มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเวทีระดมความเห็นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาค ภาคใต้ (SEC) เชื่อมโยงเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ

ผศ.ดร.สมใจ หนูผึ้ง หัวหน้าสถานวิจัย สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน ม.วลัยลักษณ์(มวล.) ในฐานะหัวหน้าโครงการกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรม ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภูมิภาคภาคใต้ (SEC) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มวล. ร่วมกับสำนักวิชาการบัญชีและการเงินพร้อมภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมระดมความคิดเห็นเพื่อกำหนดกลยุทธ์ในการยกระดับระบบวิจัยและนวัตกรรมในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ ภายใต้โครงการการพัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคเพื่อการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค โดยในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก นายบันดาล สถิรชวาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นประธานกล่าวเปิด มีบุคลากร เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคการศึกษาเข้าร่วมกว่า 150 คน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม 9 โรงแรมบรรจงบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ผศ.ดร.สมใจ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการบูรณาการร่วมกันและการให้ความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน โดยกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงอว. ได้มอบหมายให้อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคใต้ดำเนินการ พัฒนาระบบกลไกของอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค เพื่อมุ่งพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ตามที่รัฐบาลได้ประกาศพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ภาคใต้ขึ้น โดยมีพื้นที่เป้าหมายได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพรและระนอง ให้เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาคใต้ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

การจัดกิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยมีเป้าหมาย เพื่อแนะนำโครงการดังกล่าว โดยมีการประชุมกลุ่มย่อยและรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาคม สมาคม ชุมชน สถาบันการศึกษา ในพื้นที่ SEC ที่เกี่ยวข้องกับ อุตสาหกรรมชีวภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และจะมีการนำข้อมูลดังกล่าวไปประกอบการกำหนดทิศทางในระยะยาว เพื่อเป็นกรอบในการวางแผนการดำเนินการมุ่งเป้าอย่างมีประสิทธิภาพ 

“โครงการฯให้ความสำคัญกับการกำหนดวิสัยทัศน์ที่มาจากความต้องการและความคาดหวังของคนในพื้นที่จริง ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจมีทิศทางที่ชัดเจนและสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้ครอบคลุม ทั้งมิติทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีต่อไป” ผศ.ดร.สมใจ กล่าว