วันที่ 8 พ.ย.67 กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศฉบับที่ 1 เรื่อง พายุ “หยินซิ่ง” ความว่า...
เมื่อเวลา 01.00 น. ของวันนี้ (8 พ.ย. 2567) พายุไต้ฝุ่น “หยินซิ่ง” บริเวณเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ ได้เคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ตอนบนแล้ว และเมื่อเวลา 04.00 น. มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 18.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 120.1 องศาตะวันออกมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ตอนใต้ของเกาะไหหลำ ประเทศจีน และชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลางในช่วงวันที่ 10-12 พ.ย. 2567 และจะอ่อนกำลังลงตามลำดับ โดยพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ขอให้ผู้ที่จะเดินทางไปบริเวณดังกล่าวตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทางในช่วงวันดังกล่าวไว้ด้วย
อนึ่ง ในช่วงวันที่ 8-11 พ.ย. 2567 ร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบน และภาคใต้ตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมาก และฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย
จึงขอให้ประชาชนติดตามประกาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา และสามารถติดตามข้อมูลที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือที่ 0-2399-4012-13 และ 1182 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวมีอากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในขณะที่คลื่นกระแสลมฝ่ายตะวันตกจากประเทศเมียนมาเคลื่อนเข้าปกคลุมภาคเหนือตอนบน ประกอบกับมีลมตะวันออกเฉียงใต้ในระดับบนพัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคเหนือตอนบน ภาคกลางตอนล่าง และภาคตะวันออก มีฝน/ฝนฟ้าคะนองบางแห่ง ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบนดูแลรักษาสุขภาพเนื่องจากสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลง ส่วนเกษตรกรควรเตรียมการป้องกันและระวังความเสียหายที่จะเกิดต่อผลผลิตทางการเกษตรไว้ด้วย
สำหรับร่องมรสุมพาดผ่านภาคใต้ตอนล่าง เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังปานกลางยังคงพัดปกคลุมอ่าวไทยตอนบนและภาคใต้ตอนบน ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ขอให้ประชาชนในบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มไว้ด้วย สำหรับคลื่นลมบริเวณอ่าวไทย
และทะเลอันดามันมีกำลังปานกลาง โดยอ่าวไทยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวเดินเรือด้วยความระมัดระวังและหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 06:00 น. วันนี้ ถึง 06:00 น. วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 20 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา และน่าน
อุณหภูมิต่ำสุด 20-24 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 23-33 องศาเซลเซียส
บริเวณยอดดอยอากาศหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 8-15 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 10-15 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อากาศเย็นในตอนเช้า และอุณหภูมิจะลดลงอีกเล็กน้อย
อุณหภูมิต่ำสุด 18-22 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
บริเวณยอดภูอากาศเย็นถึงหนาว อุณหภูมิต่ำสุด 11-16 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคกลาง
อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีฝน/ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และนครปฐม
อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.
ภาคตะวันออก
มีฝน/ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1-2 เมตร
บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง
บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช
พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
อุณหภูมิต่ำสุด 22-24 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)
มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดพังงา กระบี่ ตรัง และสตูล
อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร
กรุงเทพและปริมณฑล
มีฝน/ฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 10 ของพื้นที่
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส
ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.