โคราช พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์ฯ แสดงผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น พรรณพืช
เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ที่ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อพ.สธ.-มทส.) ตำบลคลองไผ่ อ.สีคิ้ว นครราชสีมา นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อม รศ. ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. รศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี ผู้อำนวยการศูนย์ อพ.สธ.-มทส. นายพรชัย จุฑามาศ รองผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ดร.ปิยรัษฎ์ ปริญญาพงษ์ เจริญทรัพย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อพ.สธ.และเลขานุการคณะกรรมการ อพ.สธ. ร่วมแถลงความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 โชมการจัดแสดงผลงานนิทรรศการด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น จากศูนย์แม่ข่ายประสานงาน สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและสมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น จากทั่วประเทศ วันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2567 ณ อพ.สธ.-มทส. คลองไผ่ จ.นครราชสีมา โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจังหวัด “นครชัยบุรินทร์” เข้าร่วมอย่างคึกคัก
นายวิจิตร กิจวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า “จังหวัดนครราชสีมามีความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพที่ดีร่วมต้อนรับเครือข่าย อพ.สธ.จากทั่วประเทศในการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ภายใต้การประสานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ตำบลคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว ที่จะสนองงานฯ ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น ถือเป็นการสร้างเครือข่ายและสัมพันธ์อันดีที่ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดีต่อกัน ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีในการสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้แก่เยาวชน นักเรียน นิสิตนักศึกษาและประชาชนทั่วไป และประชาสัมพันธ์ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดด้วยอีกทางหนึ่ง ในโอกาสนี้ ก็ขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นประธานเปิดงานในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567 ถือเป็นสิริมงคลยิ่งแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และชาวจังหวัดนครราชสีมาทุกหมู่เหล่า
รศ. ดร.อนันต์ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ นับตั้งแต่เมื่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้เป็นหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริรับดูแลและใช้ประโยชน์ในพื้นที่ อพ.สธ. คลองไผ่ เพื่อการบริหารจัดการ การอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ทรัพยากรท้องถิ่นเมื่อเดือนสิงหาคมเมื่อปี 2561 โดยยังคงความเป็นศูนย์ฝึกอบรม ฝึกหัดวิชาชีพให้แก่ สมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น หน่วยงานสนองพระราชดำริ อพ.สธ. เยาวชน และประชาชนทั่วไปมาอย่างต่อเนื่อง และทำหน้าที่เป็นศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. – มทส. ในเขตพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อีก 4 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตสุรินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เพื่อผนึกกำลังร่วมกันดำเนินการขับเคลื่อนงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และฐานทรัพยากรท้องถิ่น ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม สืบสานตามแนวพระราชปณิธานในสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
การประชุมวิชาการครั้งใหญ่ประจำปีของ อพ.สธ. ศูนย์แม่ข่ายประสานมหาวิทยาลัยจะได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพหมุนเวียนกันไป โดยในปี 2567นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณยิ่งต่อมหาวิทยาลัย ที่ ศูนย์ อพ.สธ. - มทส. ที่ได้รับพระราชานุญาต ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ครั้งที่ 8 ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด “ความสมดุลบนพื้นฐานของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ที่มุ่งเน้นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเน้นการประเมินทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับการปลดปล่อย การดักจับและการแยกเก็บคาร์บอน (Carbon capture and sequestration) โดยอาศัยต้นไม้ช่วยดูดซับ การบริหารจัดงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ และก่อขยะน้อยที่สุด ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความยั่งยืนได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) 5 ซึ่งจะเป็นการรวมตัวครั้งสำคัญของสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่น หน่วยงานสนองพระราชดำริ เครือข่าย อพ.สธ.