นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เผยปัจจุบันจำนวนการขึ้นทะเบียนผู้บังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน(โดรน หรือ Drone) มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ประกอบกับกระทรวงคมนาคมได้ประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานซึ่งควบคุมการบินจากภายนอกที่มีน้ำหนักเกิน 25 กิโลกรัม พ.ศ. 2567 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 กันยายน 2567 ส่งผลให้การอนุญาตและการทำการบินโดรนในประเทศไทยครอบคลุมวัตถุประสงค์และตอบสนองต่อความต้องการของอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะโดรนที่มีขนาดใหญ่ เช่น โดรนทางการเกษตร โดรนขนส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันมีความต้องการใช้มากขึ้นและเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการใช้อากาศยานประเภทใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

ทั้งนี้โดรนเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ไม่เพียงอำนวยความสะดวก แต่ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า เพราะลดข้อจำกัดในเรื่องของพื้นที่ ที่สำคัญยังเป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปช่วยชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ เพราะสามารถเข้าถึงถิ่นทุรกันดารและพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก เช่น โดรนกู้ภัย โดรนขนยารักษาโรค วัคซีนหรือเลือด เพื่อให้ทันต่อการรักษา ในอนาคตนวัตกรรมของโดรนจะมีการปรับตัวมากขึ้น ปัจจุบันเราเริ่มเห็นโดรนที่คนสามารถขึ้นไปนั่งเพื่อเดินทางจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้ เชื่อว่าต่อไปโดรนจะถูกเชื่อมกับธุรกิจ Aviation

นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เผยวัตถุประสงค์การจัดงาน “Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024” ภายใต้แนวคิด “Drone It Right” เพื่อเผยแพร่ข้อมูล เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” รวมถึงกฎหมาย กฎระเบียบ วิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง พร้อมสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัย การรักษาความปลอดภัยให้แก่ผู้บังคับ และการป้องกันสิทธิส่วนบุคคล เป็นต้น

ปัจจุบันโดรนมีการนำมาใช้งานในภาคอุตสาหกรรมที่หลากหลายยิ่งขึ้น ทั้งในทางวิศวกรรมเพื่อการสำรวจ และการทำแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ถ่ายทอดสดจากมุมสูง การสำรวจต่าง ๆ การใช้เพื่อการทำเกษตรอัจฉริยะ การโปรยปุ๋ยหรือฉีดพ่นยาฆ่าแมลง การใช้เพื่อการบรรเทาสาธารณภัย รวมถึงการขนส่งและคมนาคมแห่งอนาคตทั้งในรูปแบบสินค้าและบริการ เป็นต้น 

“นับเป็นครั้งแรกของประเทศไทย ที่รวมเทคโนโลยีโดรนและองค์ความรู้ สำหรับภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ครบที่สุด ทั้งนี้ หากทุกภาคส่วนเข้าใจและใช้ โดรนอย่างถูกทาง จะนำไปซึ่งการขออนุญาตการใช้ได้อย่างกว้างขวาง ข้อจำกัดน้อย เกิดประสิทธิภาพการใช้งานสูง โดยเฉพาะการลดต้นทุนด้านการเงินและเวลา ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ หากผู้ใช้ไม่เข้าใจ ไปงานอย่างผิดระเบียบวิธี ภาครัฐก็ต้องออกมาตรการควบคุม การเข้าถึงโดรนก็จะมีอุปสรรค และขั้นตอนที่ยุ่งยากก็จำเป็นต้องตามมา ทำให้เราก็จะไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้” 

สำหรับงาน “Thailand Drone Exhibition and Symposium 2024” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7 – 9 พฤศจิกายน 2567 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายในงานรวมผู้ผลิตและจัดจำหน่าย ผู้คิดค้นซอฟต์แวร์  แอปพลิเคชัน ร่วมจัดแสดงผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโดรนกว่า 100 คูหา จากทั่วโลก อาทิ โดรนสำหรับขนส่งยาและเวชภัณฑ์เพื่อใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดรนที่ช่วยในการปล่อยสัญญาณอินเตอร์เน็ต เหมาะสำหรับสถานการณ์ที่เกิดภัยพิบัติ โดรนขนาดเล็กเพื่อการสำรวจหรือตรวจสอบแผงโซลาร์เซลล์ ส่งไฟฟ้าแรงสูง รอยร้าวของเขื่อนและอาคาร เป็นต้น พร้อมสัมมนา การปาฐกถาพิเศษโดยผู้แทนจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ในหัวข้อ “Global Regulatory UAS and AAM Framework” และ “Standards and Recommended Practices (SARPS) for RPAS”เวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านโดรนจากผู้แทนด้านอุตสาหกรรมการบินของประเทศต่างๆการบรรยายจากผู้แทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานโดรน พร้อมร่วมแบ่งปันความรู้ และเชื่อมโยงโอกาสทางธุรกิจ โดยคาดไม่เกิน 3 ปี คนไทยจะใช้โดรนเป็นอุปกรณ์ชีวิตประจำวันเหมือนกับการใช้มือถือ และระยะ 10 ปีข้างหน้าจะมีปริมาณไม่ต่ำกว่า 1,000,000 ลำ