ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

“เส้นสาย” คืออัตลักษณ์แห่งสังคมไทย เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูล ส่งเสริมและช่วยเหลือกัน จึงจะมีคุณค่ากว่าเพื่อสร้างอภิสิทธิ์หรือเอาเปรียบคนอื่น

“คาถา” ประจำอาชีพรับราชการของข้าราชการผู้รักความก้าวหน้า คือ “ดวง” ประกอบด้วย “ด = เด็กของใคร, ว = วิ่งเข้าไว้ และ ง = เงินก็ต้องใช้” สำหรับสุปรียาแล้วมองว่าในแต่ละกระทรวงก็จะมีรายละเอียดต่างกัน อย่างที่ในกระทรวงมหาดไทย ตัว “ด” ดูจะมีความสำคัญมากที่สุด เพราะคนที่จะได้ดีจะต้องมี “นาย” ที่ดี ๆ หนุนหลัง หมายถึงนายที่ไม่ทอดทิ้งลูกน้อง นายเติบใหญ่อย่างไรก็ให้เติบใหญ่ติดตามไปด้วย แม้แต่ในตอนที่นายพ้นตำแหน่งหรือเกษียณออกไปแล้ว นายก็ยัง “ฝากฝัง” ให้เราเติบใหญ่ได้ดีต่อไป แน่นอนว่าการ “วิ่ง” คือลมหายใจของข้าราชการที่ต้องการความก้าวหน้าทุกคน จึงต้องหาลู่ทางที่จะ “วิ่ง” ทุกลมหายใจ หลายคนแม้นายจะดีและรู้จักหาเงินให้นาย แต่เผลอลืมวิ่งในตอนที่โอกาสมาถึง ก็อาจจะพลาดหรือ “ปิ๋ว” เสียตำแหน่งดี ๆ นั้นไปได้

พอสุปรียาได้ติดตามนายมาทำหน้าที่ประสานงานที่สำนักเลขานุการคณะรัฐมนตรี ที่นี่ประกอบด้วยข้าราชการเก่ง ๆ จากทุกกระทรวง สุปรียาก็ได้พบว่า “แนวชีวิต” ของข้าราชการในแต่ละกระทรวงนั้นมีความแตกต่างกันไปพอสมควร อย่างบางกระทรวงที่มีหน้าที่หลักในการดูแลการค้า ๆ ขาย ๆ ของประเทศ จะเน้น “ขายข้อมูลด้านกฎระเบียบต่าง ๆ” ให้กับนาย เพราะกระทรวงนี้มีระเบียบข้อบังคับมากมาย ไว้ป้องกันไม่ให้มีการ “ซิกแซก” หรือทำนอกกฎระเบียบ แต่ก็ด้วยกฎระเบียบต่าง ๆ นี่แหละ ทำให้ข้าราชการที่เป็นผู้ “กำหนดและกำกับ” กฎระเบียบเหล่านั้น เอาไว้ “ครอบงำ” รัฐมนตรี ที่รวมถึงหากรัฐมนตรีต้องการจะหาเศษหาเลยจากนโยบายต่าง ๆ ก็ต้อง “ซื้อ” คำแนะนำจากข้าราชการเหล่านี้ ซึ่งราคาแลกเปลี่ยนที่ดีที่สุดก็คือการได้เลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง แต่พอมาถึงยุคระบอบทักษิณ ที่ใช้ระบบการกำกับการทำงานของข้าราชการโดย  “คณะทำงานของรัฐมนตรี” รัฐมนตรีหลาย ๆ กระทรวงก็จะใช้ทีมงานที่เป็น “มือโปร” ทั้งที่เป็นอดีตข้าราชการผู้ใหญ่ กับนักการเมือง “มือฉมัง” ที่ทุก ๆ คนก็รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรในการเข้ามาทำงานตรงนี้ การครอบงำของข้าราชการประจำในกระทรวงก็ถูก “ถ่วงดุล” กันไปโดยปริยาย