จากทั่วประเทศ การเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ การก่อสร้างอาคารเอนกประสงค์รองรับการจัดประชุมสัมมนาและจัดประชุมวิชาการ ขนาด 200 คน อาคารแหล่งการเรียนรู้ฐานทรัพยากรและอาคารบริการ การปรับพื้นที่โดยรอบกว่า 391 ไร่ รองรับการซุ้มนิทรรศการผลงานจากสมาชิกทั่วประเทศ อาคารเรือนพักจำนวน 4หลัง พร้อมทั้งปรับปรุงอาคารที่มีอยู่เดิมเพื่อให้มีความสมบูรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ กิจกรรมสันทนาการ เพื่อการรองรับสมาชิก และผู้เข้าชมงานตลอด 5 วันของการจัดกิจกรรม ทั้งนี้ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ เป็นองค์ประธานในพิธีเปิด และเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรส่วนจัดแสดงนิทรรศการ และพระราชทานวโรกาสให้ผู้แทนสถานศึกษาสมาชิกสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สมาชิกฐานทรัพยากรท้องถิ่นทั่วประเทศ ที่ร่วมสนองพระราชดำริ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท พระราชทานเกียรติบัตรและป้ายสนองพระราชดำริ ในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567ณ อพ.สธ.คลองไผ่ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ดำเนินการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ที่ได้เริ่มต้นขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้เมื่อ 18 ปีที่แล้ว
มหาวิทยาลัยมุ่งหวังจะเป็นพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมในการทำงานจากเครือข่ายจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงเครือข่าย อพ.สธ. ทั่วประเทศ เป็นความร่วมมือร่วมใจจากทั้งสถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน จะร่วมสนองพระราชดำริ และดำเนินภารกิจสืบสานพระราชปณิธานรักษาฐานทรัพยากรแผ่นดิน ถ่ายทอดองค์ความรู้ สู่เยาวชน และประชาชนทั่วไปอย่างยั่งยืน
รศ. ดร.อมรรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ อพ.สธ.-มทส. เปิดเผยถึงรูปแบบการจัดประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกศาสตร์ ครั้งที่ 8 ว่า “การจัดการประชุมเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติฯ และสร้างจิตสำนึก ให้กับเยาวชน ประชาชน ได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรไทยซึ่งจะนำไปสู่การอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ในการอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศ โดยแบ่งออกเป็น 5 กิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) นิทรรศการแนวทางอนุรักษ์ พัฒนาและใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรท้องถิ่นอย่างยั่งยืน 2) นิทรรศการแนวทางการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนบนงานฐานทรัพยากรท้องถิ่นและสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน 3) นิทรรศการโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ และศูนย์แม่ข่ายประสานงานทั้ง 4 แห่ง 4) การประชุมวิชาการและนิทรรศการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนและฐานทรัพยากรท้องถิ่นระดับภูมิภาค และ 5) International Symposium on “The History of Food and Culture” แสดงถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาผ่านการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากฐานทรัพยากรท้องถิ่น จนกลายมาเป็นวัฒนธรรมทางด้านอาหารและเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชุมชนชาวโคราชในอดีต
การกำหนดพื้นที่จัดนิทรรศการ แบ่งเป็น Zone A เป็นพื้นที่นิทรรศการผลงานศูนย์แม่ข่ายประสานงาน อพ.สธ. และศูนย์ประสานงาน อพ.สธ. นิทรรศการหน่วยงานร่วมสนองพระราชดำริ พื้นที่นิทรรศการ Zone B จัดแสดงซุ้มนิทรรศการงานสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน และ พื้นที่นิทรรศการ Zone C จัดแสดงซุ้มนิทรรศการงานฐานทรัพยากรท้องถิ่น รวมนิทรรศการกว่า 128 หน่วยงาน การจัดพื้นที่กิจกรรมสันทนาการ การแสดงบนเวที รูปแบบการจัดงานและกิจกรรมต่าง ๆ วางแผนให้สอดคล้องกับแนวทางการจัดงานอย่างยั่งยืน (Sustainable Event) โดยมีการคำนวณฟุตพรินต์ที่เลี่ยงได้จากการจัดงานในครั้งนี้ ซึ่งจะเก็บข้อมูลต่าง ๆ รวม 5 ด้าน ได้แก่ อาหาร การเดินทาง ส่วนตกแต่ง การใช้พลังงานไฟฟ้า และเอกสารแจกในงาน และขอความร่วมมือของหน่วยงานที่เข้าร่วมในงาน “เลี่ยง” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการจัดกิจกรรมต่างๆ ระหว่างงาน นอกจากนั้นมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
• กิจกรรมทัศนศึกษาดูงานภายในศูนย์ อพ.สธ. คลองไผ่ พิพิธภัณฑ์ อพ.สธ. กิจกรรมย้อมสีธรรมชาติ ชิมชาสมุนไพร นั่งรถไฟฟ้าจำลอง ถ่ายรูปเช็คอินทุ่งดอกไม้ ตลาดต้นไม้ ตลาดสินค้าหัตถกรรมชุมชน ฯลฯ
• กิจกรรมนำชมสวนพฤกษศาสตร์ศูนย์ อพ.สธ. ที่ประกอบด้วยพื้นที่รวบรวมพรรณไม้สำคัญ สวนสมุนไพร และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ
• กิจกรรมการสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่นและปราชญ์ชาวบ้านเช่น การย้อมสีธรรมชาติ การทอผ้า การจักสาน หัตถกรรมพื้นบ้าน
• กิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ เช่น โรงไฟฟ้าใต้พิภพ ศูนย์เรียนรู้ลำตะคอง กฟผ. ทุ่งกังหันลม ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก ฯลฯ
• กิจกรรม “มหกรรมอาหาร วัฒนธรรมและของดีเมืองโคราช” และการจำหน่ายสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์
• กิจกรรมการปลูกป่า “โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” จัดกิจกรรมเชิงอนุรักษ์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้
พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรมภาคอีสาน ณ เวทีกลาง และพร้อมศูนย์จำหน่ายอาหาร เพื่อให้บริการผู้เข้าชมทุกวัน