หมายเหตุ : “ศักดา นพสิทธิ์”  อดีตโฆษกพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์รายการ “สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์” สะท้อนบรรยากาศทางการเมืองไทยที่เต็มไปด้วยความเข้มข้น  เมื่อรัฐบาล ,พรรคเพื่อไทย และ “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี กำลังรับมือกับแนวรบหลายด้านในคราวเดียวกัน ทั้งต่อเสถียรภาพรัฐบาลผสม ตลอดจนประเด็นที่มีความเปราะบาง กรณีพื้นที่ทับซ้อน ที่ “เกาะกูด”   จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่ รายการออกอากาศผ่านช่องยูทูบ Siamrathonline เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2567

-วันนี้เสถียรภาพรัฐบาล “แพทองธาร 1” เป็นอย่างไรบ้าง เพราะมีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเหมือนพรรคเพื่อไทย ถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาล

หากจะใช้คำว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ในวงล้อม คงไม่ใช่ทั้งหมด เราต้องยอมรับความจริงว่าวันนี้พรรคเพื่อไทย มีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ด้วยสมการตัวเลขจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา  พรรคเพื่อไทยได้ 141 เสียง พรรคภูมิใจไทยได้ 71 เสียง มีพรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา เข้ามาร่วมรัฐบาล  ฉะนั้นวันนี้ด้วยความที่เป็นรัฐบาลผสม มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ มีคุณแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกฯ จึงพูดไม่ได้ถนัดว่าพรรคเพื่อไทยอยู่ในวงล้อม

แต่สำหรับสถานการณ์การเมือง ที่เหมือนกับว่า มีความร้อนอยู่ เพราะมาจากกระแสภายนอกที่มีการเร่งเร้าจนทำให้เกิดตื่นเต้นในทางการเมือง จะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่ ผมมองว่าสมการตรงนี้ไม่ได้ทำให้พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลหวั่นไหว หรือเป็นไปตามความต้องการของบางฝ่ายที่หวังจะล้มรัฐบาล

แต่มีประเด็นที่น่าสังเกตอยู่ 2ประการ คือ นโยบายของพรรคเพื่อไทย ในการที่จะทำอะไรก็ตาม มักจะถูกขัดขาถูกท้วงติงในสภาฯ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายคาสิโน เรื่องกัญชา  หรือการขุดปิโตรเลียมที่เกาะกูดก็ดี  ดูเหมือนจะไม่สะดวก ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เนื่องจากสมการตัวเลขในสภาฯ มีไม่เด็ดขาด ไม่เหมือนที่เคยผ่านมา 20ปีที่แล้ว ฉะนั้นรัฐบาลจึงจะต้องออมชอม

ส่วนประเด็นที่ 2 ที่ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกันมากว่าแล้วรัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่  เนื่องจากมีคำร้องอยู่หลายเรื่องมาก และวันนี้คณะกรรมการก.ก.ต.ก็ได้รับลูกเข้าสู่กระบวนการ  ทั้งนี้การที่กกต.รับเรื่อง ในฐานะที่เป็นหน่วยงานอิสระ และทำหน้าที่ในการตรวจสอบผู้ดำรงจตำแหน่งทางการเมือง  หากมีการมาร้องว่ามีการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือกฎหมายพรรคการเมือง กระบวนการนี้ต้องเข้าไปสู่การสอบ แต่การสืบสวนข้อเท็จจริง ตามคำร้อง 4ฉบับที่กกต.รวมเข้าไว้เป็นเรื่องเดียวกัน  ซึ่งจะไปเข้าตามมาตรา 92 เมื่อนายทะเบียนพรรคการเมือง รับร้องเรียนแล้ว จึงมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 30วัน  หากไม่แล้วเสร็จ ก็สามารถขยายเวลาออกไปได้อีก ครั้งละ 30 วัน จนกว่าจะแล้วเสร็จ

