความอดทนกับใช้มือจับไม้พายกวนในกะทะที่หลายคนจะรู้เลยว่า กว่าจะได้กาละแมออกมาที่มีรสชาติหวาน มัน เหนียวข้น หอมหวานหนึบหนับแต่ละกะทะนั้นไม่ธรรมดา ต้องใช้แรงเป็นอย่างมาก เมื่อได้กาละแมแล้วก็จะนำมาชั่งกิโลใส่ถุงละ 2 ขีดครึ่ง ถ้าอยากรู้ว่าจะมีความเหนียวหรือไม่ให้สังเกตเวลาตักลงในถุงจะไม่ติดข้างถุงแม้แต่น้อย เพราะมีความมันจากกะทิที่ได้ใส่ลงไปตามสูตรพอดี
พระครูวินัยธร อำนาจอนุภัทโท เจ้าอาวาสวัดนาหนอง กล่าวว่า การกวนกาละแม ถือเป็นของดีที่ขึ้นชื่อของ ต.ดอนแร่ ปีหนึ่งจะได้กินเพียงครั้งเดียวในงานบุญกฐิน ตรงกับวันที่ 9 พ.ย. และงานบุญที่สำคัญเท่านั้น ใช้กรรมวิธีการกวนกาละแมที่ยาวนาน ใช้ไม้ฟืนในการกวนที่จะทำให้ไฟแรงดี กว่าไม้ฟืนชนิดอื่นๆ และจะต้องใช้คนหลายคน เพราะใช้กำลังแรงมาก ทำคนเดียวไม่ได้ โดยคนที่นี่มีสัญชาติไท- ยวน เป็นคนที่วัฒนธรรมมานาน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินต่างๆ มีของหวานโบราณอร่อย โดยจะนำกาละแมไปแจกคนที่มาร่วมงานบุญกฐินของวัด คนที่มาทำบุญส่วนมากจะถามกาละแมที่วัดแจกเป็นประจำทุกปี ที่สำคัญจะได้รับความร่วมมือจากอบต. ท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชาวบ้านมาช่วยงานกันยังได้ของฝาก และยังได้ความรักความสามัคคีในชุมชนด้วย