วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์แสดงนิทรรศการนานาชาติอียิปต์ กรุงไคโร สาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ นางสาวซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุม World Urban Forum ครั้งที่ 12 ระหว่างวันที่ 4 – 7 พฤศจิกายน 2567
โดยนางสาวซาบีดา ได้กล่าวแถลงการณ์ประเทศไทย ในการประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Roundtable) ในหัวข้อ "เมืองและที่อยู่อาศัย" ว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาส เป็นตัวแทนของท่านรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล เข้าร่วม World Urban Forum ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ "It All Starts at Home: Local Actions for Sustainable Cities and Communities" วันนี้มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาแบ่งปันความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการพัฒนาเมืองและชนบทอย่างยั่งยืน โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งสนับสนุนการเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในเมือง เมืองกึ่งชน หรือชนบท ความสอดคล้องกับเป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (NUA) เราตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหาที่มุ่งเน้นชุมชน เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการจัดหาที่อยู่อาศัยในราคาที่เข้าถึงได้สำหรับทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการเข้าถึงบริการที่จำเป็นอย่างเท่าเทียม
นางสาวซาบีดา กล่าวว่า ประเทศไทยได้ริเริ่มโครงการเฉพาะด้านโดยยึดมั่นในความรับผิดขอบ เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีใครถูกทั้งไว้ข้างหลัง ปัจจุบันไทยกำลังดำเนินการวางแผนผังเมืองอย่างครอบคลุมในทุกระดับ มีกติกา ข้อบังคับ กฎระเบียบที่มีประสิทธิภาพ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง มีโครงการที่กำลังดำเนินงานในระดับพื้นที่ ร่วมกับองค์ความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ซึ่งมีการบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงานในประเทศไทย ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเมืองแบบองค์รวม เพื่อส่งเสริมการเติบโตแบบคาร์บอนต่ำและการเป็นเมืองที่ฟื้นตัวได้ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และภูเก็ด
โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนิเวศเมืองและพื้นที่สีเขียว เพื่อการบรรเทาปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนจังหวัดขอนแก่นได้ขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองคาร์บอนต่ำ การใช้พลังงานสะอาด การใช้รถยนต์ พลังงานไฟฟ้า เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมในเมือง รวมถึงการพัฒนาเมืองและชุมชนเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง เน้นการปรับปรุงพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทาง กำหนดรูปแบบการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อสร้างชุมชนรอบสถานีให้เป็นชุมชนที่มีคุณภาพชีวิตดีและน่าอยู่อาศัย ขณะที่จังหวัดภูเก็ตได้ขับเคลื่อนการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเมือง อาทิ วิธีการออกแบบเมืองแบบธรรมชาติ ด้วยการปรับปรุงภูมิทัศน์ โครงสร้างเมืองพื้นฐานที่ตั้งรับและปรับตัวเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ
รมช.มหาดไทย กล่าวอีกว่า แนวทางนี้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้ เสริมสร้างการวางแผนเชิงพื้นที่ของเมือง โดยมีโครงสร้างพื้นฐานเมือง ที่สนับสนุนการออกแบบเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเกษตรชุมชน รวมถึงมุ่งเน้นการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติและวัฒนธรรม เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป ด้วยความพยายามเหล่านี้ กระทรวงมหาดไทยและพันธมิตรตั้งเป้าที่จะสร้างเมืองและชุมชนที่ตั้งรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย ความมั่นคง สร้างโอกาส และความสุข
สิ่งสำคัญในอนาคตคือการส่งเสริมการวางแผน ผังเมืองที่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืนในอนาคต โดยอาศัยความร่วมมือ การเรียนรู้ และการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปในขณะที่เรายังคงเดินต่อไปในเส้นทางนี้ จึงขอเชิญชวนพันธมิตรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกท่านที่อยู่ที่นี่ มาร่วมกันสร้างอนาคตที่เคารพสิ่งแวดล้อมโลก ยกระดับชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน
นอกจากนี้ นางสาวซาบีดา ยังได้เข้าร่วมรับฟังการสนทนาที่ 2 ในหัวข้อ “เมือง และวิกฤตการณ์ทางสภาพภูมิอากาศ” พร้อมกับเยี่ยมชมนิทรรศการภายในงาน It All Starts at Home: Local Actions for Sustainable Cities and Communities และเยี่ยมชมงาน Urban Expo ที่มีบูธจากประเทศไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ร่วมกับ ภาคเอกชน Urban Solutions จัดแสดงนิทรรศการการพัฒนาพื้นที่เฉพาะของประเทศไทย และบูธจากมหาวิทยาลัยไทย (มธ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยในกลุ่มประเทศเอเชีย แปซิฟิก