ฉะนั้นในกระบวนการของคำร้อง จึงไม่น่าหวั่นไหว เนื่องจากยังมีกรอบระยะเวลาที่ทำให้มีเวลาในการตัดสินใจ ฉะนั้นในเวลาอันสั้นนี้กว่าที่กกต.จะทำหน้าที่รับเรื่องและสอบสวน นั้นจะต้องเข้าไปสู่กกต.ใหญ่อีกครั้ง และกว่าที่กกต.ใหญ่จะมีความเห็นเป็นมติ วินิจฉัยชี้ขาดซึ่งคำร้องอาจจะตกในชั้นนี้ก็ได้ หรือกกต.อาจจะส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ก็กินเวลาข้ามไปถึงปีหน้า

ฉะนั้นกระบวนการในการตัดสินใจในเรื่องทางการเมือง จึงยังมีเวลา ผมยืนยันได้เลยว่าจากกระบวนการดังกล่าวต้องเวลาไม่ต่ำกว่ากลางปีหน้า 2568 เท่ากับว่า ในเรื่องที่หลายคนหวั่นไหว รัฐบาลยังมีเวลาตัดสินใจได้ถึงกลางปีหน้า  ส่วนจะตัดสินใจอย่างไรก็ต้องไปว่ากันตามหน้าเสื่อ ตามสถานการณ์

- หากรัฐบาลมีเวลาไปถึงกลางปีหน้า น่าจะทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาล พอจะมีผลงานที่สามารถนำเสนอกับประชาชนได้หรือไม่ หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น วันนี้มีคำถามว่า การตัดสินใจยุบสภา กับการถูกยุบพรรค อะไรจะเกิดก่อนกัน และทางไหนจะกลายเป็นทางตันทางการเมือง

ด้วยความที่มีกรอบเวลาไปถึงกลางปีหน้าที่จะได้เห็นร่องรอยของการวินิจฉัยคำร้องจากองค์กรอิสระ การไต่สวนของกกต.ขึ้นสู่ศาล เชื่อว่าการมีกระบวนการอีก 3ขั้นตอน คือ 1.คณะกรรมการที่นายทะเบียนพรรคการเมืองตั้งขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริงเมื่อพบว่ามีมูล จึงส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กว่าจะไปถึงศาล ยังมีเวลาที่จะให้แกนนำรัฐบาลหรือพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันได้มีเวลาตัดสินใจ คือจะสามารถทำผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ได้ หรือ อาจจะมีการคิดร่วมกันว่า หากนายกฯแพทองธาร ถูกศาลตัดสินแล้ว พร้อมที่จะมีการเปลี่ยนตัวนายกฯหรือไม่  และหากไปสู่แนวทางนั้น พรรคเพื่อไทยก็จะมี 2แนวทางให้เลือก คือ อาจจะตัดสินใจยุบสภาก็ได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีพรรคร่วมฯ

หรือในการตัดสินใจยุบสภาแล้ว เชื่อว่าจะได้กลับมาหรือไม่ ซึ่งต้องตัดสินใจกันอีกที และหากไปสู่สถานการณ์ที่จะต้องเปลี่ยนตัวนายกฯ โดยไม่ตัดสินใจยุบสภา จะเปลี่ยนใครขึ้นมาเป็นนายกฯแนวโน้มก็อาจจะเป็นพรรคภูมิใจไทย แต่ถามว่าพรรคนี้มีความพร้อมที่จะเป็นนายกฯหรือไม่ ผมเชื่อว่าถ้าเป็นคุณอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ก็ต้องมีเรื่องเขากระโดงรออยู่เหมือนกัน หรือเรื่องการรับมอบรัฐสภา ที่ยังมีเรื่องร้องเรียนกันอยู่ เผือกร้อนก็จะไปตกอยู่กับพรรคภูมิใจไทย  ฉะนั้นไม่ว่าซินาริโอ ตัวนี้จะออกไปในแนวทางใดมันมีได้ มีเสียทั้งสิ้น

