วันที่ 6 พ.ย. 2567 ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคประชาชน เปิดเผยก่อนการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...ว่า ต้องรอดูว่า กรอบเวลาพิจารณาร่างดังกล่าว จะใช้เวลาสั้นหรือนานแค่ไหน แต่หวังว่าการประชุมร่วมกันของสองสภาไม่ควรใช้เวลานาน เนื่องจากมีเพียงประเด็นเดียวที่ยังมีความเห็นต่างกัน คือเรื่องการใช้กติกาเสียงข้างมากหนึ่งชั้นหรือเสียงข้างมากสองชั้น สำหรับการทำประชามติที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายพริษฐ์ ย้ำความเห็นของตัวเองว่า หากรัฐบาลยังยึดแผนเดิม ที่จะให้มีการทำประชามติ 3 ครั้ง และการผูกเงื่อนไขไว้ว่า จะไม่ทำประชามติครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้ พ.ร.บ. ประชามติเสร็จนั้น ตนเกรงว่าจะมีความเป็นไปได้น้อยมาก ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถูกจัดทำโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ให้ถูกบังคับใช้ได้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เนื่องจากความประสงค์ของรัฐบาล คืออยากให้เกิดขึ้นพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่นช่วงต้นปี 68 แต่ในเมื่อวันนี้ที่ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ยังไม่ได้ข้อสรุป จึงทำให้กรอบเวลาดังกล่าว มีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเป็นจริงได้ ซึ่งหนทางเดียวที่จะเป็นไปได้นั้น ก็คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง ตามที่พรรคประชาชนยืนยันมาตลอด ว่าเพียงพอแล้ว
นายพริษฐ์ ยังกล่าวถึงการขอเข้าพบ 3 บุคคลที่มีส่วนสำคัญในเรื่องนี้ คือ 1.ประธานรัฐสภา ซึ่งได้มีการยืนยันว่า จะมีการพบกันในวันที่ 27 พ.ย.67 นี้ คาดว่าในการหารือครั้งนี้ เราจะสามารถคลายข้อกังวล เรื่องการบรรจุร่างดังกล่าวไม่ได้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 และหวังว่าประธานรัฐสภา จะทบทวนการตัดสินใจ และบรรจุร่างดังกล่าว
2.นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่เป็นหัวหน้าฝ่ายรัฐบาล ตนตั้งใจว่าจะเข้าไปหารือ ในการเชิญชวนให้ทุกพรรคการเมืองเห็นตรงกันในการทำประชามติ 2 ครั้ง เพื่อให้ สส.จากทุกพรรคลงมติเห็นชอบกับแนวทางนี้ และเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะให้ สสร.ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รวมถึงขอความร่วมมือจากทุกพรรคการเมือง ในการโน้มน้าว สว.ให้เห็นชอบด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งก็ได้รับทราบว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่จะให้เข้าพบ
3.ศาลรัฐธรรมนูญ แม้ตนจะยืนยันว่าคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ไม่ได้ระบุว่า ต้องทำมาจากประชามติ 3 ครั้ง แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนกับทุกฝ่าย จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากศาลรัฐธรรมนูญจะมาขยายความเพิ่มเติม ว่าหมายถึงขั้นตอนอย่างไร และหมายถึงการทำประชามติกี่ครั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายสบายใจ ในการเดินหน้าตามประชามมติ 2 ครั้ง
สำหรับกรณีที่เสียง สส.ขาด ในการประชุมนัดแรก วาระเลือกประธาน กมธ.นั้น มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อให้คะแนนเสียงของสองสภาเท่ากัน นายพริษฐ์ ระบุว่า การลงมติเป็นการลงมติแบบลับ แต่หากดูจากผลการลงมติก็จะพอคำนวณได้ว่า คะแนนจาก สว. ซึ่งถูกเสนอชื่อเป็นประธาน ได้รับมากกว่าจำนวน สว.ที่เข้าประชุมในวันนั้น หมายความว่า คงมี กมธ.สัดส่วน สส.ไปลงมติให้ แต่เราไม่สามารถรู้ได้ว่ามีใครบ้าง ส่วนเรื่องการเติมรายชื่อนั้น ข้อบังคับไม่ได้เปิดไว้ เพราะ กมธ. มีฝั่งละ 14 คน จึงขึ้นอยู่กับว่าในการประชุมแต่ละครั้งมีตัวแทนจากฝั่งละกี่คน
สำหรับข้อกังวลที่ กมธ.สัดส่วนพรรคภูมิใจไทย อาจจะหนุนเสียงข้างมากสองชั้น ซึ่งสอดคล้องกับ สว. นั้น นายพริษฐ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียด เพราะการคุยกันครั้งก่อน ไม่ได้ลงลึกเรื่องเนื้อหา แต่หากวิเคราะห์จากการลงมติในที่ประชุมสภาใหญ่ จะเห็นว่าทุกพรรคยืนยัน ตามร่างของ สส. มีเพียงพรรคภูมิใจไทยพรรคเดียว ที่งดออกเสียงในวันนั้น จึงอาจจะอนุมานได้ว่า หากจะมีพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่ดูเหมือนจะเห็นด้วยกับการลงมติเสียงส่วนใหญ่ของ สว.ก็อาจจะเป็นพรรคภูมิใจไทย แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ต้องไปคุยกันในชั้น กมธ.
