“นายกฯอิ๊งค์” โชว์วิสัยทัศน์ ยันไทยยึดหลัก 3Cs “สร้างความเชื่อมโยง เสริมขีดความสามารถ สร้างประชาคมที่ดีขึ้น” เพื่อประชาคมลุ่มน้ำโขงเข้มแข็งและรุ่งเรือง พร้อมแชร์ผลสำเร็จนโยบายที่ทำให้คนไทยสุขภาพดี 30 บาทรักษาทุกที่บนเวทีสุดยอดผู้นำ
เมื่อวันที่ 7 พ.ย.2567 เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครคุนหมิง เร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.) ณ Yunnan Haigeng Convention Center นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงในการประชุมเต็มคณะ (Plenary Session) ของการประชุมระดับสุดยอดผู้นำ ครั้งที่ 8 แผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS)
นายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณประเทศจีนในการเป็นเจ้าภาพการประชุมในครั้งนี้ และยืนยันความมุ่งมั่นของไทยที่จะร่วมเสริมสร้างการพัฒนาร่วมกันของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงให้เป็นประชาคมที่เข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น ตามแผนงาน GMS คือ 3Cs ดังนี้ 1.ประเทศไทย ได้เร่งสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ให้เป็นรากฐานของการบูรณาการระดับภูมิภาค ซึ่งไทยมีความก้าวหน้าในการสร้างความเชื่อมโยงอย่างครอบคลุมทั้งภายในและระหว่างภูมิภาค อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟระหว่างประเทศ เส้นทางกรุงเทพฯ - เวียงจันทน์ สปป.ลาว การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ศรีราชา จังหวัดชลบุรี รวมทั้งแผนการก่อสร้างสนามบินล้านนา ที่ภาคเหนือ และสนามบินอันดามันในภาคใต้ ที่จังหวัดพังงาใกล้กับ จังหวัดภูเก็ต
2.จะส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม สอดคล้องกับแนวทางของไทยที่ขับเคลื่อนไปสู่ยุคดิจิทัล ทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสด โดยมีการใช้เงินในระบบดิจิทัล ระบบพร้อมเพย์ สำหรับการรับและโอนเงิน และการชำระผ่าน QR Code ข้ามพรมแดนอย่างแพร่หลายแล้ว โดยเชื่อว่าเทคโนโลยีทางการเงินนี้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทันสมัย จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่อำนวยต่อการสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้น 3.เสริมสร้างประชาคม (Community) ถือเป็นหัวใจสำคัญของ GMS ด้วยการสร้างความร่วมมืออย่างบูรณาการกับทุกภาคส่วน และขยายโครงข่ายการคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน ซึ่งประเทศไทยสนับสนุนยุทธศาสตร์ความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่มประเทศ GMS ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาแบบครอบคลุมของไทย และให้ความสำคัญต่อเยาวชนผ่านการส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม รวมทั้งการรักษาเสถียรภาพทางสังคม เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในอนุภูมิภาคนี้
“ประเทศไทยยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะนโยบายสาธารณสุขของไทย ที่ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แต่รัฐบาลไทยก็ไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับและพัฒนานโยบายสาธารณสุขจาก “30 บาท รักษาทุกโรค” มาเป็น “30 บาท รักษาทุกที่” พร้อมขยายบริการสุขภาพมาตรฐานโดยใช้ระบบการแพทย์ทางไกล รวมถึงปรับปรุงการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพให้เป็นดิจิทัล ซึ่งไทยพร้อมแบ่งปันประสบการณ์และแนวทางปฏิบัติที่ดีกับประเทศสมาชิก GMS”
น.ส.แพทองธาร กล่าวต่อว่า ประเทศไทยยืนยันความมุ่งมั่นต่อการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ ค.ศ. 2030 ซึ่งได้ถูกบูรณาการในแผนการพัฒนาระดับต่าง ๆ ของประเทศไทยด้วยแล้ว เพื่อให้มั่นใจว่าความเจริญรุ่งเรืองของประชาคม GMS จะเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างแถลงการณ์ร่วมระดับผู้นำ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 8 (Joint Summit Declaration) และ ร่างยุทธศาสตร์นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง พ.ศ. 2573 แผนงาน GMS (Greater Mekong Subregion Innovation Strategy for Development 2030)