ต้องขอบอกว่าสถานการณ์ในบ้านเมืองเวลานี้มันไม่ปกติ จนทำให้รัฐบาลไม่สามารถ เดินหน้าได้ เพราะตัวเลขของการเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลมีไม่เบ็ดเสร็จ จนสามารถที่จะตัดสินใจโดยลำพังได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหารือ จึงทำให้ถูกมองว่าโดนบีบ แต่จริงๆแล้วมองว่าไม่ใช่การถูกบีบ แต่เป็นเรื่องที่จะต้องพูดคุยและหาทางร่วมกัน เพื่อแก้ไขจากปัจจัยที่มาจากฝ่ายต้องการจะล้มรัฐบาลอยู่ตลอด

ประเด็นมันมีอยู่ว่าหากมีการยุบสภา แล้วเลือกตั้งใหม่  ถามว่าฝ่ายอำนาจเดิมจะหวั่นไหวหรือไม่ ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และรวมไทยสร้างชาติ คะแนนเสียงจะได้กลับมาเป็นกอบเป็นกำ และมากกว่านี้ ถ้าเกิดพรรคสีส้ม พรรคประชาชน สามารถได้สส.เข้าสภา มาจำนวนมาก สมการตัวเลขก็จะเปลี่ยนกันอีก

ฉะนั้นอย่าว่าแต่ฝ่ายการเมืองเลย  ฝ่ายอำนาจเก่าก็ต้องดูสถานการณ์เหมือนกัน จะดูถูกกันไม่ได้เพราะ มีสมการคือพี่น้องประชาชน ที่เขาอาจจะไม่เอาอำนาจเก่าแล้ว และไม่เอารัฐบาลที่มีอยู่เดิมเวลานี้ จนกว่าเวลาที่มีอยู่อีก 6เดือนขึ้นไป รัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาล จะสามารถสร้างผลงานจนที่ประจักษ์ จนมีการยอมรับได้กลับมาอีกครั้ง

-หมายความว่าสูตรรัฐบาลใหม่ อาจจะเกิดขึ้น คือการเปลี่ยนแค่ตัวนายกฯ ส่วนพรรคร่วมรัฐบาลเดิมก็ยังเกาะกลุ่มกันเหมือนเดิมต่อไป แต่ไม่ง่ายที่จะหาตัวนายกฯคนใหม่  ซึ่งการตัดสินใจ ทั้งหลายทั้งปวง อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง แต่ยังมีอำนาจที่มีอิทธิพล นอกรัฐบาลนี้อีก

อำนาจเก่าที่ไม่ได้เป็นรัฐบาลอยู่ในเวลานี้ ยังมีส่วนในการส่งเสริม สนับสนุน เสนอแนวทางให้กับพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ ผมเชื่อว่าพรรคภูมิใจไทยก็ได้รับสัญญาณระดับหนึ่ง พรรครวมไทยสร้างชาติก็ได้รับสัญญาณอีกระดับหนึ่ง  แม้เราเคยเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะมีภารกิจในทางการเมืองที่จะกีดกันไม่ให้ “ฝ่ายก้าวหน้า” ชนะการเลือกตั้งมาได้มากขนาดนี้

แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อสงสัย ว่าทำไม จึงมีนักร้องไปร้องพรรคเพื่อไทย มากมาย เหมือนไม่รู้ว่าพรรคเพื่อไทยกำลังทำภารกิจบางอย่างอยู่ จุดนี่เราจึงไม่รู้ว่า ใครหลอกใคร หรือทำให้สถานการณ์ทางการเมืองวันนี้มันขุ่นมัวไปเรื่อยๆ

