เงินเข้าบัญชีแล้ว 3 กลุ่มเปราะบางเดือนพฤศจิกายน เด็กแรกเกิด-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการ งวดนี้ได้กี่บาท

เมื่อวันที่ 8 พ.ย.67 จากกรณีมาตรการเยียวยากลุ่มเปราะบาง 3 กลุ่มได้แก่ เด็กแรกเกิด,ผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยจะโอนเงินทุกวันที่ 10 ของเดือน แต่หากตรงกับวันหยุด หรือวันเสาร์-อาทิตย์ จะทำการโอนให้ล่วงหน้าก่อนจะโอนให้ก่อนในวันเวลาราชการ ซึ่งในงวดเดือนพฤศจิกายน 2567 จะได้รับโอนเงินในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน 2567 โดยเด็กเล็กจะได้รับเงินอุดหนุนบุตร 600 บาทต่อเดือน ผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 -1000 บาท ขณะที่ผู้พิการได้รับเบี้ยความพิการ 800 -1000 บาท  

 

กลุ่มที่ 1 เงินอุดหนุนบุตร เด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบได้รับเงินโอนเข้าบัญชี 600 บาท

เงินอุดหนุนบุตร หรือเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาท เดือนพฤศจิกายน 2567 กรมบัญชีกลางจะโอนเงินอุดหนุนบุตรเข้าบัญชีผู้มีสิทธิในวันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน ยึดหลักเกณฑ์จ่ายเงินเข้าบัญชีทุกวันที่ 10 ของเดือน และหากตรงกับวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดราชการจะจ่ายเงินเด็กแรกเกิดเข้าบัญชีล่วงหน้าก่อนวันหยุด

 

ข้อแนะนำการรับ เงินอุดหนุนบุตรเดือนพฤศจิกายน

-หมั่นตรวจสอบข้อมูลของท่านในระบบตรวจสอบสิทธิเป็นประจำ
-หากมีการเปลี่ยนแปลง ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของท่าน ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้แก้ไขข้อมูลของท่านให้เป็นปัจจุบัน (เพื่อการติดตามของเจ้าหน้าที่จะได้รวดเร็ว)
-หมั่นตรวจสอบบัญชีธนาคารที่ใช้รับเงินอุดหนุนของท่านว่าใช้งานได้หรือไม่

ตรวจสอบเงินอุดหนุนบุตรได้ 3 ช่องทาง 

-เว็บไซต์ กรมกิจการเด็กและเยาวชน 
-แอปพลิเคชัน "ทางรัฐ" 
-แอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" 

สำหรับผู้ปกครองที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนขอรับเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด และเด็กมีสัญชาติไทย พ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถยื่นคำร้องในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิดและผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง (ไม่จำเป็นต้องเป็นที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน) ดังนี้

-กรุงเทพมหานคร ลงทะเบียนได้ที่สำนักงานเขต

-เมืองพัทยา ลงทะเบียนได้ที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

-ส่วนภูมิภาค ลงทะเบียนได้ที่องค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล

-ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน "เงินเด็ก" ทั้งนี้ผู้ปกครองต้องพิสูจน์และยืนยันตัวตนผ่าน แอปพลิเคชัน ThaiD ของกรมการปกครองก่อน เมื่อตรวจสอบสิทธิผ่านแล้ว จะได้รับเงินมีผล ตั้งแต่เดือนที่ลงทะเบียนรับเงิน

ทั้งนี้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน โทร 08-2091-7245,08-2037-9767,08-3431-3533,06-5731-3199 หรือศูนย์ช่วยเหลือสังคม สายด่วน 1300 ตลอด 24 ชั่วโมง

 

กลุ่มที่ 2 เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600-1,000 บาท ตามเกณฑ์อายุ

