"เท้ง ณัฐพงษ์" ทวิตปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่สัมปทาน

วันที่ 6 พ.ย.67 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ทวิตข้อความผ่าน X ระบุว่า...

ปกป้องผลประโยชน์ชาติ กรณีไทย-กัมพูชา ประเด็นแท้จริงอยู่ที่ “สัมปทาน”

กรณีพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน หรือ OCA ระหว่างไทยกับกัมพูชา ขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตร ที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอย่างกว้างขวางในสังคมขณะนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประชาชนคนไทยทั้งประเทศ เพราะเกี่ยวพันอย่างมีนัยสำคัญถึงความพยายามในการนำทรัพยากรปิโตรเลียมจากอ่าวไทยขึ้นมาใช้ประโยชน์ เป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล และรัฐบาลไทยได้พยายามดำเนินการเรื่องนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ 

ผมอยากชี้ชวนพี่น้องประชาชนให้เห็นถึงประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ ว่ามีมากกว่าเรื่องเกาะกูด และการปักปันเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาที่เป็นที่สนใจกันอยู่ 

เราเสี่ยงที่จะเสียอธิปไตยเหนือเกาะกูด จากการเจรจา OCA และการพยายามเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA หรือไม่? 

ประเด็นนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ยืนยันชัดเจนแล้วว่าไทยไม่เคยลงนามใดๆ ที่มีผลผูกพันยอมรับเส้นแบ่งเขตแดนที่กัมพูชาอ้างสิทธิเหนือเกาะกูด และ MOU ปี 2544 อันเป็นการจัดทำบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน เป็นเพียงความตกลงกำหนดกรอบและกลไกการเจรจาระหว่างกัน และ “รับทราบ” การลากเส้นอาณาเขตทางทะเลของแต่ละฝ่าย ไทยรับทราบจุดยืนกัมพูชา กัมพูชารับทราบจุดยืนของไทย ว่ามีความแตกต่างกัน ไม่ใช่การที่ไทย “ยอมรับ” เส้นอาณาเขตทางทะเลที่กัมพูชาอ้างสิทธิ์แต่อย่างใด 

ดังนั้น จึงเป็นที่ชัดเจนแล้วทั้งในทางกฎหมายและในทางปฏิบัติว่าเกาะกูดเป็นของไทย และกัมพูชาก็ไม่เคยอ้างหรือมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนของเกาะกูดแต่อย่างใด ดังนั้นเกาะกูดไม่มีทางจะเป็นของชาติอื่นแน่นอน

แต่เรื่องน่ากังวลที่ยังไม่ได้พูดถึงกันมากนัก ก็คือการจัดการผลประโยชน์เหนือแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA อันถือเป็นสมบัติชาติที่มีมูลค่ามหาศาล 

ดังนั้น ผมข้อตั้งคำถามต่อรัฐบาล ถึงแผนการจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ดังนี้

1. หากไทยกับกัมพูชาเจรจากันเป็นผลสำเร็จ จนนำไปสู่การเปิดแหล่งปิโตรเลียมได้ สัมปทานเหนือพื้นที่ที่ไทยเคยให้แก่บริษัทต่างๆ ทั้งของไทยและต่างชาติตั้งแต่ปี 2515 แต่ถูกแช่แข็งไว้เนื่องจากยังไม่สามารถตกลงเรื่องการอ้างสิทธิทับซ้อนกันได้ จะมีการจัดการอย่างไร จะเปิดประมูลใหม่หรือไม่

2. หากมีการเปิดประมูลใหม่ รัฐบาลจะจัดการอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ไม่ละเมิดกติการะหว่างประเทศ และทำให้ประชาชนเชื่อได้ว่าความพยายามในการเจรจากับกัมพูชาหลายสิบปีที่ผ่านมาเพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียมนี้ เป็นไปเพื่อผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชนชาวไทย ไม่ใช่การเปิดช่องให้กลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่งเข้ามาแสวงหาความมั่งคั่งจากทรัพยากรอันเป็นของคนไทยทั้งประเทศ เหมือนกับที่ประชาชนเกิดข้อครหาต่อท่าทีและนโยบายพลังงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา

ผมยืนยันว่าพรรคประชาชนสนับสนุนให้มีการใช้ประโยชน์จากแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเปลี่ยนผ่านที่โลกจะเข้าสู่ยุคพลังงานสะอาดอย่างสมบูรณ์ แต่เราต้องการให้ทรัพยากรอันเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทย ถูกจัดสรรอย่างโปร่งใส เป็นธรรม เพื่อความมั่งคั่งและความมั่นคงทางพลังงานของประชาชนทั้งชาติ 

ปัญหาใหญ่ที่สุดตอนนี้ คือ ประชาชนไทยรู้สึกระแวงแคลงใจต่อเป้าประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาล ในการเร่งเจรจาเขตแดนพื้นที่ OCA เพื่อเปิดแหล่งปิโตรเลียม ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสัมปทาน หรือมีการแถลงแนวทางที่ชัดเจนในการบริหารทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่ OCA จะช่วยคลายความกังวลและข้อครหาต่างๆ ที่มีต่อรัฐบาลลงได้มาก และทำให้การเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน รวมถึงการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมเดินหน้าไปได้โดยราบรื่น