เมื่อถามว่า สว. ได้มีการให้เหตุผลเพิ่มเติมเรื่องการหนุนเสียงข้างมากสองชั้นหรือไม่ นายพริษฐ์ กล่าวว่า ในรอบที่แล้วยังไม่มีการคุยเรื่องเนื้อหา แต่คาดว่าในวันนี้จะได้รับฟังความเห็นของทุกฝ่ายเพิ่มเติมมากขึ้น ซึ่งตนในฐานะ กมธ.คนหนึ่ง ก็ได้ย้อนฟังการประชุม และจดเหตุผลของทุกคนไว้ จึงหวังว่าจะสามารถตอบ ข้อกังวลของ สว.ได้
ส่วนได้มีการประเมินหรือไม่ ว่าจะต้องใช้การประชุมกี่ครั้ง จึงจะได้ข้อสรุป นายพริษฐ์ มองว่า คงต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุม แต่ส่วนตัวมองว่า ไม่ควรใช้เวลานาน เพราะหากยิ่งได้ข้อสรุปเร็ว ก็จะยิ่งทำให้แต่ละขั้นตอนเดินหน้าต่อได้เร็วยิ่งขึ้น ไม่มีเหตุจำเป็นอะไรที่ต้องทำให้การประชุมลากยาว
นายพริษฐ์ ยังยกตัวอย่าง หากเกิดกรณีที่ กมธ.ร่วมได้ข้อสรุปที่สภาไม่เห็นชอบว่า ในเชิงรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ สส.ยังสามารถยืนยันร่างของ สส.ได้ เพียงแต่ต้องบวกเวลาอีก 6 เดือน ที่ต้องถูกยับยั้งไว้ ซึ่งหลายคนก็กังวลว่า จะกระทบกับไทม์ไลน์ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ข้อกังวลตรงนี้จะหายไปทันที ถ้าเรากลับไปใช้กระบวนการลดจากการทำ ประชามติ 3 ครั้ง เหลือ 2 ครั้ง เพราะเวลา 6 เดือนนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์ดังกล่าว
เนื่องจากกระบวนการนี้ ในขั้นตอนแรกไม่ใช่การจะทำประชามติเลย แต่คือการที่สภาพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือก สสร. เพราะฉะนั้น ตนเชื่อว่าหากไปตามแผนนั้น กว่ารัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จ ข้อสรุปเรื่อง พ.ร.บ.ประชามติ ก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว และทำให้ครั้งแรกของการทำประชามติ ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่าน 3 วาระของสภา ไม่ล่าช้าออกไป จากปัญหาการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ
ดังนั้น หากมองในภาพใหญ่ อย่ามองแค่บทสรุปของ กมธ.ในห้องนี้ การหันมาใช้แผนทำประชามติ 2 ครั้ง ก็ดูน่าจะเป็นทางออก ที่ทำให้เราได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ บังคับใช้ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งหน้าได้มากที่สุด และจะทำให้รัฐบาลสามารถรักษาสัญญาที่ได้ให้ไว้กับประชาชนได้ ว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป
เมื่อถามย้ำว่า แปลว่าไม่ได้ให้ความสำคัญกับผลของ กมธ.ประชามติ ใช่หรือไม่ นายพริษฐ์ ยืนยันว่า เราให้ความสำคัญกับทุกเรื่อง แต่การเสนอแบบนี้ จะไม่ทำให้เรื่องนี้ กลายเป็นอุปสรรคต่อแผน