วันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นายกุลพัชร ภูมิใจอวด ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน พร้อมด้วย นายสุทธิโรจน์ คำมั่น ผู้อำนวยการกองทรัพยากรบุคคล นายธนัทเทพ จิระประวัติตระกูล ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และนายสุทธิรักษ์ อุฒมนตรี ผู้อำนวยการกองประชาสัมพันธ์และสื่อสารองค์กร เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฏิบัติการสร้างความเข้าใจ การขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ปี 2568 ณ รร.ทาวน์ อิน ทาวน์ เขตวังทองหลาง กทม. จัดโดย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช.

นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กล่าวว่า แนวทางการสนับสนุนจังหวัดบูรณาการสู่จังหวัดจัดการตนเอง ของ พอช. ปี 2568 โดย 13 จังหวัดจัดการตนเอง มีแนวทางคือจัดตั้งคณะทำงานร่วมระดับจังหวัดเพื่อเป็นกลไกกลางระดับจังหวัด โครงสร้างมีองค์ประกอบหลากหลาย มีแผนงานเป้าหมาย ข้อตกลงร่วมรูปธรรม เคลื่อนงานร่วมทบทวนจัดทำข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลกลุ่มเป้าหมายเพื่อจัดทำแผนพัฒนาของภาคประชาชนครอบคลุมทุกประเด็นงาน จัดทำแผนพัฒนาความร่วมมือกับภาคีพัฒนา และยกระดับพื้นที่รูปธรรมตำบลต้นแบบ จัดสมัชชากลางของจังหวัดออกแบบแนวทางการพัฒนาผู้นำชุมชนและคนรุ่นใหม่ให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงและสร้างธรรมาภิบาลการติดตามประเมินผลแบบมีส่วนร่วม

ด้านนายกุลพัชร กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2559-2567 “ธนาคารที่ดิน” ดำเนินโครงการใน 8 จังหวัด พื้นที่ 7,164 ไร่ เงินลงทุน 883.4 ล้านบาท ปัจจุบันมูลค่าที่ดิน 1,141.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% ช่วยเหลือเกษตรกร 1,885 ครัวเรือน และปีงบประมาณ 2568 จะช่วยเหลือเกษตรกรแบบรายกลุ่ม 15 พื้นที่ 12 จังหวัด ทั่วประเทศ และแบบรายปัจเจค 30 ราย

“ผมยินดีเป็นส่วนหนึ่งกับพี่น้อง ที่จะจัดเวทีตั้งคณะทำงานในการแก้ปัญหาที่ดินทำกินร่วมกัน สำหรับวิธีการที่พี่น้องจะเข้าสู่ระบบของธนาคารที่ดินได้ ให้จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน การจัดการขึ้นอยู่กับพี่น้อง รวมถึงการเลือกทำเลที่ดินเอกชน หรือโฉนดครุฑแดง แจ้งความจำนงมาที่เรา ธนาคารที่ดิน จะซื้อที่ดินตามความต้องการของพี่น้อง และในอนาคตเราจะร่วมกับ พอช. ภายใต้โครงการบ้านมั่นคงชนบท ในพื้นที่โครงการกระจายการถือครองที่ดินอย่างยั่งยืน“ นายกุลพัชร กล่าว

นายกุลพัชร กล่าวด้วยว่า “ธนาคารที่ดิน”  ตอบสนองเชิงนโยบายรัฐบาล มีส่วนสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ช่วยเหลือความเป็นอยู่ของครัวเรือนที่เปราะบางให้มีรายได้เพิ่ม เพิ่ม GDP ประเทศ แก่นสำคัญที่เป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ของสหประชาชาติ คือการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง อันจะบรรลุความมุ่งหมายสูงส่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี  พ.ศ.2573 และก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง มีการพัฒนาที่ครอบคลุมยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตทุก ๆ ด้าน