วันที่ 7 พ.ย. 67  เมื่อเวลา 14.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นนครคุนหมิง ซึ่งเร็วกว่ากรุงเทพฯ 1 ชม.)  ที่โรงแรม Wyndham Grand Plaza Royale Colorful Yunnan Kunming สาธารณรัฐประชาชนจีน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เข้าร่วมประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) ครั้งที่ 10 มีผู้นำของ 5 ประเทศ คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประธานการประชุมฯ และนายกฯจากราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เข้าร่วมด้วย โดยน.ส.แพทองธาร กล่าวถ้วยแถลงว่า ภูมิใจที่ไทยได้รับความไว้วางใจให้กรุงเทพฯเป็นที่ตั้งและทำหน้าที่สำนักงานเลขาธิการชั่วคราว และในที่ประชุมวันนี้ได้ต้อนรับประเทศนิวซีแลนด์ ในฐานะหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศที่ 7 สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของความร่วมมือในกรอบ ACMECS

 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า สมาชิกทั้ง 5 ประเทศ มีพรมแดนติดกัน เผชิญกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งอาชญากรรมข้ามพรมแดน มลพิษทางอากาศ และภัยธรรมชาติ ควรร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยเสนอ 3 แนวทางรับมือกับความท้าทาย ทั้งปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ โดยเฉพาะการค้ายาเสพติดและอาชญากรรมทางไซเบอร์ ประการที่สองเรื่องมลพิษทางอากาศ ประชากรกว่า 200 ล้านคนในอนุภูมิภาค หรือ 650 ล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีค่ามลพิษทางอากาศสูง จึงต้องร่วมมือกันลดจุดความร้อน เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันข้ามแดนในภูมิภาค และประการสุดท้าย เรื่องภัยพิบัติทางธรรมชาติ เดือนก.ย.ที่ผ่านมา มีประชาชนกว่า 5 ล้านคนในอนุภูมิภาค ต้องเผชิญกับผลกระทบจากไต้ฝุ่น “ยางิ” มีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงถึง 16,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม จากอุทกภัยในช่วง 2 - 3 เดือนที่ผ่านมา การบริหารจัดการน้ำในอนุภูมิภาค เป็นประเด็นเร่งด่วน ไทยเสนอเอกสารแนวคิดเรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บท ACMECS เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำ และมองว่า ACMECS ควรเร่งจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนา ACMECS เพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้อย่างเร่งด่วน และระดมทุนสำหรับพัฒนาโครงการต่าง ๆ โดยไทยยืนยันคำมั่นที่จะสนับสนุนเงินให้แก่กองทุนฯ และหวังอย่างยิ่งว่าจะสามารถหาข้อสรุปร่วมกันเกี่ยวกับกลไกการบริหารกองทุนฯ ได้ภายในไตรมาสแรกของปี ค.ศ. 2025 โดยไทยยึดมั่นที่จะมีบทบาทขับเคลื่อนความร่วมมือภายใต้กรอบ ACMECS บนพื้นฐานการเป็น “ผู้ส่งเสริมสันติภาพและความมั่งคั่งร่วมกัน” พร้อมทั้งสนับสนุนการดำรงตำแหน่งประธาน ACMECS ของเมียนมาในวาระต่อไป

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมครั้งนี้ ที่ประชุมได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างปฏิญญาเวียงจันทน์ (Vientiane Declaration) ของการประชุมผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 10 และ  ร่างเอกสารแนวคิด (Concept Note) เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เป็นภาคผนวกเพิ่มเติมในแผนแม่บทฯ โดยประเทศไทยเป็นผู้เสนอ

 

จากนั้นนายกฯ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานนานาชาติคุนหมิงฉางสุ่ย นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยถึงท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมืองในเวลา 18.00 น.