"ภูมิธรรม" ย้ำ "เกาะกูด" เป็นของไทย บอกนายกฯประกาศจะรักษาเกาะกูดเท่าชีวิต สวน พปชร. ให้ไปถาม "บิ๊กป้อม" เคยเป็นหัวหน้าชุดเจรจาเอ็มโอยู 44 ด้าน "วราวุธ" ขออย่านำปมเกาะกูดมาเป็นประเด็นการเมืองระหว่างประเทศ เชื่อรัฐบาลไม่ยอมให้ไทยเสียเปรียบ ขณะที่"อนุทิน" จ่อลงพื้นที่เกาะกูดสัปดาห์หน้า หลังประชาชนกังวลจะเสียพื้นที่ให้กัมพูชา

        
 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พ.ย.67  ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะดูแลหน่วยงานด้านความมั่นคง กล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทยกัมพูชา (JTC) เพื่อหารือกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือเอ็มโอยู 44 ของ 2 ประเทศ จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เมื่อไร ว่า เป็นเรื่องของกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องพิจารณา แต่ทางคณะกรรมการเดิม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการจะมีกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน ตัวแทน กรมสนธิสัญญา กฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น คณะกรรมการชุดใหม่ก็ต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้พิจารณา แต่ขณะนี้ตนยังไม่เห็นรายละเอียด
       
  ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุหากยกเลิกเอ็มโอยู 44 ไทยอาจจะเสียประโยชน์มากกว่า นายภูมิธรรม กล่าวว่า เรื่องเอ็มโอยู 44 ต้องกลับไปดูสนธิสัญญาไทย-ฝรั่งเศส ตอนนั้นฝรั่งเศสได้ขอพระตะบอง เสียมราฐ ศรีโสภณ และยกฝั่ง จ.ตราด และเกาะต่างๆ ให้ไทย ดังนั้นเกาะกูดหากยึดตามสนธิสัญญาดังกล่าว การแบ่งเส้นเขตแดน จึงเห็นว่าเกาะกูดเป็นของไทยมาตั้งแต่ต้นไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงและทางกัมพูชาก็ไม่ได้เคลมเรื่องนี้ รวมถึงยอมรับในสนธิสัญญาดังกล่าว ดังนั้นการนำมาเป็นประเด็นว่าจะยกเกาะกูดให้จึงไม่เป็นจริง และไม่เกี่ยวกับเอ็มโอยูดังกล่าว
       
  ยืนยันว่าเกาะกูดเป็นของไทย 100% และนายกฯได้ประกาศแล้วว่าเราจะไม่ยอมเสียดินแดนตรงนี้ไป และรักษาไว้เท่าชีวิต ซึ่งขณะนี้เรามีหน่วยงานราชการต่างๆ อยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และขอให้ยุติเรื่องนี้เพราะเป็นคำพูดที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง 
       
  นายภูมิธรรม กล่าวอีกว่า สมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี ตอนนั้นกระทรวงการต่างประเทศเสนอให้ยกเลิกเอ็มโอยู 44 เพราะมีแรงกดดันทั้งประเด็นปราสาทพระวิหาร และเรื่องชายแดนต่างๆ ซึ่งรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ได้แค่รับหลักการไปดูรายละเอียด และกระทรวงการต่างประเทศก็ได้ขอความเห็นจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทุกหน่วยงานยืนยันว่าเอ็มโอยู 44 เป็นกลไกที่ดีที่สุดในการเจรจา และที่บอกว่าสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ยกเลิกนั้นไม่จริง และในปี 2557 สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ดำเนินการต่อโดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะอดีตรองนายกรัฐมนตรี กำกับด้านความมั่นคง ไปเจรจาเรื่องเอ็มโอยู 44 ดังนั้นมองว่าไม่ว่าส่วนใดหรือพรรคการเมืองใดพูดเรื่องนี้ควรกลับไปดูประวัติศาสตร์ และข้อตกลงระหว่างสยามฝรั่งเศส จึงอย่าถามอะไรที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง และหากถามนอกเหนือจากกรอบดังกล่าวก็คงต้องหาคำตอบกันเอง และสำหรับประเด็นนี้ตนจะไม่ตอบอีกแล้ว
       