-ประเด็นเรื่องเกาะกูดที่กำลังจะกลายเป็นปัญหาลุกลาม กระทบรัฐบาล

ต่อประเด็นเรื่องเกาะกูดนั้นต้องยอมรับความจริง2เรื่อง คือ 1 เกาะกูดนั้นได้มีข้อสรุปยุติสมัยที่ฝรั่งเศส ยกเอกราชนี้ให้กัมพูชาไปแล้ว ในอนุสัญญาตรงนั้นระบุเอาไว้ชัดเจนว่ากัมพูชาจะได้พื้นที่บนบก ส่วนเกาะทั้งหลาย รวมทั้งเกาะกูดที่เป็นส่วนหนึ่งของจังหวัดตราด ประเทศไทย ให้เป็นของสยาม เมื่อ160 กว่าปีที่แล้ว ชัดเจน ฉะนั้นเกาะกูดนั้นสามารถยืนยันได้ตามอนุสัญญาเจนีวา ว่าเป็นของประเทศไทย

แต่เมื่อเกาะกูดเป็นของประเทศไทย แล้วมีสถานการณ์ที่นายกฯทักษิณ อยากจะเอาปิโตรเลียมใต้เกาะกูด มาใช้ ข้อเท็จจริงมีเพิ่มขึ้นมาว่ากฎหมายทะเลมีแนวอาณาเขตจากเกาะห่างออกไปถึง 200 ไมล์ทะเลด้วย ถ้าใครลากเส้นจากเขตแนวทะเลออกไปแล้ว 200 ไมล์ทะเล  ก็จะทำให้ตรงนั้นมีอำนาจเหนือ เพราะเป็นไหล่ทวีปตามกฎหมายทะเล ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

ดังนั้นเกาะกูด กับกัมพูชาติดกัน เมื่อลากเขต 200 ไมล์ทะเลออกไป จึงมีความทับซ้อน และการทับซ้อนนี้จึงเป็นที่มา ที่อดีตนายกฯทักษิณ ได้พูดคุยกับผู้นำกัมพูชา ในขณะนั้นเมื่อปี 2544 ตกลงกันว่า ในเขตทับซ้อน ทั้งไทยและกัมพูชา ไปขดปิโตรเลียม และเอามาแบ่งปันผลประโยชน์กันตามสัดส่วนที่ดูว่าฝ่ายใดมีพื้นที่ทับซ้อนมาก ก็ได้มาก จะเอาหรือไม่ อย่างไร นี่เป็นข้อตกลงเอ็มโอยู 2544 

แต่ประเด็นยังมีความหลากหลาย ว่าเราจะเสียดินแดนหรือไม่  ผมยืนยันได้เลยว่าข้อยุติ ไม่มีทางเสียดินแดน เพราะสิ่งที่เขาพูดกันคือเรื่องของการแบ่งปันทรัพยากรที่อยู่ใต้ทะเล ส่วนพื้นที่ดินบนบกมันได้ข้อยุติไปแล้ว อยู่คงที่  ประเทศไทยไม่สามารถเสียเกาะกูด 

แต่อาจจะเป็นเรื่องของความบกพร่องว่า นโยบายที่พรรคเพื่อไทยอยากทำ เพราะเป็นเรือธง เรื่องการขุดปิโตรเลียมใต้ทะเลขาดการสื่อสารกับประชาชนเท่าที่ควร ขณะเดียวกันในสถานการณ์นี้มีคนจ้องจะล้มรัฐบาล ดังนั้นเมื่อรัฐบาลมีนโยบายเหล่านี้เกิดขึ้นมา  ก็มีคนบอกว่า รัฐบาลจะทุจริต จะหาผลประโยชน์มาแบ่งปันเข้ากระเป๋าตัวเองและมาเอาเป็นข้ออ้างว่าไทยแบ่งกับกัมพูชา  จุดนี้ จะต้องทำความเข้าใจก่อน หากยังทำความเข้าใจไม่ดีพอ จนสามารถเบี่ยงเบนประเด็น ทำให้ประชาชนสับสน จะทำให้เกิดความเสียหาย

โดยส่วนตัวผมมองว่ารัฐบาลควรชะลอนโยบายนี้เอาไว้ก่อน จนกว่า จะทำความเข้าใจกับประชาชนว่า เป็นการแบ่งปันทรัพยากรใต้ทะเลตามหลักกฎหมายสากล ในการแบ่งผลประโยชน์ทับซ้อนใต้พื้นทะเลไม่ได้ทำให้เสียดินแดน

-โอกาสที่เรื่องนี้จะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวได้หรือไม่

มีโอกาสเป็นไปได้ เนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยความรวดเร็ว  ทำให้ขาดตัวนักการเมืองที่จะทำหน้าที่สื่อสารอย่างมีข้อมูล และมีท่วงทำนองที่จะทำให้เกิดความเข้าใจได้ เรื่องนี้จะให้คุณภูมิธรรม มาพูดคนเดียว คงเป็นไปไม่ได้ เพราะท่านไม่ได้รู้ทุกเรื่อง ดังนั้นต้องเอาอดีตรมว.ต่างประเทศ ของพรรคเพื่อไทย อย่างคุณนพดล ปัทมะ ก็สื่อสารได้ แต่ขณะเดียวกัน แม้จะสื่อสารในความเป็นจริง ก็จะมีปัญหาอีกว่าคนจะเชื่อหรือไม่ หรือรมว.ต่างประเทศ คนปัจจุบันท่านก็สื่อสารได้

เรื่องเอ็มโอยู 44 เป็นความริเริ่มสมัยคุณสุรเกียรติ์ เสถียรไทย  เป็นรมว.ต่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องหาคนที่ทำความเข้าใจให้ตรงกันและถูกต้อง  ต้องเอาคนที่รู้จริงมาพูด และคนๆนั้นต้องเป็นคนที่พูดแล้วมีคนเชื่อถือด้วย

-เราเห็นบทบาทของคุณทักษิณ ที่ลดน้อยลง แต่ขณะเดียวกันพบว่าแรงกดดันทางการเมืองที่มากขึ้น ซึ่งมาจากหลากหลายทุกแนวรบ แต่ประเมินได้หรือไม่ว่า คุณทักษิณ ยังมีไพ่ หรือมีเครื่องมืออื่นๆอีก เพื่อให้เดินหน้าได้ต่อ  คุณทักษิณ วันนี้จนบนกระดานแล้วหรือไม่

ผมตอบได้เลยว่า คุณทักษิณยังไม่จนบนกระดาน คุณทักษิณ เป็นคนเก่งมีความสามารถ แต่การที่ไม่ออกมาเปิดเผยตัวตน แสดงความเห็นต่อสาธารณะ ในช่วงนี้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และเหมาะสมเพราะเป้าหมาย หากในทางการเมืองแล้ว ถ้าสามารถกำจัดคุณทักษิณ ลงได้ รัฐบาลก็อยู่ไม่ได้

ฉะนั้นบุคคลที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองของประเทศไทย ณ วันนี้  มันสมองของรัฐบาลขณะนี้ ผมเชื่อว่าเป็นอดีตนายกฯทักษิณ ฉะนั้นการที่ท่านเก็บตัวแล้วทำบทบาทในฐานะเสนาธิการ  เป็นกุนซือประคับประคองรัฐบาลนี้ให้อยู่ยาวนานที่สุด ถ้าอยู่จนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้าได้ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุด

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าการที่ท่านไม่มานำเสนอแนวคิดเหมือนช่วงก่อนวันที่ 22 ส.ค.2566 เป็นสิ่งที่ถูกต้องในทางยุทธศาสตร์ทางการเมือง ไม่ใช่เป็นการจนแต้ม จนกระดาน แต่เป็นยุทธศาสตร์หนึ่งที่ทำให้รัฐบาลนี้อยู่ได้ยาว