เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2567 นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า
ความจริงครึ่งเดียวเรื่อง MOU44
รัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศพากันยืนยันสิ่งที่คนไทยรู้ดีอยู่แล้ว ไทยเป็นเจ้าของเกาะกูด 100%
แต่ไม่บอกว่า ถ้ารัฐบาลเจรจาตาม MOU44 ไทยจะเสี่ยงเสียเกาะกูด 99%
ปัญหาเขตไหล่ทวีปไทย-กัมพูชาที่คารังคาซัง เป็นเพราะเส้นของกัมพูชาผิดหลักสากล ถ้าถูกหลักสากลเหมือนกรณีไทย-มาเลเซีย เรื่องจะจบไปได้แล้ว
คำชี้แจงของกต.ที่เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว ก่อคำถามคาใจมากมาย
รูป 1 ความจริง 50%:- "อิงค์"ย้อนถาม ยกเลิก MOU 44 ประเทศได้ประโยชน์อะไร กัมพูชาอาจฟ้อง
ความจริง 100%:- ตอบว่า ในขั้นแรก ประเทศจะยุติความเสี่ยงเสียประโยชน์ในทะเล และในขั้นที่สอง จะยุติความเสี่ยงเสียเกาะกูดบางส่วน
ส่วนในเรื่องที่กัมพูชาอาจฟ้องนั้น รัฐบาลปี 2544 ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน
รูป 2 ความจริง 50%:- กต.กล่าวว่ากฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้สองรัฐที่พิพาทเรื่องเขตไหล่ทวีประงับข้อพิพาทด้วยการเจรจา
ความจริง 100%:- เส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาที่ผ่านเกาะกูดขัดกับกติกาสากล 3 ข้อ คือ
(ก) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขตฯ เพราะรุกล้ำอาณาเขต 12 ไมล์ทะเลรอบเกาะกูด
(ข) ขัดสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศสฯ เพราะอ้างจุดสูงสุดบนเขาเกาะกูดบิดเบือนเจตนารมณ์ของสนธิสัญญาฯ และ
(ค) ขัดอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฉบับนี้ ไม่ได้อนุญาตเรื่องเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของสนธิสัญญาฯ
กต.ไม่บอกว่า การเจรจากับเส้นของกัมพูชาที่ขัดกับกติกาสากลชัดๆ ในขณะที่เส้นของไทยไม่ขัด นั้น ย่อมทำให้ไทยเสียเปรียบ
รูป 6-9 ความจริง 50%:- กต.แสดงพระราชกฤษฎีกากัมพูชาที่กำหนดเส้นเขตไหล่ทวีป
ความจริง 100%:-
ก) กต.ไม่บอกว่า เส้นตรงจากชายฝั่งที่จุด “A” ผ่านจุดสูงสุดบนเกาะกูดที่เรียกว่าจุด “S” ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการอ้างอิงจากหนังสือแนบท้ายสนธิสัญญาสยามฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ข้อ 1 (อ้างอิงคำนูณ สิทธิสนาม)
ทั้งที่อนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีปไม่อนุญาตเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์
ข) กต.ไม่บอกว่า ในรูป 9 กัมพูชากำหนดเส้นเขตไหล่ทวีปที่ผ่านเกาะกูด (ลูกศรชี้) นั้น ขัดกับอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีป เพราะอนุสัญญาฯ เป็นการแบ่งพื้นที่ในทะเล ไม่เกี่ยวกับการแบ่งแผ่นดิน (อ้างอิงดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์)
ค) กต.ไม่บอกว่า ในรูป 7 กัมพูชาลากเส้นเขตไหล่ทวีปไปถึงจุด "P" โดยอ้าง Point equidistant to the Cambodian base of Kusrovic and the line of Thailand base opposite
คืออ้างว่า จุด "P" เป็นจุดที่มีระยะห่างเท่ากันจากฐานของกัมพูชา ที่เกาะกง (Kusrovic) กับฐานของไทยในฝั่งตรงกันข้าม จะเห็นได้ว่า กัมพูชาไม่ได้ถือว่าฐานของไทยอยู่ที่เกาะกูด
นี่คือหลักฐานชัดแจ้งว่า กัมพูชาไม่ได้ยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทย และที่จุด "Pck1" ก็เช่นกัน
รูป 10 ความจริง 50%:- กต.กล่าวว่า MOU44 ไม่เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชา และไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของแต่ละประเทศ
ความจริง 100%:-
ก) กต.ไม่บอกว่า กต.เคยได้ทักท้วงประเด็นขัดกติกาสากลต่อกัมพูชา หรือไม่?
ข) กต.ไม่บอกว่า การที่เอาเส้นของกัมพูชาที่ขัดกับกติกาสากล ไปใส่ไว้ใน MOU44 มีแต่ทำให้ไทยเสียเปรียบ?
ค) กต.ไม่บอกว่า ถึงแม้ MOU44 ไม่เป็นการยอมรับเส้นของกัมพูชา
แต่เนื่องจากมีข้อความว่า ไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิทางทะเลของกัมพูชา ดังนั้น จึงแปลว่า ไทยลงนามจะไม่ใช้สิทธิทักท้วงเส้นที่ผิดกติกาสากล ใช่หรือไม่?
ง) กต. ไม่บอกว่า MOU ที่เป็นธรรมจะต้องเริ่มต้นด้วยเจรจาตกลงพื้นที่พัฒนาร่วมให้เสร็จก่อน
แต่กต.ดำเนินการกลับหัวกลับหาง เอารถไปลากม้า โดยตราแผนที่พื้นที่พัฒนาร่วมขึ้น ที่ผิดกติกาสากล เพื่อรีบร้อนเจรจาส่วนแบ่ง ใช่หรือไม่?
ช) กต. ไม่บอกว่า กรณีที่เส้นเขตไหล่ทวีปที่ผ่านเกาะกูด จะถูกต้องตามเงื่อนไขอนุสัญญาว่าด้วยไหล่ทวีปได้ นั้น ก็คือกรณีที่ไทยและกัมพูชาเป็นเจ้าของเกาะกูดกันบางส่วน ใช่หรือไม่?
ผมขอเชิญให้รัฐมนตรีต่างประเทศและอธิบดีกรมสนธิสัญญาฯ ช่วยตอบคำถามแต่ละประเด็นให้ประชาชน
และหัวหน้าทุกพรรคการเมืองกระจ่าง
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2567
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ
ประธานร่วมศูนย์นโยบายและวิชาการ พรรคพลังประชารัฐ