การเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันกดดัน คล้ายกับว่ารอบด้าน รอบกาย ยากที่จะเปิดกลศึก “การรุก”   สิ่งที่ “รัฐบาล” โดยการนำของ “พรรคเพื่อไทย” ทำได้มากที่สุดยามนี้น่าจะมีทางเดียว นั่นคือการใช้กลศึก “ถอนฟืนใต้กระทะ” 1 ใน 36 กลยุทธ์ตำราพิชัยสงครามของซุนวู

อย่าลืมว่าวันนี้ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลผสม ไม่ได้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เหมือนในอดีต ขณะที่ศึกใน ศึกนอกกำลังดาหน้าเข้าใส่ จึงมีเพียงการหาทาง ประคับประคองตัวเองให้ “อยู่รอด” อยู่ในอำนาจต่อไปให้ยาวนานที่สุด จึงจะถือเป็นโอกาสและความได้เปรียบมากที่สุด

การเข้ามาบริหารประเทศ ของรัฐบาลใหม่ โดยที่ยังมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำหลัก พร้อมด้วยการมาของ “แพทองธาร ชินวัตร”  นายกรัฐมนตรี ลูกสาว “อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร” น่าจะเสริมความแข็งแกร่งให้กับรัฐบาล แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง กลับกลายเป็นเรื่องตรงกันข้าม เพราะทั้งตัวนายกฯแพทองธาร และทักษิณ ต่างเป็น “จุดอ่อน” เรียกแขก เชิญชวนให้ “ฝ่ายตรงข้าม” พาเหรดยื่นสารพัดคำร้อง ไปยังองค์กรอิสระ เพื่อให้มีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา

คำร้องที่วนเวียนอยู่รอบตัวทั้งนายกฯแพทองธาร และทักษิณ มีด้วยกันหลายประเด็น แต่ล้วนชี้ไปที่เรื่องการครอบงำ การชี้นำพรรคเพื่อไทย และผู้นำรัฐบาล โดย “คนนอก” อย่างทักษิณ จาก “6คำร้อง” ที่ร้องโดย “กลุ่มบุคคลนิรนาม” กรณีทักษิณ เปิดบ้านจันทร์ส่องหล้า ให้มีการหารือร่วมกันกับ “แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล” ก่อนจะเคาะหน้าตาครม.ใหม่ และ นายกฯคนที่ 31 กันออกมา ซึ่งเวลานี้ เรื่องอยู่ในมือของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนขึ้นมาพิจารณา

ในระหว่างนี้คำร้องดังกล่าวที่กกต.รวมคดีเอาไว้ด้วยกัน เพิ่งเริ่มนับหนึ่ง ในชั้นการสอบสวน ซึ่งสามารรถขอขยายเวลาออกไปได้คราวละ 30 วันหากยังไม่แล้วเสร็จ หมายความว่า 6คำร้องที่ดูเหมือน “ร้อน” ก็ยังมีเวลาให้ “พรรคเพื่อไทย” ได้หายใจ ยังไม่นับว่ากว่าที่เรื่องจะเดินไปถึงมือ “ศาลรัฐธรรมนูญ” หรือไม่ยังต้องบวกลบระยะเวลาออกไปอีก อย่างน้อยที่สุด ภายในสิ้นปีนี้ 2567 ยังต้องความชัดเจนจากชั้นกกต.ว่ามีมติออกมาอย่างไร

โดยก่อนหน้านี้อาจมีรายการ “เขย่าขวัญ” ว่า งานนี้พรรคเพื่อไทยอาจ “ตายเดี่ยว” เพราะไม่สามารถแก้ข้อหา “ครอบงำ ชี้นำ” โดยทักษิณ ได้ ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลที่จะถูกเชิญไปให้ถ้อยคำ ต่อกกต.นั้นย่อมต้องให้การที่เป็นประโยชน์ กับพรรคตัวเอง ไม่มีใครยอมรับว่า ทักษิณ ชี้นำอย่างแน่นอน และยังมีโอกาสที่พรรคร่วมรัฐบาล จะถูก “กัน” เอาไว้ให้เป็น “พยาน” มาเอาผิดพรรคเพื่อไทยด้วยซ้ำก็ตาม แต่สำหรับพรรคเพื่อไทยเอง ยังประเมินว่า “ความผิด” เรื่องการครอบงำ การชี้นำนั้น ค่อนข้างเป็น “นามธรรม” จะพิสูจน์กันอย่างไรได้ ?

