องค์การยูนิเซฟ ออกแถลงการณ์ แสดงความยินดีอต่อรัฐบาลไทยต่อมติครั้งสำคัญในการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลแก่บุคคลไร้สัญชาติกว่า 483,000 คน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2527 รวมถึงเด็กประมาณ 142,000 คน ซึ่งเกิดในประเทศไทยและเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ โดยมติคณะรัฐมนตรีครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการขจัดภาวะไร้สัญชาติของเด็ก ยึดมั่นในหลักสิทธิเด็ก และสร้างอนาคตที่ดีให้กับหลายชั่วอายุคนที่ได้อาศัยและมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปี

มติครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลไทยในการสร้างหลักประกันว่า เด็กทุกคนจะได้รับบริการพื้นฐานที่จำเป็น เช่น การศึกษา การรักษาพยาบาล การคุ้มครอง และสิทธิในการมีสถานะทางกฎหมาย และเป็นก้าวสำคัญของรัฐบาลไทยที่ยืนยันว่า เด็กทุกคนควรได้รับโอกาสในการเติบโตและมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในสังคม

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติมากที่สุดในโลก ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย ณ เดือนมิถุนายน 2567 ระบุว่ามีบุคคล ไร้สัญชาติที่ขึ้นทะเบียนแล้ว 592,340 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 169,241 คน ด้วยมติคณะรัฐมนตรีที่จะเปิดโอกาสให้เด็กไร้สัญชาติมากกว่าร้อยละ 83 ได้รับสัญชาติในครั้งนี้นับเป็นก้าวย่างที่สำคัญยิ่ง การจดทะเบียนเกิดของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นความท้าทายยิ่ง จึงมักนำไปสู่วงจรของการไร้รัฐไร้สัญชาติ ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นวงจรที่บั่นทอนสิทธิขั้นพื้นฐานและโอกาสในการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่าง ๆ ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อชีวิตของพวกเขา

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกผู้ก่อตั้งพันธมิตรระดับโลกเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งริเริ่มโดยข้าหลวงใหญ่สหประชาชาติเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ในการประชุมเวทีผู้ลี้ภัยโลกปี 2566 ไทยได้ให้คำมั่นว่าจะแก้ไขปัญหาภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยให้ความสำคัญกับเด็กที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งมติใหม่นี้ได้เปลี่ยนความมุ่งมั่นให้เป็นการกระทำที่เป็นรูปธรรม และจะปลดล็อกศักยภาพของคนไร้สัญชาติในการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

ยูนิเซฟได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยเพื่อส่งเสริมสิทธิของเด็กไร้สัญชาติ และเร่งความก้าวหน้าในการขจัดปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติของเด็ก ยูนิเซฟทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ในพื้นที่และพันธมิตรเพื่อช่วยให้เด็กไร้รัฐไร้สัญชาติและครอบครัวขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการและพัฒนาสถานะบุุคคล อย่างน้อย 5,000 คนต่อปี ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสร้างสถานะทางกฎหมาย ในจังหวัดที่มีเด็กไร้สัญชาติจำนวนมาก องค์การพันธมิตรและยูนิเซฟได้ริเริ่มหน่วยทะเบียนราษฎร์เคลื่อนที่ พร้อมทั้งจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่และองค์กรท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนชุมชนไร้สัญชาติให้ปฏิบัติงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยูนิเซฟได้ทำการวิจัย และรายงานผล เพื่อระบุความท้าทายและแนวทางแก้ไขที่สำคัญสำหรับการดำเนินงานในอนาคต

ในขณะที่เราร่วมยินดีต่อมติที่สำคัญนี้ ยูนิเซฟยังคงมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับรัฐบาลและพันธมิตรในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมติดังกล่าว ทั้งการพัฒนาระบบลงทะเบียนทางช่องทางออนไลน์ และการสนับสนุนที่จำเป็นอื่น ๆ ยูนิเซฟมุ่งหวังที่จะร่วมมือกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อมอบความหวัง ศักดิ์ศรี และโอกาสให้กับเด็กทุกคนในประเทศไทย ตลอดจนสร้างอนาคตที่เด็กทุกคนสามารถใช้ศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็ม