'นายกฯอิ๊งค์' พร้อมให้ความร่วมมือเรื่องตรวจสอบเวชระเบียนชั้น 14 บอกไม่กังวลกระทบภาพลักษณ์รัฐบาลเดินสายต่างประเทศร่วมเวทีระดับโลก แจงขอปปช.ขยายเวลายื่นบัญชีทรัพย์สิน  เหตุกลัวยื่นไม่ทันเพราะงานรุม ทวียินดีให้ข้อมูลปปช.ปมขอเวชทะเบียนทักษิณ ยันไม่มีสักนาทีเดียวที่ออกจากห้องรักษาตัวรพ.ตำรวจ


 ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 5 พ.ย.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียกขอเวชระเบียน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  จากโรงพยาบาลตำรวจถึง 3 ครั้ง ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และในฐานะลูกสาวจะดำเนินการเรื่องนี้อย่างไร ว่า เรื่องนี้ให้เป็นไปตามกระบวนการยินดีให้ความร่วมมืออยู่แล้ว รัฐบาลเองยินดีให้ความร่วมมือไม่ว่ากระบวนการจะเป็นอย่างไรก็ตาม แต่ไม่ค่อยแน่ใจว่าเปิดเผยได้มากน้อยแค่ไหน หากตามกฎหมายเปิดเผยได้ก็ตามนั้นเลย

 เมื่อถามว่า ได้ปรึกษาเรื่องดังกล่าวกับ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า กับผบ.ตร.ตนยังไม่ได้คุยเรื่องนี้ แต่เห็นว่าชี้แจงแล้วเป็นเรื่องของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ความจริงอยากให้เป็นไปตามกระบวนการเพราะก็ต้องมีคณะกรรมการในเรื่องนี้อยู่แล้ว ตนไม่ได้เข้าไปแทรกแซงอะไร เมื่อถามว่า จะรับมือกับกระแสเรื่องนี้อย่างไร เพราะหากทำก็เหมือนช่วยพ่อ แต่ถ้าไม่ทำก็ เหมือนไม่ช่วย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ก็ขอให้ยึดหลักตามกระบวนการละกันว่าต้องทำอะไรบ้าง 1 2 3 4 ส่วนในฐานะนายกรัฐมนตรีเอง ก็ต้องว่ากันไปตามนั้น รัฐบาลก็ยินดีให้ตรวจสอบอยู่แล้ว ก็จะได้ไม่กระทบต่อรัฐบาลด้วย

 ผู้สื่อข่าวถามว่า การเดินสายไปต่างประเทศของนายกรัฐมนตรี หากสื่อต่างประเทศถามเรื่องดังกล่าวจะชี้แจงอย่างไร น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยินดีตอบแน่นอน เมื่อถามย้ำว่า จะส่งผลกระทบกับภาพของนายกรัฐมนตรีในการเดินสายหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ไม่เกี่ยว การเดินสายไปเวทีโลก ต้องการเอาสินค้าของไทยไปขาย และต้องการเปิดตลาดให้กับคนไทยให้มีโอกาสมากขึ้น มีทางหารายได้เข้าประเทศมากขึ้น เพราะการปรับโครงสร้างหนี้ครัวเรือนอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยการสร้างรายได้ใหม่ๆด้วย ไม่ว่าจะซอฟต์พาวเวอร์ สินค้าเกษตร ฟู้ด สเคียวรีตี้ ทุกอย่างอยู่ในหัว เพื่อไปพูดคุยกับทุกประเทศเพิ่มโอกาสให้ประเทศเรา

 น.ส.แพทองธาร ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุขอขยายเวลายื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่า กลัวว่าจะยื่นไม่ทันเพราะงานทุกอย่างรุมล้อม เรื่องการแสดงบัญชีทรัพย์สินอย่างไรก็ต้องแสดงอยู่แล้ว การขอขยายเวลาก็เพื่อที่จะทำให้ละเอียด และครบถ้วนขึ้น โดยทางครอบครัวได้ช่วย

 เมื่อถามว่า ได้มีการจัดการเกี่ยวกับเรื่องหุ้นมีการโอนหรือขายไปแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า มีการจัดการทุกอย่างไปแล้ว ต้องเอาข้อกฎหมายมาดูว่าจะทำอย่างไร โดยสามีและพี่สาวก็ช่วยดูเรื่องนี้ควบคู่กับดูข้อกฎหมาย ส่วนว่าเป็นการโอนหรือขายให้แม่หรือพี่สาว ขอให้รายละเอียดทีหลัง ขอยังไม่ตอบเรื่องนี้
 
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียกขอเวชระเบียน นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ถึง 3 ครั้ง แต่กลับไม่ได้รับ ว่า เรายินดี และยืนยันว่าเราปฏิบัติตามกฎหมาย สังคมอาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากในเรือนจำมี 3 ความเข้าใจคือ1. เรือนจำเลย 2. ในโรงพยาบาล 3.ที่คุมขังอื่น
 