บางกระทรวงอย่างกระทรวงที่มีการให้ “สัมปทาน” กันเยอะ ๆ (สุปรียาได้ยินข้าราชการในกระทรวงเหล่านั้นพูดชัด ๆ ว่า “รับประทาน”) รัฐมนตรีที่มาคุมกระทรวงนี้ส่วนใหญ่จะเป็น “บิ๊ก ๆ” ของพรรคการเมืองใหญ่ ๆ แทบทั้งสิ้น พร้อมด้วย “คณะทำงานของรัฐมนตรี” ระดับบิ๊กด้วยเช่นกัน ข้าราชการใหญ่ในกระทรวงจำพวกนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญในการ “ตั้งแท่น” และ “ตั้งโต๊ะ” ให้ท่านรัฐมนตรีได้อิ่มหมีพีมัน “ตั้งแท่น” ก็คือการนำเสนอ “โปรเจกต์” หรือโครงการที่จะก่อสร้างหรือให้สัมปทาน ส่วน “ตั้งโต๊ะ” ก็คือการนำเสนอเอกสารที่มีการขอความอนุเคราะห์ผ่อนปรนต่าง ๆ มาให้ท่านรัฐมนตรีเซ็น เหล่านี้ล้วนแต่เป็น “ขุมเงินขุมทอง” ของท่านรัฐมนตรีทั้งสิ้น (กระทรวงจำพวกนี้มักจะทำมาหากินในระบบ “วัดครึ่งกรรมการครึ่ง” คือฝ่ายการเมืองและข้าราชการแบ่งกันไปฝ่ายละเท่า ๆ กัน แต่ครั้งหนึ่งก็เกิดเรื่อง คือมีข่าวการปล้นบ้านปลัดกระทรวง โจรบอกว่ามีเงินเต็มตู้เสื้อผ้านับร้อย ๆ ล้านบาท ทีมงานรัฐมนตรีมาระบายกับพรรคพวกว่า รัฐมนตรีโมโหมากที่ของแกได้เงินไม่เต็มตู้)

แต่ก็มีกระทรวงหนึ่งที่วางตัวได้อย่างน่านับถือ (เพื่อความเสมอภาคที่ไม่ได้เอ่ยชื่อกระทรวงในแนวอื่น ๆ ผมก็จะไม่ระบุชื่อกระทรวงนี้เช่นเดียวกัน แม้สุปรียาจะพูดชื่อออกมาอย่างชัดเจน) ว่ากันว่าข้าราชการในกระทรวงนี้แต่ก่อนร่อนชะไรมักจะมาจากเชื้อพระวงศ์หรือขุนนางชั้นสูง หรือในยุคต่อมาก็ต้องเป็นพวกที่มี “สกุลรุนช่อง” คือมีแต่คนที่นามสกุลใหญ่ ๆ ดัง ๆ ในทางสังคมทั้งสิ้น คนที่มาเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนี้ถ้าไม่มี “เส้นสาย” เชื่อมโยงไปถึงพวกสกุลใหญ่ ๆ โต ๆ เหล่านี้ก็จะอยู่ในกระทรวงอย่างว้าเหว่ เพราะข้าราชการ “ท่าน” จะไม่ค่อยเข้าหา ด้วยถือว่าพวกนักการเมืองนี้เป็น “ชนชั้นต่ำ” กว่าพวกเขา ทว่าภายหลังที่เกิดระบอบทักษิณ กระทรวงนี้ได้ถูกพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำส่งคนระดับ “ไม่อายฟ้าดิน” เข้ามาบังคับบัญชา ข้าราชการหลายคนจึงต้องปรับตัว และ “ลงมาเล่นกับลูกชาวบ้าน” มากขึ้น

ข้าราชการอีกพวกหนึ่งที่สุปรียาได้เข้าไปทำงานด้วยอย่างใกล้ชิดก็คือ “ทหาร” ตอนนั้นเป็นยุคที่ทหารยึดอำนาจได้อีกครั้ง แรก ๆ ก็ดูเหมือนจะยึดครองอยู่ไม่นาน (ถ้าใครจำเพลงประจำรัฐบาลชุดนี้ได้ ก็คือเพลงที่มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งบอกว่า “ขอเวลาอีกไม่นาน...” ก็คงจะเชื่อเหมือนกับสุปรียาในแนวนี้ด้วย) แต่พอมีการล้มร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมการร่างชุดที่มีอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ทิ้งไป หลาย ๆ คนก็เริ่มร้อง “เอ๊ะ” เหมือนจะรู้ว่า “เอาอีกแล้ว” คืออาการที่เรียกว่า “เสพติดอำนาจ” ของทหารได้กลับมาเช่นเดิม เพราะทหารที่มาทำหน้าที่ประสานงานให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ดูจะคึกคักและ “วางก้าม” คับทำเนียบจนผิดปกติ แต่อาการวางก้ามที่สุปรียาสังเกตเห็น ก็น่าจะเป็นแบบที่นิยมเรียกในตอนนี้ว่า “เฟก” คือไม่จริง เพียงเพื่อให้ข้าราชการในกระทรวงอื่น ๆ เข้ามารุมล้อม เพราะถ้าใครอยากจะ “ได้ดิบได้ดี” ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ทหารอย่างพวกเขาสามารถเข้าถึง “บิ๊กทหาร” ที่จะบันดาลตำแหน่งต่าง ๆ นั้นได้ แต่เอาเข้าจริง ๆ ก็ไม่เป็นไปตามนั้น เพราะแต่ละกระทรวงก็ยังต้องวิ่งเต้นกับนายของตัวเองโดยตรงจะได้ผลดีกว่า