-อายุ 60-69 ปี ได้รับ 600 บาทต่อเดือน

-อายุ 70-79 ปี ได้รับ 700 บาทต่อเดือน

-อายุ 80-89 ปี ได้รับ 800 บาทต่อเดือน

-อายุ 90 ปี ขึ้นไปได้รับ 1,000 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้หลังจากกระทรวงมหาดไทยมีการปรับเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่ 12 ส.ค.66 จากเดิมการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจะไม่มีการปรับเบี้ยระหว่างปีงบประมาณ แต่ระเบียบใหม่ล่าสุดกำหนดให้ปรับอัตราจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุแบบขั้นบันได ตามมติคณะรัฐมนตรี ณ เดือนที่ผู้สูงอายุมีอายุครบช่วงอายุในเดือนถัดไปเช่น ในระหว่างปีงบประมาณ ผู้สูงอายุมีอายุครบ 70,80 หรือ 90 ปี ในเดือนถัดไปก็จะได้รับการปรับค่าเบี้ยขึ้นทันทีตามขั้นบันได เช่น อายุครบ 70 ปี เดือน ต.ค.67 ในเดือน พ.ย.67 จะได้ปรับเป็น 700 บาททันที ไม่ต้องรอปีงบประมาณใหม่ ส่วนผู้สูงอายุคนใดที่เกิดวันที่ 1 ในเดือนที่ครบอายุจะได้รับในเดือนนั้นทันที

คุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเงินเบี้ยยังชีพ 

1.มีสัญชาติไทย
2.มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3.มีอายุหกสิบปีบริบูรณ์ขึ้นไป ซึ่งได้ยืนยันสิทธิขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุ แห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด

ขั้นตอนการลงทะเบียนรับสิทธิ

ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 59 ปีบริบูรณ์สามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.ของปีนั้น และเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ในปีถัดไป ก็จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่เดือน ต.ค.ในปีนั้นๆ โดยสามารถไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพด้วยตัวเอง ได้ตั้งแต่วันที่ 1-30 พ.ย.ของทุกปี ทั้งนี้ผู้สูงอายุสามารถลงทะเบียนล่วงหน้าได้ตั้งแต่เดือน ต.ค.ของทุกปีเป็นต้นไป โดยจะต้องเป็นผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 2 ก.ย.-1 ต.ค.ของปีนั้นๆจึงจะลงทะเบียนล่วงหน้าได้

หลักฐานการลงทะเบียนรับสิทธิ

1.กรณีลงทะเบียนด้วยตนเอง

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน จำนวน 1 ชุด

สำเนาทะเบียนบ้าน จำนวน 1 ชุด

สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก (ออมทรัพย์) จำนวน 1 ชุด

 

2.กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถไปลงทะเบียนได้ด้วยตัวเอง ต้องเตรียมเอกสารเพิ่มคือ

หนังสือมอบอำนาจ (ยื่นแบบฟอร์มให้ติดต่อเจ้าหน้าที่โดยตรง)

สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด

สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ จำนวน 1 ชุด

สถานที่ในการขึ้นทะเบียน 

-จุดบริการ ใน กทม. สำนักงานเขต 50 เขต

-กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

-อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) หรือเทศบาลที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน

สำหรับการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น ผู้สูงอายุสามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเอง หรือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทน

 

กลุ่มที่ 3 เบี้ยผู้พิการ 800-1,000 บาท ตามเกณฑ์อายุ

-ผู้พิการที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะได้รับเงิน 1,000 บาทต่อเดือน

-ผู้พิการที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จะได้รับเงิน 800 บาทต่อเดือน

โดยผู้ที่ต้องการลงทะเบียนรับเบี้ยผู้พิการ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เลขที่ 255 อาคาร 60 ปี กรมประชาสงเคราะห์ ถนนราชวิถี เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ติดต่อ 1479 หรือ โทร. 0-2354-3388 ต่อ 311 หรือ 313

#กลุ่มเปราะบาง #เงินเข้าบัญชี #ผู้พิการ #เบี้ยคนชรา #เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ #เงินอุดหนุนบุตร #เบี้ยผู้สูงอายุ #ข่าววันนี้ #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์