“รังสิมันต์ โรม" ยืนกราน”กมธ.ความมั่นคงฯ” มีอำนาจเต็มตรวจสอบ ปม"ทักษิณ"รักษาตัวชั้น 14 รพ.ตำรวจ ด้าน”ชูศักดิ์' ยอมรับให้ปากคำอัยการเพิ่มเติมคดีล้มล้างการปกครอง มั่นใจ 'ทักษิณ' หาเสียงช่วยผู้สมัครชิง“นายกอบจ.”ไม่ผิด ขณะที่”ทักษิณ”เตรียมลงพื้นที่ช่วยเด็กเพื่อไทยหาเสียงนายกอบจ.อุดรฯ 

ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 7 พ.ย.67 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงการพิจารณาวาระกรณีกรมราชทัณฑ์ให้ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจ ชั้น 14 ว่า เบื้องต้นบุคคลที่ได้มีการเชิญไปแต่ไม่มา อย่าง พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส และเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของนายทักษิณ แต่ไม่ว่าจะมาหรือไม่มาเรื่องนี้คงไม่สามารถหยุดให้กรรมาธิการทำการแสวงหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม ในกรณีของนายทักษิณที่มีฝ่ายต่างๆเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งนายทักษิณทำทั้งหมดด้วยตัวคนเดียวไม่ได้ดังนั้นทางกรรมาธิการก็มีความชอบธรรมในการแสวงหาข้อเท็จจริงต่อไป


ทั้งนี้ ไม่ได้วางกรอบการแสวงหาข้อเท็จจริงไว้แต่อยู่ที่ข้อมูลที่ได้รับมาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 กรรมาธิการมีหน้าที่อำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริง ดังนั้นยืนยันที่จะทำต่อ ถ้าทุกฝ่ายมาให้ข้อชี้แจงกับทางกรรมาธิการก็จะเป็นประโยชน์กับหน่วยงานเองโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง ยืนยันว่าบรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหลายอยากให้ทำหน้าที่ในการชี้แจงและตอบคำถามกรรมาธิการตนคิดว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะปกป้องตัวเองไม่ว่าจะเป็นข้อครหาหรือความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นในข้อกฎหมายด้วย


สำหรับประเด็นที่ทางกรรมาธิการจะสอบถามผู้ที่เกี่ยวข้องมี 2 ประเด็นหลัก คือ ป่วยไหม ป่วยจริงหรือไม่ และการป่วยเข้าข้อกฎหมายอะไรได้บ้างที่ทำให้นายทักษิณต้องอยู่ที่ชั้น 14 อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องของการพบปะบุคคลต่างๆ ตกลงแล้วการอยู่ชั้น 14 คือการถูกควบคุมตัว เสมอเหมือนอยู่ในราชทัณฑ์หรือเรือนจำใช่หรือไม่ แต่ที่มีการพบปะกันราวกับว่าเหมือนนอนอยู่บ้านก็ต้องพิจารณาว่าข้อเท็จจริงเรื่องนี้เป็นอย่างไร


นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ได้ไปเจอนายทักษิณและยังไม่เห็นข้อโต้แย้งที่มีความชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้กรรมาธิการก็ต้องเอาข้อเท็จจริงออกมาโดยการสอบถามเจ้าหน้าที่ ซึ่ง พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. ยืนยันว่าจะเดินทางมาชี้แจง ก็ต้องได้สอบถามข้อเท็จจริงในเรื่องเหล่านี้เพราะช่วงเวลานั้นถือว่ามีบทบาทหน้าที่ที่หลากหลาย
ส่วนกรณีที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ยืนยันว่าการรักษาตัวที่ชั้น 14 ของนายทักษิณเป็นการคุมขังไม่เคยปล่อยสักวินาทีนั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากจะโต้แย้งแบบนั้นก็ต้องบอกว่าสิ่งที่พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์บอกมาไม่เป็นความจริง หรือพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์มีความสามารถพิเศษที่จะฝ่าความปลอดภัยเพื่อเข้าพบนายทักษิณได้ ดังนั้นสิ่งที่พ.ต.อ.ทวีพูดออกมาก็ต้องดูพยานหลักฐานต่างๆใครจะโกหกหรือใครจะพูดความจริงไม่เป็นความจริง วันนี้เราจะได้มาค้นหาข้อเท็จจริงกันว่าตกลงแล้วที่ฝ่ายต่างๆ ได้พูดในเรื่องเกี่ยวกับชั้น 14 นั้นเป็นอย่างไรนี่คือบทบาทของกรรมาธิการที่ต้องการแสวงหาข้อมูล


นายรังสิมันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีคนสงสัยว่าเรื่องนี้เกี่ยวอะไรกับความมั่นคง ยืนยันว่าเรื่องกระบวนการยุติธรรมเป็นเรื่องที่สำคัญสำคัญต่อประเทศชาติมากเป็นกระดูกสันหลังสำหรับเรื่องต่างๆ และเราก็มีภารกิจในเรื่องของการปฏิรูปประเทศด้วยกระบวนการยุติธรรมก็เป็นหนึ่งในนั้นที่เราพยายามแสวงหาข้อเท็จจริง


ขณะนี้ยังไม่ได้เห็นข้อมูลรายละเอียดจากโรงพยาบาลตำรวจ แต่วันนี้เราจะได้สอบถาม ซึ่งมีคำถามอยู่ประมาณ 20-30 คำถาม ที่กรรมาธิการเตรียมกันไว้ หากข้อมูลยังไม่เพียงพอก็จะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือเรียกเอกสารจากหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องยากแต่หน่วยงานจะให้หรือไม่ให้เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าถ้ามั่นใจว่าการทำหน้าที่ชอบด้วยกฎหมาย ก็ไม่ต้องกลัวอะไรให้ฝ่ายตรวจสอบเข้าถึงพยานหลักฐานต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และเป็นประโยชน์ที่สุด


ส่วนจะอ้างกฎหมาย PDPA คงไม่สามารถทำได้ เพราะกรรมาธิการฯ ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดซึ่งเราสามารถเข้าถึงเอกสารหลักฐานต่างๆได้อยู่แล้ว กฎหมาย PDPA ไม่ได้มีข้อยกเว้นในการทำหน้าที่ของสภาหรือกรรมาธิการ
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า หากพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ไม่มาให้ข้อมูลในวันนี้จะขอให้ทำเป็นหนังสือชี้แจงเข้ามาทีหลังหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ต้องดูสถานะปัจจุบันเป็นบุคคลธรรมดา น้ำหนัก จะต่างกับการเชิญเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ถ้าเชิญเจ้าหน้าที่รัฐเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีที่ต้องดำเนินการให้มาซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมีความผิดอะไรหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ทางกรรมาธิการต้องตรวจสอบว่าที่ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือจากรัฐบาลมีความผิดทางกฎหมายอะไรอีกบ้าง
สำหรับผู้มาชี้แจงที่เดินทางมาชี้แจงประกอบด้วย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ,นพ.วัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผู้อำนวยการทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผบ.ตร. แจ้งว่าจะมาชี้แจง แต่เมื่อถึงเวลาประชุม ยังไม่เดินทางมาและเจ้าหน้าที่ยังไม่สามารถติดต่อได้


ทั้งนี้ ผู้ที่แจ้งว่าไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้คือ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ,พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ ผู้ช่วยผบ.ตร. และพล.ต.ท.ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้ แต่จะส่งเอกสารประกอบการพิจารณาภายหลัง
    