อันนี้อยู่ในกฎหมาย และกฎหมายดังกล่าวถูกแก้ในสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ซึ่งเป้าหมายเพื่อต้องการลดความแออัด แต่ไม่ว่าอยู่ที่ใดเราจะปฏิบัติเหมือนกับอยู่ในเรือนจำ ดังนั้นจึงเชื่อว่าทางเรือนจำจะส่งหลักฐานในกรณีของนายทักษิณไปให้ ซึ่งไม่มีสักนาทีที่นายทักษิณออกจากห้องรักษาตัวเช่นเดียวกับนักโทษทั่วไปที่ออกไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลอื่นๆ เช่นกัน ทั้งไปกลับและข้างคืน
 
พ.ต.อ.ทวี กล่าวยืนยันว่า ยินดีจะให้ข้อมูล แม้แต่กรณีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทำหนังสือมา และผู้ตรวจการแผ่นดินมีคำวินิจฉัย เรื่องเดียวกันผู้เสียหายคนเดียวกัน แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินบอกว่าไม่มีความผิด แต่คณะกรรมการสิทธิมนุษชนมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิ ในทางกฎหมายถ้าหน่วยงานอิสระ รับไว้ตรวจสอบ อีกองค์กรหนึ่ง ไม่ควรจะมีความเห็นต่างกันมันอยู่ในเอกสาร แต่อย่างไรเราก็จะให้ความร่วมมือและพร้อมจะชี้แจง
 
เมื่อถามว่า ความเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่าง 2 หน่วยงาน จะทำให้ได้เปรียบในการชี้แจงหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบละเอียด แต่กรรมการสิทธิฯไม่ได้สอบ ผู้ตรวจการแผ่นดินสอบเพียงพยาน และตามรายงานก็ได้เข้าไปพบนายทักษิณด้วย เมื่อถามว่า การอนุญาตให้เข้าเยี่ยม ถือว่าอยู่ในอำนาจของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า การเยี่ยมอยู่ในระเบียบของการเยี่ยม เราชี้แจงไปแล้ว แต่ก็สามารถขอหลักฐานได้ การพูดของคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่เรื่องหลักฐานนั้นสำคัญ ยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการ เราจะไม่ทำอะไรนอกเหนือกฎหมาย เมื่อถามว่า ได้รับรายงานว่า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้าเยี่ยมนายทักษิณหรือไม่ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ไม่ได้รับรายงาน และเรื่องนี้เป็นเรื่องของกรมราชทัณฑ์
 
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์อีกครั้งถึงกรณีที่ นายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรคประชาชน ขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อหารือถึงการแก้รัฐธรรมนูญ ว่า รับฟังอยู่แล้ว มีอะไรก็ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคุยกัน หรือจะคุยกันอย่างเป็นทางการก็ได้ เมื่อถามว่า ได้มีการส่งหนังสือขอเข้าพบนายกรัฐมนตรีมาแล้วหรือยัง น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ยังไม่มี ได้ยินจากสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก เมื่อถามว่า หากติดต่อมาจะให้พบหรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ไม่ได้ติดอยู่แล้ว เมื่อถามว่า นายพริษฐ์กังวลว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ จึงอยากจะเข้ามาขอความร่วมมือ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราก็ต้องทำในส่วนที่ทำได้และถูกต้อง เพราะถ้าระยะยาวไปก็จะมีปัญหาภายหลัง ตนมาอยู่ตรงนี้ก็ทราบในเรื่องของปัญหาต่างๆ จำนวนมาก ถ้าเรารีบในกระบวนการจนเกินไปนอกจากจะไม่ได้ผลลัพธ์แล้วเราอาจจะโดนฟ้องกันด้วย อันนี้ก็ต้องช่วยกันดูนิดนึง
 
ผู้สื่อข่าวถามว่า ธงของรัฐบาลคือต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐบาลชุดนี้ใช่หรือไม่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า เราต้องรับฟังความคิดเห็นให้ครบและต้องคุยกันว่าไทม์ไลน์จะเอาอย่างไรกันบ้าง พรรคเพื่อไทยก็ได้มีการหาเสียงไว้อยู่แล้ว ฉะนั้น จะต้องมาพูดคุยกัน โดยจะต้องไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด1-2 ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลได้พูดคุยไว้แล้ว เมื่อถามว่า ในฐานะที่เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย มองว่ารัฐธรรมนูญหมวดใดเป็นอุปสรรคมากที่สุด น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ถามแบบนี้ก็จะเปิดให้มีการโต้แย้ง แต่แน่นอน เราก็ต้องทราบอยู่แล้วว่าต้องทำให้เอื้อต่อประชาธิปไตยและเอื้อต่อประชาชนให้มากที่สุด ตนขอตอบแบบนี้ก็แล้วกัน
       
  นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมร่วมรัฐบาลตามคำเชิญของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ว่า ได้รับแจ้งว่านายกรัฐมนตรีได้เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลมาพูดคุย น่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรืออะไรต่างๆ ซึ่งตนต้องฟังที่ประชุม เพราะเป็นการหารือโดยที่ไม่มีเอกสาร หรือวาระประชุมใดๆ เป็นการหารือทั่วไป และเป็นไปตามที่นายกฯ เคยพูดไว้ว่า ถ้ามีประเด็นอะไรให้มันเป็นทางการน้อยๆ หารือกันในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล เดี๋ยวก็ไปฟัง เมื่อหารือเสร็จ ท่านคงมีข้อมูลมาให้ผู้สื่อข่าว 
       
  ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคภท.ไม่ปลื้มโครงการหรือนโยบายใดๆ ของรัฐบาลหรือไม่ ที่จะนำมาหารือ นายอนุทิน กล่าวว่า ไม่มีอะไร ไม่ปลื้มเลย ทำงานด้วยกัน เมื่อถามถึงกรณีการแก้ไขสัญญารถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งมีกระแสข่าวพรรคร่วมรัฐบาลไม่ปลื้ม ได้ยินเรื่องนี้บ้างหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ยังไม่เคยได้ยินเลย
       
  นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กรณีที่ นายนิกร จำนง ประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา ระบุอาจทำประชามติไม่ทันการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 68 ว่า การดำเนินการเรื่องนี้ ยังถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ชัดเจนแล้วว่า ในการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปีหน้า จะไม่ทันการทำประชามติ ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 70 ก็อาจจะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทัน
      
   นายวราวุธ กล่าวต่อว่า การทำงานเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หัวใจสำคัญอยู่ที่รัฐบาลชุดนี้ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อจัดตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพราะกลไกการทำงานแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อมี สสร.แล้ว อายุ หรือสถานะของ สสร. ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวาระของสภาชุดนี้ เนื่องจากสภาจะครบวาระในวันที่ 13 พฤษภาคม 70 หากมีการตั้ง สสร. ได้ก่อนหน้านั้น การดำเนินการของ สสร. ก็จะสามารถดำเนินการไปโดยที่ไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภา
       
  นายวราวุธ กล่าวยกตัวอย่าง สมัยรัฐบาลของนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงสมัยของรัฐบาลภายใต้การนำของนายบรรหาร แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ สสร. และแม้ว่ารัฐธรรมนูญ 40 ไม่ได้ประกาศใช้ในช่วงรัฐบาลนั้น แต่ประชาชนก็ยังได้รับประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้
        
 ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลชุดนี้ ขออย่าเพิ่งหมดหวัง หัวใจสำคัญคือ การเร่งดำเนินการให้เต็มที่ เพื่อให้เกิด สสร.ขึ้นมา รวมถึงจะมีกลไกในการรับฟังความคิดเห็นประชาชนทุกพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การได้มาของรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับของประชาชนอย่างแท้จริง
       
  สำหรับการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ก็อย่าเพิ่งกังวลว่าเราจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะกฎหมายเลือกตั้งเป็นกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้ต้องแก้ที่ตัวรัฐธรรมนูญอย่างเดียว ยังมีสภาที่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตราต่างๆ ได้ เว้นแต่กติกาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากมีประเด็นใดที่อยากจะแก้ ก็สามารถใช้สภาในการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งได้ จึงอยากฝากเป็นข้อสังเกต และให้กำลังใจกับรัฐบาล
       
  สำหรับกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ มีแนวทางมาค่อนข้างชัดเจน ว่าการแก้ มาตรา 256 จะต้องมีการทำประชามติก่อน ซึ่งเมื่อจัดทำ สสร.แล้ว จะมีการทำประชามติอีกครั้งหนึ่ง แต่จะเป็น 2 หรือ 3 ครั้งนั้น ย้ำว่า ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงานเสียดีกว่า เพราะหากทำการลัดขั้นตอน แล้วเกิดปัญหา ความพยายามตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จะกลับไปที่ศูนย์ใหม่ หากเพิ่มเวลาอีกนิด ทำประชามติตามขั้นตอน ท้ายที่สุดแล้วจะคุ้มค่าเงิน
       
  นายวราวุธ ยังกล่าวด้วยว่า เครดิตของการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ ไม่ได้แปลว่ารัฐธรรมนูญจะต้องประกาศใช้ในรัฐบาลนั้นๆ แต่การที่ทำให้เกิด สสร. คือหัวใจสำคัญมากกว่า เพราะเป็นที่มาที่ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ ฉันใดฉันนั้นเหมือนสมัยรัฐบาลของนายบรรหาร