คดีที่ว่าร้อน ทำท่าว่ากำลังจะลุกลามทำเอา เก้าอี้นายกฯของแพทองธาร สั่นคลอนล่าสุดคือ ปมประเด็นเรื่อง “ชั้น14”  มีข้อกังขาว่า ทักษิณเข้าไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจจริงหรือไม่ หลังจากที่กรมราชทัณฑ์ทำเรื่องส่งตัวให้ออกมารักษาตัวนอกเรือนจำ เนื่องจากอาการป่วย

วันนี้คำร้องที่เกี่ยวข้องกับกรณี ชั้น 14 มีทั้งจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ยื่นคำร้องให้ป.ป.ช.ตรวจสอบ ซึ่งกระบวนการได้เดินหน้าไปแล้ว  และยังต้องลุ้นกันต่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญ จะมีมติรับคำร้อง “ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กล่าวอ้างว่าทักษิณ ผู้ถูกร้องที่ 3 และพรรคเพื่อไทยผู้ถูกร้องที่ 2 ร่วมกันกระทำการอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ซึ่ง 1 ใน 6 ประเด็นคือการพุ่งไปที่กรณีทักษิณ ไม่เคยติดคุกแม้แต่วันเดียว อ้างอิงจากหลักฐาน ปรากฏในรายงานของกสม.  แต่ดูเหมือนว่ากรณีชั้น14 นั้นมีแนวโน้มว่า จะเอาผิดไม่ถึงตัวทักษิณ  คนที่มารับโทษแทนคงไม่พ้นเจ้าหน้าที่รัฐ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หรือแม้ล่าสุด กรณีที่จุดขึ้นมาคือปัญหาข้อพิพาทพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ที่เกาะกูด จ.ตราด ที่ม็อบคปท.และแนวร่วมฯ ตลอดจนฝ่ายการเมือง ออกมาโจมตีและจับตาว่ารัฐบาลนี้อาจทำให้ไทยต้องเสียประโยชน์ และไกลไปถึงขั้นเสียเกาะกูด ทำให้หลายฝ่ายพากันหวั่นใจว่า กระแสเรื่องดินแดนอธิปไตยของไทยจะกลายเป็นเผือกร้อน ปลุกกระแส “คลั่งชาติ”  ขึ้นมาล้มรัฐบาลได้หรือไม่ ?

เกือบจะจวนเจียน หวุดหวิดต้องลุ้นว่ารัฐบาล นายกฯแพทองธาร จะไปก่อนครบเทอมเพราะพิษจากเกาะกูดหรือไม่ แต่แล้ว ก็เป็นนายกฯอิ๊งค์ นำทีมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเปิดการแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนบินไปจีน ย้ำว่าเกาะกูดเป็นของไทยอยู่แล้ว รัฐบาลจะไม่ยอมเสียดินแดนตามที่มีการ “ปั่น” กันขึ้นมาอย่างเด็ดขาด

นอกจากนี้รัฐบาลยังย้ำว่าการยกเลิกเอ็มโอยู 44 ตามที่บางฝ่ายเรียกร้อง นั้นอาจมีแต่ทางเสียประโยชน์มากกว่า และจากนี้ จะเป็นเรื่องของความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ไทย-กัมพูชา เพื่อหารือกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ MOU 44 ของทั้ง 2 ประเทศ ต่อไป

รัฐมนตรีทั้งในส่วนของพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลเองดูเหมือนว่าไม่เพียงแต่จะปิดจบทุกความเคลื่อนไหวรอบนอกที่มองว่าหวังใช้กระแสเรื่องเกาะกูดขึ้นมาถล่มรัฐบาล ด้วยเหตุที่มีภาพความสัมพันธ์ของทักษิณ กับ ฮุน เซน ผู้นำกัมพูชา เป็นปัจจัยที่สร้างความหวาดระแวงรัฐบาลเพื่อไทย จนกลายเป็น “จุดอ่อน” ที่ทำให้ยากต่อการไว้เนื้อเชื่อใจ

อย่างไรก็ดี การปลุกกระแสชาตินิยมว่าด้วยผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนที่เกาะกูดโดยม็อบคปท.และแนวร่วม ที่พากันเคลื่อนไหวนอกสภาฯอาจเป็นเรื่องยากที่จะบรรลุเป้าหมาย ไปไกลถึงขั้นรัฐบาลมีอันต้อง “ล้ม”  เพราะ งานนี้แกนนำรัฐบาล หลายคนประสานเสียงว่า ไทยจะไม่เสียดินแดน แต่ที่ต้องมาคุยกันคือการผลประโยชน์จากใต้ทะเล ต้องดูว่า คณะกรรมการ เจทีซี ที่ไทยจะตั้งขึ้นมาจากนี้ ไปต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร เท่ากับว่า เรื่องนี้รัฐบาลเพื่อไทย ยังไม่ได้ดำเนินการอะไรเลย

แม้วันนี้พรรคเพื่อไทยที่มีทักษิณ กำกับอยู่ฉากหลังไม่อยู่ในฐานะที่แข็งแกร่ง มากพอ แต่ย่อมไม่ได้หมายความว่า ทุกกระแสที่ถูกปลุกและปั่นขึ้นมา จะจุดติด หรือกลายเป็นเงื่อนไขทำให้นายกฯแพทองธาร ต้องตัดสินใจยุบสภาฯ ที่ทำได้ดีที่สุดเพื่อประคองรัฐบาลผสม ยามนี้คือการค่อยๆดึงฟืนออกจากไฟ รักษา “อำนาจ” ในมือกันต่อไปให้ยาวนานที่สุด ยื้อกันจนครบเทอม นั่นเอง !