สุปรียาทำหน้าที่ประสานงานในทำเนียบของกระทรวงมหาดไทยอยู่ 3 ปี ทุกอย่างก็เป็นไปอย่างเรียบร้อย แต่สุปรียากรู้สึกอึดอัดมากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะการที่มาเป็นข้าราชการกระทรวงนี้ก็เพราะอยากจะทำงานกับชาวบ้านหรือ “ลงพื้นที่” ออกไปประจำตามอำเภอหรือจังหวัดต่าง ๆ มากกว่า อย่างน้อยเมื่อรับราชการมากว่า 20 ปีนี้ก็ต้องได้เป็นนายอำเภอเป็นอย่างน้อย หรือถ้าเป็น “ดาวรุ่งพุ่งแรง” อย่างเธอ ก็น่าจะเป็นปลัดจังหวัดหรือหัวหน้าสำนักงานจังหวัดกันไปแล้ว แต่ที่เธอรู้สึก “แย่” ไปยิ่งกว่านั้นก็คือ การที่ต้องมารับรู้กับพฤติกรรมอัน “พะอืดพะอม” ของข้าราชการจำนวนมาก ที่ดิ้นรนแก่งแย่งกันขึ้นสู่ตำแหน่งต่าง ๆ รวมทั้ง “สะอิดสะเอียน” ในพฤติกรรมของนักการเมืองทั้งหลาย ที่รวมถึงข้าราชการที่ “เสพติดอำนาจ” โดยเฉพาะทหาร ที่ทะนงตนว่าอยากจะยึดอำนาจประเทศไทยเมื่อไหร่ก็ได้ ทำให้เธอ “ปลงตก” และไม่อยากจะเป็นข้าราชการอีกต่อไป ตอนแรกก็มีคนท้วงว่า ทำงานครบ 25 ปีหรือยัง เสียดายอายุราชการและวันทวีคูณต่าง ๆ ที่จะทำให้เธอได้รับบำเหน็จบำนาญเป็นเงินก้อนใหญ่ และนั่นก็ดูเหมือนจะเป็น “รางวัล” อย่างเดียวที่เธอได้รับในการทำราชการ เพราะเธอมีอายุราชการเกิน 25 ปีพอดีในปีนั้น

เธอกลับมาทำงานในรีสอร์ทของที่บ้านอีกครั้ง เธอได้รับการต้อนรับด้วยดีจากชุมชน ที่งานในโครงการของชุมชนหลาย ๆ ที่เธอเคยร่วมทำไว้เมื่อสมัยก่อนก็ยังคงทำกันต่อมา อย่างที่เรียกว่ายังคง “ยั่งยืน” ดีอยู่ เธอลองเปรียบเทียบงานในชุมชนกับงานราชการและงานการเมือง ว่างานไหนที่เธอชอบมากที่สุด เพราะอะไร ก็ได้คำตอบว่าคือ “งานชุมชน” นี้เอง ซึ่งคงเป็นเพราะเป็นงานที่ “ไม่เห็นแก่ตัว” เธอมองคนที่มาร่วมโครงการต่าง ๆ ในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นงานประเพณีแบบดั้งเดิม จนถึงงานพัฒนาในแบบคนยุคใหม่ ชาวบ้านทุกคนมาร่วมกันด้วยความคิด “เพื่อคนอื่น” ทั้งสิ้น ในขณะที่ข้าราชการและนักการเมืองแบบที่เธอเคยสัมผัส ล้วนแต่ “เอาแต่ประโยชน์ตน” ซ้ำร้ายและชั่วร้ายมาก ๆ ก็คือ “เบียดบัง” เอาประโยชน์ของชาติไปเป็นประโยชน์ส่วนตนอีกด้วย

เธอมองนักการเมืองรุ่นใหม่ พรรคใหม่ ๆ แล้วก็อยากจะตั้งความหวังว่า คงจะมีคนคิดอย่างเธอบ้าง และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะเห็นระบบราชการและข้าราชการเปลี่ยนแปลง “ดีขึ้น” บ้าง ลำพังชาวบ้านอย่างเธอและคนอื่น ๆ คงทำได้แต่ในพื้นที่แคบ ๆ เช่นในแต่ละตำบลหมู่บ้านเหล่านั้นเท่านั้น

แล้วเราจะต้องรอคอยข้าราชการกับนักการเมืองที่ “มองกว้าง” และ “คิดไกล” ไปอีกนานไหมหนอ?