"ประเสริฐ จันทรรวงทอง" รองนายกฯ ห่วงอีสานแล้ง ประเดิมลงพื้นที่โคราช ติดตามสถานการณ์กำชับมาตรการเข้ม
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 4 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พร้อม ส.ส เขตพื้นที่ จ.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย (พท.) ประกอบด้วย เขต 5 นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล, เขต 7 น.ส.ปิยะนุช ยินดีสุข, เขต 8 นายนิกร โสมกลาง, เขต 10 นายอภิชา เลิศพชรกมล, เขต 12 นายนรเสฎฐ์ ศิริโรจนกุล, เขต 13 นายพชร จันทรรวงทอง, เขต 14 นายศิรสิทธิ์ เลิศด้วยลาภ, เขต 15 นายรชตะ ด่านกุล และ เขต 16 นายพรเทพ ศิริโรจนกุล ลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์น้ำและการขับเคลื่อนมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/68 โดยมีนายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผวจ.นครราชสีมา พร้อม ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) และหัวหน้าส่วนราชการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำดิบในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน จากนั้นได้ตรวจเยี่ยมพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำได้แก่ สถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติ (ท่าช้าง) ต.ท่าช้าง อ.เฉลิมพระเกียรติ, บ่อพักน้ำซับแห้ง บ้านซับศรีจันทร์ ต.คลองไผ่ และอ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว
นายประเสริฐ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลห่วงสถานการณ์ภัยแล้ง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา มีปริมาณฝนตกน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทำให้มีปริมาณน้ำที่กักเก็บค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำลำตะคอง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใช้ผลิตน้ำประปาและการเกษตร ล่าสุดมีปริมาณน้ำเพียง 28 % จึงจำเป็นต้องควบคุมแผนการบริหารจัดการน้ำที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้ความสำคัญกับน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก รวมทั้งบูรณาการให้ทุกหน่วยงานเร่งขับเคลื่อน 8 มาตรการรองรับฤดูแล้งตามที่ สทนช. คาดการณ์พื้นที่เสี่ยง เน้นดำเนินการเชิงป้องกัน ลดผลกระทบ รวมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรคเพื่อนำไปกำหนดแนวทางแก้ไขในระยะสั้นและระยะยาวต่อไป
“ตนได้มอบหมายให้ สทนช. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนป้องกันไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงต้องเร่งให้ความช่วยเหลือพร้อมจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือ ซ่อมแซมหรือปรับปรุงแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำให้มากขึ้น รวมถึงรณรงค์ให้ใช้น้ำอย่างประหยัดและรู้คุณค่า เกษตรกรดำเนินการตามแผนเพาะปลูกพืชอย่างเคร่งครัด รวมทั้งเฝ้าระวังปัญหาอัคคีภัยและไฟป่า และมอบหมายให้เทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา พัฒนาแหล่งน้ำสำรองเพื่อความมั่นคงน้ำต้นทุน ส่วนการสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมได้มอบหมายให้คณะกรรมการลุ่มน้ำและภาคส่วนต่างๆ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนถึงความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของกลไกการบริหารจัดการน้ำในเชิงพื้นที่เป็นการสร้างความมั่นคงด้านน้ำอย่างยั่งยืน” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายประเสริฐ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญน้ำอุปโภคบริโภคของชาวโคราช โดยเฉพาะพื้นที่ด้านเศรษฐกิจตัวเมือง ปัจจุบันใช้น้ำประปาจาก 2 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักการประปา ทน.นครราชสีมา จ่ายน้ำให้ประชาชน 87,500 ครัวเรือน และสถานีผลิตน้ำเฉลิมพระเกียรติ การประปาภูมิภาคสาขา (กปภ.จ.) นครราชสีมา จ่ายน้ำให้ประชาชนพื้นที่นอกเขต 46,000 ครัวเรือน ใช้น้ำจาก 3 แหล่ง ประกอบด้วย ลำตะคอง,ลำแชะและลำน้ำมูล รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จัดหาแหล่งน้ำสำรองเพิ่มเติมเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรและพิจารณาเสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กระดับท้องถิ่น รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลุ่มผู้ใช้น้ำเพื่อให้การใช้น้ำร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเป็นการสร้างความยั่งยืนในการบริหารจัดการน้ำ
ด้านนายรชตะ ส.ส เขต 15 จ.นครราชสีมา ได้นำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และน้ำท่วมซ้ำซากของลุ่มน้ำลำเกรียงไกร (ตอนบนบน) อ.ด่านขุนทด อ.เทพารักษ์ และ อ.พระทองคำ ดังนี้ 1.ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำลำเกรียงไกร (ตอนบน) เป็นที่ราบสูง ลาดเทลงไปทางตอนเหนือและสภาพภูมิประเทศไม่มีหุบเขาหรือพื้นที่รองรับน้ำจึงไม่สามารถทำการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดขนาดกลางได้ เช่น กรณีก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทับรั้ง ต.หนองแวง อ.เทพารักษ์ ค่าก่อสร้างและเวนคืนที่ดินรวมอาคารประกอบสิ้นงบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 400 ล้านบาท เก็บน้ำได้เพียง 4.5 ล้าน ลบ.เมตร ทำให้สิ้นเปลืองงบแต่ได้น้ำในปริมาณน้อย 2.การหาหนทางการเก็บน้ำในทางวิศวกรรม จากลุ่มน้ำลำเกรียงไกร (ตอนบนบน) ถึงอ่างลำเกรียงไกร (ตอนล่าง) หากทำอาคารบังคับน้ำและระบบระบายน้ำ เป็นช่วงๆ ในระดับและระยะที่เหมาะสม จะสามารถเก็บกักน้ำได้ในฤดูแล้งและระบายน้ำได้ในฤดูน้ำหลาก จากการคำนวณทางวิศวกรรมสามารถเก็บน้ำในลำเกรียงไกรได้กว่า 40 ล้าน ลบ.เมตร ซึ่งในระยะต่อไปจัดหาพื้นที่ระบายน้ำทำแก้มลิงไว้ใช้ในฤดูแล้งต่อไป จึงขอนำเสนอแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำลำเชียงไกร (ตอนบน) เพื่อลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน