เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 8 พ.ย. 67 ที่สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ถนนวิภาวดีรังสิต น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กดดันให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ MOU44 โดยเห็นว่ายังมีปัญหาทางกฎหมาย และยังไม่ได้ผ่านรัฐสภาว่า ในเรื่องของตัวกฎหมาย ยังไม่เข้าสภาก็จริง แต่เรายึดหลักนี้อยู่ เพราะเป็นหลักเปิดเสรีในการเจรจา ฉะนั้นการเจรจาทั้งกัมพูชาและเราตกลงร่วมกันเพื่อจะเจรจา ส่วนเรื่องฟ้องหรือไม่ฟ้อง ขออธิบายว่า เรื่องไม่ฟ้องเกิดขึ้นได้ ถ้ามีการยกเลิกฝ่ายเดียว
น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ฉะนั้นการที่เราคุยกันระหว่างประเทศนั้นสำคัญ ถ้าสมมติว่าจะยกเลิก ก็ต้องดูว่าจะยกเลิกเพื่ออะไร และถ้ายกเลิกแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะเป็นอย่างไร นี่คือสิ่งที่พวกเราต้องคิดในเรื่องนี้ ถ้ายกเลิกเรื่องนี้มีผลอย่างไรระหว่างประเทศ ลองคิดในกรอบง่ายๆ ถ้าสมมติว่าเราเป็นเพื่อนกัน ถ้าจะยกเลิกบางอย่างที่เราแชร์ร่วมกัน เราก็ต้องตกลงกัน มันทำได้ แต่ไม่ควรไปยกเลิกฝ่ายเดียว เพราะจะเกิดปัญหาระหว่างประเทศ ฉะนั้นจะต้องมีการคุยกันก่อน ซึ่งต้องขอเวลาเล็กน้อยที่จะคุยกัน
นายกฯ กล่าวว่า จริงๆแล้วไม่ได้มีปัญหาอะไรในเรื่องของรายละเอียดต่างๆ และตนได้มีโอกาสเจอกับผู้นำกัมพูชาในช่วงที่ไปประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) ซึ่งก็ไม่มีอะไรเลย ท่านยังพูดว่ามีอะไรให้ทางกัมพูชาซัพพอร์ตประเทศไทยไหมให้บอกกันมา เป็นเรื่องที่เราต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจว่า เรายังไม่ได้เสียเปรียบอะไร ตรงนี้คือสิ่งที่ต้องขอเน้นย้ำ ซึ่งการขีดเส้นของทั้งสองประเทศไม่เหมือนกันจึงต้องเกิด MOU44 ขึ้น เพื่อเป็นการหารือให้เข้าใจกันในความที่ไม่เหมือนกัน อันนี้คือสิ่งที่เราต้องทำต่อ
นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ขั้นตอนของรัฐบาล คาดว่าหลังกลับจากการไปประชุมเอเปกในวันที่ 18 พ.ย. การตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิค (JTC) ก็น่าจะสำเร็จเรียบร้อย ซึ่งอันนี้ได้บอกกับทางกัมพูชาแล้วว่า การตั้งคณะกรรมการดังกล่าว น่าจะเสร็จสิ้นประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งก็โอเค เดี๋ยวจะคุยทุกอย่างร่วมกันผ่านคณะกรรมการนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า MOU44 ยังไม่สมบูรณ์มีข้อเรียกร้องให้ยกเลิก ตรงนี้คณะกรรมการฯจะนำมาหารือด้วยหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า MOU44 เป็นข้อที่ได้พูดคุยเพื่อให้พูดคุยกันในเรื่องการขยายไหล่ทวีป เป็นข้อตกลงกันแต่ไม่จำเป็นต้องเข้าสภา อันนี้สมบูรณ์โดยตัวของมันอยู่แล้ว แต่ถ้าหลังจากตกลงอะไรกันเรียบร้อยแล้ว หากมีอะไรที่เป็นสนธิสัญญาก็จะต้องเข้ารัฐสภาอีกครั้ง แต่ตรงนี้ถือว่าสมบูรณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว เป็นข้อตกลงร่วมกัน
เมื่อถามว่าแม้จะเป็นข้อตกลงแต่เป็นเรื่องของเขตแดนก็จำเป็นต้องเข้าสภาก่อนหรือไม่ นายภูมิธรรม กล่าวว่า เขาประกาศเขตแดนเขาปี 2515 ขณะที่เราประกาศในปี 2516 ฉะนั้นต่างฝ่ายต่างมีเส้นอยู่ MOU 44 จึงให้มาตกลงกันว่า เส้นตรงนี้จะอยู่ที่ตรงไหน ยังไม่จบในเรื่องของอธิปไตย
น.ส.แพทองธาร อธิบายเพิ่มเติมว่า MOU44 นี้ ไม่ได้บอกหรือเป็นตัวชี้ว่าของฉันหรือของเธอ แต่เป็น MOU จากการที่ของฉันและของเธอไม่เหมือนกัน เราต้องคุยกัน ดังนั้นไม่จำเป็นต้องเข้าสภา เป็นการตกลงระหว่างสองประเทศเรียบร้อยแล้ว เข้าใจตรงกัน แต่ถ้าหากมีข้อตกลงเพิ่มเติม ก็ต้องคุยผ่านคณะกรรมการอย่างเป็นกิจจะ ขีดเส้นอะไรเรียบร้อยแล้วค่อยเข้าสภา
เมื่อถามว่า จะเป็นอุปสรรคอะไรหรือไม่ ในเมื่อประเทศไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 หรือ United Nations Convention on the Law Of the Sea (UNCLOS) แต่กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ไม่เข้าร่วม จะเป็นปัญหาตามมาหรือเปล่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า สนธิสัญญาที่เจนีวา ประกาศกฎหมายทางทะเลไม่ว่าคุณจะเข้าหรือไม่เข้าก็ตาม คุณก็ต้องยอมรับอนุสัญญานี้ ฉะนั้น ในการเจรจาทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบนี้ เพราะกรอบนี้เป็นกรอบที่คุมทั่วโลกทุกประเทศ
ฉะนั้นไม่มีปัญหาในเรื่องนี้เลยใน MOU พูดชัดเจน และแสดงออกชัดเจนว่าเป็นอนุสนธิสัญญา เป็นข้อตกลงร่วมกันของสองฝ่าย เพื่อเจรจาเรื่องเขตแดน วัตถุประสงค์เป้าหมายมีแค่นี้เอง และหลังจากคุยกันแล้ว ได้ผลอะไรก็มาว่ากันอีกที จึงรีบตั้งคณะกรรมการของเรา เพราะทางกัมพูชาเขามีอยู่แล้ว เมื่อตั้งเรียบร้อยแล้วก็จะเร่งเจรจา ซึ่งเป็นส่วนที่ผูกพันกันสองส่วน เรื่องผลประโยชน์ทางทะเลและเขตแดนที่ชัดเจน
เมื่อถามว่า เข้าใจความตั้งใจของรัฐบาล แต่ในเมื่อมีปัญหาความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน จะต้องชะลอหรือหยุด MOU 44 ไว้ก่อนหรือไม่ ให้เกิดความชัดเจนก่อนเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ นายกฯ กล่าวว่า “เราชะลอได้เลย แต่สิ่งที่เราต้องมีคือคณะกรรมการ เพราะฉะนั้นก็ไม่ทราบว่ากัมพูชาจะต้องคุยกับใครอย่างไร มันก็จะไม่เป็นหลักฐานในการคุย การตั้งคณะกรรมการนั้นสำคัญ อันนี้คือสิ่งที่ต้องเร่งเรื่องเดียว
ส่วนเนื้อหาข้างในไม่ต้องเร่ง ไม่จำเป็น ดีแล้วที่สื่อมวลชนถามเรื่องนี้ จริงๆแล้วได้คุยกับกัมพูชา ทางนั้นพูดเหมือนกันว่าจริงๆแล้วไม่มีอะไรเลย แต่ต้องอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ หากเราตั้งคณะกรรมการเสร็จ ซึ่งรัฐบาลเร่งอยู่แล้ว ถ้าตั้งเสร็จก็จะง่ายขึ้น ทุกอย่างจะถูกตรวจสอบ และมีการพูดคุยกันสองประเทศเกิดความแฟร์ และความเข้าใจขึ้น และข้อมูลที่ประชาชนอยากได้ ก็จะครบถ้วนมากยิ่งขึ้น จึงต้องคุยกันทั้งสองฝ่าย คณะกรรมการจึงจำเป็น"
เมื่อถามว่า ล่าสุดทางกองทัพเรือได้เผยแพร่คลิปผ่านโซเชียล ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย ตรงกับที่นายกฯแถลงก่อนหน้านี้ แต่ พื้นที่โดยรอบ 200 ไมล์ทะเล ต้องเป็นของประเทศไทยด้วยตามกฎหมาย UNCLOS นายกฯ กล่าวว่า ไม่ใช่ปัญหา เดี๋ยวจะให้เลขาฯส่งแผนที่ให้เห็นว่าเขาแบ่งกันอย่างไร จะได้เห็นว่าเส้นปี 2515 ที่กัมพูชาขีด และ 2516 ที่เราขีดไม่เหมือนกัน แต่ที่ทางกัมพูชาขีดเขาได้เว้นอ้อมเกาะกูดของเราชัดเจน ฉะนั้นทางเขาไม่มีปัญหา และการที่ไปพูดคุยกันเขาก็พูดเรื่องเดียวว่าคณะกรรมการจะเสร็จเมื่อไหร่ จึงบอกไปว่ากลางเดือน พ.ย. ฉะนั้นเรื่องเกาะกูดไม่มีปัญหาแน่นอน เขาขีดเส้นข้ามไปเลย เขาก็ไม่ได้อยากจะเป็นปัญหาเหมือนกัน
เมื่อถามย้ำว่า ยืนยันว่าการเจรจาผลประโยชน์ใต้ทะเลจะต้องชะลอไปก่อนหรือไม่ เพื่อรอให้เกิดความชัดเจน นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ต้องชัดเจนก่อน เพื่อไม่ให้มีปัญหา