สำหรับบรรยากาศการประชุม กมธ.ส่วนใหญ่ตั้งคำถามพุ่งเป้าไปที่รายละเอียดการพักรักษาตัวของนายทักษิณ และหลักฐานเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการรักษาตัวของนายทักษิณ อาทิ ภาพถ่าย ภาพกล้องวงจรปิด รวมถึงขั้นตอนการปฏิบัติของกรมราชทัณฑ์ และโรงพยาบาลตำรวจ เป็นไปตามมาตรฐานและระเบียบของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ 
โดย นพ.วาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ซักถามว่า อาการป่วยนายทักษิณที่ระบุเป็นภาวะฉุกเฉิน กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องส่งตัวด่วนจากโรงพยาบาลกรมราชทัณฑ์ไปโรงพยาบาลตำรวจ ใช้เวลาส่งตัว 21นาที การเดินทางจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจระยะทาง 17กิโลเมตร เดินทางโดยทางด่วน 17นาที การปฏิบัติหน้าที่ของแพทย์หรือพยาบาลที่เรือนจำ จึงมีเวลาปฏิบัติการ 3นาทีเท่านั้น ถือว่ารวดเร็ว อยากรู้ผู้ป่วยรายอื่นที่มีภาวะฉุกเฉิน จะได้รับการปฏิบัติเร่งด่วน มีมาตรฐานแบบเดียวกันหรือไม่ และการอนุญาตให้นายทักษิณรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเป็นเวลานาน ใครคือผู้ให้ความเห็น ขณะที่ น.ส.พรรณิการ์ วาณิช ที่ปรึกษากมธ. ซักถามว่า การพักรักษาตัวที่ชั้น14 ของนายทักษิณมีค่าห้องและค่ารักษาพยาบาลเท่าใด ใครออกค่าใช้จ่าย ให้แสดงหลักฐาน อย่างไรก็ตามระหว่างที่กมธ.รุมซักถามนั้น นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษากมธ. เบรกการซักถามเป็นระยะๆ โดยกล่าวว่าการซักถามเรื่องหลักเกณฑ์ต่างๆไม่มีอะไรคืบหน้า คนมาชี้แจงก็ต้องตอบไปตามหลักการ คำถามวนไปมา ไม่น่าฟัง ถามถึงแต่ภาพถ่าย ภาพวงจรปิด ควรถามว่า การพักชั้น14 เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ 

ด้าน พล.ต.ต.สรวุฒิ เหล่ารัตนวรพงษ์ อดีตรองนายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ ชี้แจงว่า ช่วงที่ทำหน้าที่เป็นรองนายแพทย์ใหญ่ ไม่ทราบข้อมูลผู้ป่วย เพราะกำลังทำเรื่องเออรี่รีไทร์ และพักร้อนในช่วงนั้น เมื่อมีหนังสือส่งตัวมาให้รักษา เราก็รักษา ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะผู้ป่วยและความเห็นของแพทย์ที่ดูแลด้วย ตนเชี่ยวชาญด้านผ่าตัดผ่านกล้อง ไม่ได้เป็นผู้ผ่าตัดนายทักษิณ ส่วนนายทักษิณจะผ่าตัดหรือไม่ ตนไม่ทราบ เพราะตอนนั้นลาพักร้อน 3 สัปดาห์ ส่วนการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลตำรวจจะสั้นหรือยาว ขึ้นอยู่กับภาวะของโรค ส่วนตัวไม่เคยไปรักษาชั้น14 ไม่สามารถตอบได้ ขณะที่เรื่องการบันทึกภาพระหว่างรักษาตัว ก็ไม่ทราบเช่นกัน แต่จากประสบการณ์ที่เคยรักษาผู้ต้องขังนั้น ไม่เคยเห็นต้องบันทึกภาพ


นพ.วัฒน์ชัย นายวัฒน์ชัย มิ่งบรรเจิดสุข ผอ.ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ชี้แจงว่า กรณีการส่งตัวนายทักษิณจากเรือนจำไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ผ่านโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพราะพยาบาลในสถานพยาบาลพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยง จึงส่งตัว เนื่องจากตอนดึกนายทักษิณมีอาการแน่นหน้าอก ความดันสูงขึ้น ระดับออกซิเจนต่ำ กรณีมีผู้ป่วยต้องออกไปรักษาตัวด้านนอก ต้องส่งโดยเร็ว ป้องกันเหตุพิการเสียชีวิต ศักยภาพของโรงพยาบาลในการรักษาด้านโรคหัวใจนั้น เรามีเครื่องมือการแพทย์ไม่เพียงพอ จำเป็นต้องส่งไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลภายนอก การสวนหัวใจไม่สามารถทำได้ ต้องส่งต่อ ทั้งนี้การส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวด้านนอก ถ้าเป็นในเวลา เป็นหน้าที่ของแพทย์ในเรือนจำ แต่ถ้านอกเวลาจะเป็นพยาบาลเป็นผู้ประเมิน ไม่มีแพทย์คนใดเข้าไปในสถานพยาบาลแต่ละแดนนอกเวลา แต่พยาบาลก็มีทักษะประเมินผู้ป่วยฉุกเฉินได้ ถ้าเป็นกรณีฉุกเฉินคนเซ็นอนุญาตคือผู้บัญชาการเรือนจำ โรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลที่ราชทัณฑ์ส่งผู้ป่วยไปมากที่สุด ส่วนการประเมินว่าต้องได้รับการรักษาตัวต่อนั้น เป็นหน้าที่แพทย์ผู้รักษาของโรงพยาบาลตำรวจ โดยมีข้อมูลทางการแพทย์ว่า เหตุใดควรต้องรักษาตัวต่อ ส่วนเรื่องจำนวนวันที่ต้องรักษาตัว ตนไม่ทราบ

