วันที่ 7 พ.ย.67 รศ.ทวิดา กมลเวชช พร้อมด้วย นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารสำนักการโยธา สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แถลงข่าวชี้แจงกรณีการเปลี่ยนพื้นที่สร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยจาก อ.สามพราน จ.นครปฐม มาเป็นที่เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร
รศ.ทวิดา กล่าวว่า จากเดิมโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย สามพราน ระยะที่ 1 (สถานีฝึกกู้ภัย) และระยะที่ 2 (อาคารฝึกอบรมและอาคารที่พัก) กำหนดที่ตั้งโครงการบริเวณตำบลท่าตลาด อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พื้นที่รวม 57 ไร่ 3 งาน ซึ่งตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมชุมชนอ้อมใหญ่ จังหวัดนครปฐม พ.ศ. 2562 พื้นที่ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภท ก. (วัตถุประสงค์เพื่อสงวนและรักษาเป็นย่านชนบทและเกษตรกรรมริมแม่น้ำนครชัยศรี) และ ย.1 (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยในเขตเกษตรกรรมริมแม่น้ำนครชัยศรี) ซึ่งหากดำเนินโครงการในพื้นที่ดังกล่าวต่อไป อาจกระทบการก่อสร้างอาคารหอพักผู้ฝึกอบรมเพื่อรองรับผู้พักจำนวนมากตามรูปแบบที่ได้มีการศึกษาไว้ ส่งผลให้ผู้ฝึกอบรมต้องไปพักค้างนอกพื้นที่โครงการ ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ รูปแบบกิจกรรมการฝึกอบรม และประโยชน์ใช้สอยภาพรวม
สำหรับแบบก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัย ประกอบด้วย อาคารบรรยายฝึกอบรม อาคารที่พักอาศัย และอาคารสถานีฝึกกระจายอยู่ในพื้นที่ โดยกรณีหากมีห้องชุดหรือห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 4,000 ตร.ม.ขึ้นไป จะต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งการดำเนินการไม่ทราบกำหนดเวลาแน่ชัด และหากไม่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการฯ EIA จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกรุงเทพมหานคร ส่วนการพิจารณาปรับลดจำนวนห้องพักเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและกรอบเวลางบประมาณ ก็จะส่งผลให้การดำเนินโครงการไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของผลการศึกษาโครงการฯ ที่กำหนดไว้ตั้งแต่ต้น
ด้วยเหตุผลทั้งในเรื่องกฎหมายผังเมือง และการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินโครงการตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ จึงได้มีการพิจารณาปรับเปลี่ยนพื้นที่ก่อสร้างใหม่มาอยู่ในกรุงเทพฯ และพิจารณาพื้นที่ดินของกรุงเทพมหานครเอง ซึ่ง กทม. มีพื้นที่ว่างในเขตหนองจอก จำนวน 78 ไร่ 2 งาน ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์การเรียนรู้มหานคร หนองจอก สังกัดสำนักงาน ก.ก. และเป็นพื้นที่อยู่ในผังเมืองสีน้ำเงิน (ที่ดินประเภทสถานที่ราชการ) ประกอบกับมีอาคารที่พักผู้ฝึกอบรมอยู่เดิม และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ซึ่งจะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์พื้นที่ร่วมกันได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงระหว่างดำเนินการฝึกอบรมหากมีเหตุสาธารณภัยที่ต้องเรียกระดมสรรพกำลังก็สามารถเข้าสนับสนุนพื้นที่ได้รวดเร็วกว่า ไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติราชการในการดูแลชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยระยะแรกศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงสามารถใช้ห้องพักของศูนย์การเรียนรู้มหานคร ระหว่างรอก่อสร้างอาคารที่พักในระยะต่อไป และบริเวณใกล้เคียงมีสนามกีฬาบางกอกอารีน่าของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถใช้เป็นสถานีฝึกอบรมและฝึกสมรรถนะได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ปัจจุบันสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เสนอขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 - 2570 โครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร บริเวณศูนย์การเรียนรู้มหานคร ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณแล้ว