วันที่ 5 พ.ย.67 นายธวัชชัย คูณชัยพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด เปิดเผยว่า หลังจากได้ทำหนังสือ ที่ สพ.017/2567 ถึงเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา เรื่อง ขอให้ตรวจสอบและไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกับพวกในฐานะความผิดเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
เนื่องจากกรุงเทพมหานครได้ลงนามยกเลิกโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร มูลค่ากว่า 3.4 พันล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดนครปฐม ด้วยเหตุผลว่า การก่อสร้างระยะที่ 2 อาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยมีแผนย้ายโครงการมาก่อสร้างในพื้นที่ศูนย์ฝึกอบรมสถาบันพัฒนาข้าราชการกรุงเทพมหานคร เขตหนองจอก ทดแทน
ประเด็นสำคัญในการยื่นหนังสือถึง ป.ป.ช. ครั้งนี้ คือ กรณีการลงนามยกเลิกโครงการดังกล่าวใช้เวลากว่า 2 ปีครึ่ง ทำให้บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ชนะการประกวดราคาเสียค่าธรรมเนียมธนาคารกว่า 500,000 บาท ในการค้ำประกันซองประกวดราคาวงเงิน 34 ล้านบาท ซึ่งการลงนามยกเลิกโครงการไม่ควรใช้เวลามากขนาดนี้ เพราะเกิดความเสียหายแก่ผู้ชนะการประกวดราคา ขณะเดียวกัน โครงการดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนกระบวนการมาอย่างถูกต้อง ก่อนจะมีการเริ่มก่อสร้างในระยะแรกไปแล้ว
และที่สำคัญคือ การลงนามยกเลิกโครงการโดยใช้เหตุผลว่า การก่อสร้างระยะที่ 2 อาจไม่ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) นั้น ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ยกเลิกโครงการ เพราะการก่อสร้างสามารถออกแบบ ปรับแก้ให้สอดคล้องกับผลประเมิน EIA ได้
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 5 ก.ย.ที่ผ่านมา บริษัท งามวงศ์วานการช่าง จำกัด ได้ร้องศาลปกครองกลาง ฟ้องเรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท จากโครงการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมดับเพลิงและกู้ภัยกรุงเทพมหานคร ระยะที่ 1 จำนวน 634 ล้านบาท วงเงินทั้งโครงการ จำนวน 3,460,664,668.67 บาท โดยมี กทม.เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1 และผู้ว่าฯกทม. เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยศาลปกครองกลางได้รับเป็นคดีหมายเลขดำที่ 1688/2567
สำหรับการฟ้องเรียกค่าเสียหาย จำนวน 50 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมการเข้าร่วมการประกวดราคาโครงการ เช่น การตรวจสอบรายละเอียดแบบรูปรายการงานก่อสร้าง การสำรวจความหนาแน่นของดิน เพื่อใช้เป็นข้อมูลตรวจสอบงานฐานรากของอาคาร ค่าออกแบบ รวม 590,000 บาท 2.ค่าเตรียมการบริหารจัดการโครงการ ทั้งจ้างผู้จัดการ วิศวกร สถาปนิกโครงการ เป็นเงินเดือน ระยะเวลา 2 ปี 3,689,802.25 บาท เพื่อดูแลรับผิดชอบโครงการให้เป็นไปตามเงื่อนไขการประกวดราคา การจัดซื้อตู้สำนักงานสำเร็จรูปและเครนยกของ รวม 11,250,373.87 บาท การเตรียมยื่นซองเสนอราคา ทั้งค่าถ่ายเอกสาร พาหนะเดินทาง ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดอื่นๆ 100,000 บาท 3. ค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันซองประกวดราคา 34,265,000 บาท เมื่อกทม.ประกาศยกเลิกประกาศประกวดราคาโครงการ ผู้ฟ้อง จึงต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันซองและใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม 556,806,38 บาท 4. ค่าเสียหายจากการที่ผู้ฟ้องไม่สามารถใช้วงเงินค้ำประกันได้ จึงคิดค่าเสียหายที่ไม่สามารถใช้วงเงินค้ำประกันดังกล่าวได้ ในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี รวม 27 เดือน เป็นเงิน 3,854,812 บาท 5.ค่าเสียหายไม่ได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนจากสัญญา 30,992,000 บาท และ 6. ค่าเสียหายที่ทำให้ผู้ฟ้อง ไม่มีผลงานการก่อสร้างงาน มูลค่า 634 ล้านบาท จำนวน 1 ล้านบาท รวมค่าเสียหายทั้งสิ้น 51,625,834.88 บาท แต่ผู้ฟ้อง เรียกร้อง 50 ล้านบาท
นายธวัชชัย กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นเพียงการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายเท่านั้น เพื่อให้เกิดการชี้แจ้งตามกระบวนการ โดยเฉพาะการอ้างเหตุผลว่าการก่อสร้างระยะที่ 2 อาจไม่ผ่าน EIA เพื่อยกเลิกการก่อสร้างทั้งโครงการ ซึ่งใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่ง กว่าจะมีการลงนามยกเลิกโครงการดังกล่าว