ส่วนเรื่องค่าห้องและค่ารักษานายทักษิณนั้น อยู่ที่ 8,500 บาทต่อวัน รวมค่ารักษาอยู่ที่ประมาณ 1ล้านบาท ไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นผู้จ่าย แต่ผู้ต้องขังทุกคนที่อยู่ในโรงพยาบาลจะได้รับการรักษาโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในทุกกรณี ยกเว้นกรณีที่เกินสิทธิ ผู้ต้องขังหรือญาติผู้ต้องขังต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ยืนยันว่ากรณีผู้ต้องขังเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้รับการรักษาตัวทันท่วงทีเป็นบรรทัดฐานเดียวกัน


ด้าน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวชี้แจงถึงกรณีที่มีการนำเสนอรายงานข่าวการเข้าให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนที่สำนักงานอัยการสูงสุด กรณีถูกยื่นคำร้องขอให้พรรคเพื่อไทยหยุดการกระทำที่นำไปสู่การล้มล้างการปกครอง ว่า กรณีที่มีรายงานข่าวบอกว่าคณะทำงานของอัยการมีความเห็นแบบหนึ่ง แล้วอัยการสูงสุดมีความเห็นแย้งไม่ตรงกับรายงานข่าว ไม่เป็นความจริง แต่ที่รับรู้อัยการสูงสุดให้สอบเพิ่มทั้งฝ่ายผู้ร้องและผู้ถูกร้อง เพราะเดิมทางคณะทำงานสอบสวนเรียบร้อยแล้ว แต่ท้ายที่สุดอัยการสูงสุดให้สอบเพิ่มเพื่อให้ละเอียดและรอบคอบ จึงเป็นที่มาให้พรรคเพื่อไทยเข้าให้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร จึงเดินทางเข้าไปให้ปากคำเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นข้อมูลเพิ่มเติม ประกอบการรวบรวมเอกสารหลักฐาน ให้อัยการสูงสุดส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะศาลรัฐธรรมนูญกำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดส่งความเห็นภายในวันที่ 8 หรือ 15 พ.ย.นี้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยว่าจะรับหรือไม่รับคำร้อง ซึ่งยังไม่มั่นใจ แต่ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน และเป็นสาเหตุให้ตนเดินทางไป และก็ให้การตามที่ทุกคนเคยรับรู้รับทราบแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่นายทักษิณเริ่มเคลื่อนไหว ถือเป็นการส่งสัญญาณที่ดีขึ้นทางคดีที่ถูกร้องอยู่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องแยกกันระหว่างคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทุกคนทราบว่าผู้ร้องคือใคร และร้องประเด็นใด ซึ่งเป็นการร้องตามมาตรา 49 ว่าด้วยการล้มล้างการปกครอง แต่พรรคเพื่อไทยดูแล้วคำร้องทั้งหมดนั้นไม่เข้าตามมาตราดังกล่าว เพราะฉะนั้นขอใช้คำง่ายๆว่าทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมันมั่ว ส่วนคำชี้แจงของเราจะเป็นอย่างไรก็ว่ากันไป ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะรับหรือไม่ผลก็ยังไม่ทราบ
สำหรับคำร้องอีก 1 เรื่อง ที่ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในเรื่องการครอบงำพรรคของนายทักษิณ ยืนยันว่าไม่ใช่ การครอบงำอะไร เมื่อถามถึงกรณีที่นายทักษิณจะขึ้นเวทีปราศรัยช่วยผู้สมัครหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ที่จ.อุดรธานี สามารถทำได้หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กกต.ก็อนุญาตให้บุคคลประเภทนี้ที่เขาเรียกว่า ผู้ช่วยหาเสียง นายทักษิณก็ทำมาตั้งนานแล้ว และเป็นบุคคลประเภทเดียวกับ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ซึ่งที่สำคัญผู้สมัครสามารถตั้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงตามระเบียบได้ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดคุณสมบัติ และที่ผ่านมานายทักษิณก็ได้เป็นผู้ช่วยหาเสียงตั้งแต่การเลือกนายก อบจ.ครั้งที่ผ่านมาแล้ว และไม่ได้มีปัญหาอะไร เมื่อถามว่า มีการแจ้งกับ กกต.เรียบร้อยแล้วใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของผู้สมัคร


ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจว่าจะไม่มีการยื่นร้องเอาผิดย้อนหลังใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้มีปัญหาอะไร ทำได้และทำมาแล้ว ตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวว่าจะเป็นผู้ช่วยหาเสียงพื้นที่ใด ซึ่งตามระเบียบสามารถทำได้ แค่นั้นเอง เมื่อถามว่าการที่นายทักษิณลงพื้นที่ช่วยผู้สมัคร นายก อบจ.อุดรธานีครั้งนี้จะเป็นการทุ่มชิงพื้นที่จากพรรคประชาชนหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปถามผู้สมัครว่าโดยรวมนั้นเป็นอย่างไร เพราะยุทธศาสตร์เหล่านี้เป็นเรื่องของพรรคว่าคิดอย่างไร แต่แน่นอนว่า จ.อุดรธานีเป็นจังหวัดที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย


ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะเห็นนายทักษิณ ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงบ่อยขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องของดุลยพินิจของนายทักษิณที่จะดูเรื่องความเหมาะสม เมื่อถามย้ำว่า กังวลหรือไม่หลังจากนี้จะมีบรรดานักร้องนำเรื่องดังกล่าวไปร้องเรียน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้กังวลอะไร เพราะตามระเบียบสามารถทำได้และเคยทำมาแล้ว ย้ำว่าไม่ต่างอะไรกับหลายคนที่เป็นผู้ช่วยหาเสียงให้กับพรรคการเมือง และพรรคเพื่อไทยมีบุคคลประเภทนี้มาก เพราะโดนกระทำมาเยอะ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับความเคลื่อนไหวของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี วันที่ 13-14 พ.ย. เตรียมลงพื้นที่ไปช่วย นายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายกอบจ.อุดรธานี ในนามพรรคเพื่อไทย หาเสียงเลือกตั้ง โดยมีกำหนดการวันที่ 13 พ.ย. เวลา 17.30 น. พบปะพี่น้องประชาชนประมาณ 10,000 คน ที่ อ.กุมภวาปี อ.ประจักษ์ศิลปาคม อ.ศรีธาตุ อ.หนองหาน (บางส่วน) เวลา 19.30 น. รับประทานอาหารเย็นที่ร้านคุณนิด และเวลา 21.00 น. เดินทางกลับที่พักที่โรงแรมเซ็นทารา


ส่วนวันที่ 14 พ.ย. เวลา 07.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่ร้านคิงส์โอชา เวลา 09.30 น. เดินทางถึงบริเวณทุ่งศรีเมืองบ้านดุง ปราศรัยกับพี่น้องชาว อ.บ้านดุง อ.ทุ่งฝน มวลชนประมาณ 8,000-10,000 คน และรับประทานอาหารเที่ยงที่ร้านวีทีแหนมเนือง (สาขาถนนรอบเมือง) จากนั้น เวลา 15.30-16.30 น. พบปะพ่อค้านักธุรกิจ ผู้นำท้องถิ่นใน จ.อุดรธานี และเวลา 17.30 น. ปราศรัยกับพี่น้องประชาชน อ.เมือง อ.หนองวัวซอ (บางส่วน) อ.หนองหาน (บางส่วน) มวลชน 20,000-25,000 คน ก่อนจะเดินทางกลับกทม.
ขณะที่ก่อนลงพื้นที่ จ.อุดรธานี นายทักษิณ จะเป็นประธานในพิธีทอดกฐินสามัคคี ที่วัดคลองครุ (ปัฐวิกรณ์) แขวงรามอินทรา เขตคันนายาว กทม. วันที่ 9 พ.ย. เวลา 13.00 น. โดยมีนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ กรรมการผู้ช่วยเป็นประธานจัดทอดกฐินสามัคคีในครั้งนี้