สำหรับ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท.  ได้ประกาศความสำเร็จในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในปีที่ผ่านมา ด้วยผลงานทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมปักหมุด ปีงบ 2568 เดินหน้าพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบตามเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก เพื่อเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ตั้งเป้า 20 ชุมชน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3

สร้างผลงานทั้งในและต่างประเทศ

โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2567  ได้ขับเคลื่อนโครงการภายใต้แผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของพื้นที่พิเศษ 6 แห่ง ร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่ 12 หน่วยงาน ได้กว่า 54 โครงการใช้งบประมาณดำเนินโครงการกว่า 160.73 ล้านบาท  และขณะนี้อยู่ระหว่างการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ อพท.ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อพท.เชียงราย และ อพท. คุ้งบางกะเจ้า เสนอคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) พิจารณาเห็นชอบต่อไป

ซึ่งในปี 2567 อพท. สามารถผลักดัน 4 แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษได้รับการจัดลำดับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก   ได้แก่ เวียงภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนประเภท Culture & Tradition  เมืองโบราณอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Destination Management  เมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities   และเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน ประเภท Thriving Communities ประเด็นเมื่อคูปองอาหารเช้ากลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจเชียงคาน

พร้อมกันนี้ยังผลักดันให้ พื้นที่เชียงคาน จังหวัดเลย คว้าเหรียญเงินแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก จาก Green Destinations เป็นแห่งแรกในอาเซียน และเป็นแห่งที่ 5 ของเอเชีย (จาก 3 ประเทศ)    และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน   คว้าเหรียญทองแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนโลก Green Destinations Award 2024 เหรียญทองแรกของอาเซียน และเป็นประเทศที่ 3 ของเอเชีย และยังคว้า 2 รางวัล PATA Gold Awards 2024  จากชุมชนเมืองเก่าสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย สาขารางวัลด้านมรดกทางวัฒนธรรมที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือโดยธรรมชาติ   และสาขารางวัลด้านวัฒนธรรมการแสดงท้องถิ่นและทัศนศิลป์ จากชุมชนไตรตรึงษ์ จังหวัดกำแพงเพชร

อีกทั้ง นาวาอากาศเอก อธิคุณ  ยังกล่าวต่อว่า ทาง อพท.ยังได้ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนรวม 10 องค์กรเพื่อให้ อปท.มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ ให้ปฏิบัติตามมาตรฐาน STMS ให้เกิดความยั่งยืนบนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนในท้องถิ่น  

ส่วนในระดับชุมชน อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษตามมาตรฐานการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย (CBT Thailand) โดยในปี 2567 มีชุมชนที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามเกณฑ์และเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวน 20 ชุมชน สร้างรายได้กว่า 112.339 ล้านบาท จาก 45 ชุมชน โดยเมื่อเทียบอัตราการเติบโตของรายได้ปี 2566 จำนวน 62.517 ล้านบาท พบปี 2567 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 79.69

เพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชน

อย่างไรก็ตาม นาวาอากาศเอก อธิคุณ  กล่าวว่า ในปี 2568  ทาง อพท. ยังมุ่งเน้นการทำงานให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น โดยเตรียมพร้อมสานต่อโครงการและทบทวนแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ จำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่พิเศษหมู่เกาะช้าง พัทยา สุโขทัย เลย น่าน และเมืองโบราณอู่ทอง นอกจากนี้ นอกจากนี้ อยู่ระหว่างการผลักดันแผนยุทธศาสตร์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษฯ ใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา เชียงราย และคุ้งบางกะเจ้า เสนอ ท.ท.ช. พิจารณาเห็นชอบ รวมไปถึง     การขับเคลื่อนโครงการสำคัญตามเป้าหมาย (Big Rock) เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์ความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่ อพท. หมู่เกาะช้าง เป็นต้น

นอกจากนี้จะเร่งผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบสมัครเข้ารับรางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลกไม่น้อยกว่า 2 แห่ง รวมไปถึงพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ได้รับการรับรองมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน STMS จำนวน 9 แห่ง และพื้นที่ที่มีผลการประเมินสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ผ่านตามเกณฑ์ จำนวน 6 แห่ง รวมไปถึงร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายผลักดันเมืองท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและโดดเด่นสู่การเสนอชื่อเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก อาทิ น่าน และสงขลา และพัฒนาชุมชนได้รับการพัฒนาตามมาตรฐาน CBT Thailand 20 ชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 3