  เมื่อถามว่า มองอย่างไรที่กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐออกมาโจมตีเรื่องนี้ทั้งที่ปี 2557 พล.อ.ประวิตรเป็นประธานเจรจาเรื่องดังกล่าว นายภูมิธรรม กล่าวว่า กลุ่มการเมืองพรรคพลังประชารัฐก็ต้องกลับไปดูว่าหัวหน้าพรรคไปเจรจาเอ็มโอยู 44 ทั้งหมดเหมือนกัน ถ้าถามแบบนี้พลังประชารัฐก็ต้องกลับไปถามหัวหน้าพรรคตัวเอง ว่าตอนนั้นทำไมถึงไปเจรจา 
      
   ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเพราะสายสัมพันธ์ของ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กับผู้นำกัมพูชาหรือไม่ ที่ทำให้ประเด็นดังกล่าวถูกหยิกยกมาโจมตีในรัฐบาล นายภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่เกี่ยวเลย เพราะประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องของรัฐบาล ส่วนการพูดโจมตีประเด็นไหนก็ต้องไปถามเหตุผลเขา แต่ตนคิดว่าควรยืนยันข้อเท็จจริง และหากถามมาก็ทำให้ภายในแตกแยก และวันนี้ต้องไปดูว่าต่อรองผลประโยชน์ทางทะเลได้อย่างไร แต่เรื่องนี้ถูกขุดขึ้นมาโดยที่ยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย
       
  ด้าน นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ กัมพูชาและไทยไม่ได้มีประเด็นปัญหาเกี่ยวกับเกาะกูดเลย เนื่องจากกัมพูชาไม่ได้มีความสนใจในพื้นที่ตรงนี้ตั้งแต่แรก และเส้นเขตแดนนั้น ไม่มีเกาะกูดเข้ามาเกี่ยวข้อง
        
 เชื่อว่าทุกพรรคการเมือง โดยเฉพาะนายกฯ เตะทิ้งไปได้ ไม่ได้อยู่ในข้อสังเกต ข้อกังวล ของเอ็มโอยู 44 แต่ประเด็นที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการที่ประเทศไทยใช้มาตรการลากเส้นแบ่งเขตแดนแบบหนึ่ง แต่กัมพูชาใช้อีกแนวคิดหนึ่ง ซึ่งไม่ตรงกัน จึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมา และพื้นที่ทับซ้อนตรงนี้ ก็มีทรัพยากรที่อยู่ใต้ดิน คือปิโตรเลียม จึงทำให้ต้องมีการพูดคุยกัน
       
  นายวราวุธ กล่าวยืนยันว่า ไม่ใช่ข้อขัดแย้ง แต่เมื่อมีความเห็นไม่ตรงกัน จึงต้องมีคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-กัมพูชา (JTC) เกิดขึ้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ได้มีการปรึกษาหารือกันโดยตลอด แต่เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลจาก นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี มาสู่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี จึงทำให้ต้องมีการตั้งเจทีซีของไทยขึ้นมาใหม่ ขณะที่เจทีซีกัมพูชายังมีอยู่  สุดท้าย ตนขอฝากประชาชนว่าอย่าเอาประเด็นการเมืองมาสู่ความขัดแย้งระหว่างประเทศ เพราะเป็นคนละประเด็นกัน การทำงานระหว่างไทยและกัมพูชา เป็นการพูดคุยและหารือ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมโดยเร็วที่สุด ไม่ได้มีความขัดแย้ง และที่สำคัญไม่ได้เกี่ยวข้องกับอธิปไตยของเกาะกูดแต่อย่างใด 
       
  ย้ำว่าเกาะกูดยังเป็นอำเภอหนึ่งที่อยู่ในจ.ตราดของไทย ไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ ทั้งสิ้น ขอยืนยันว่าเราจะไม่มีการเสียเปรียบกัมพูชา และไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของใครทั้งนั้น ซี่งการที่สองประเทศมีความคิดต่างกัน จึงจำเป็นต้องมาพูดคุยกับนโต๊ะ โดยรัฐบาลดำเนินการเต็มที่ และจะไม่ให้เสียผลประโยชน์ของประเทศไทย
        
 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้าเตรียมลงพื้นที่เกาะกูด จ.ตราด เพื่อไปสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ หลังเกิดกรณีการทำบันทึกข้อตกลงไทย-กัมพูชา หรือเอ็มโอยู 44 เกี่ยวกับกรอบเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย  กัมพูชา ทำให้เกิดความกังวลว่าจะเสียเกาะกูดไปให้กับประเทศกัมพูชา และถือโอกาสไปตรวจราชการ เพื่อติดตามความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่