เจ๊อ้อยรุดพบพนักงานสอบสวนกองปราบรอบ3 ให้การคดีเงิน 71 ล้าน ขณะที่ตำรวจเร่งรวบรวมหลักฐานรัดกุมก่อนออกหมายเรียกทนายตั้มให้ปากคำแก้ข้อกล่าวหา ด้าน นิด้าโพล เผยผลสำรวจประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าทนายจิตอาสาไม่หวังผลตอบแทนมีจริงแต่ไม่มาก พร้อมให้ความไว้วางใจศูนย์ดำรงธรรม หากไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากคดีความที่ฟ้องร้องผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง
เมื่อวันที่ 3 พ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางจตุพร อุบลเลิศ หรือเจ๊อ้อย เศรษฐีนีชาวไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศฝรั่งเศส ได้เดินทางเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม เป็นครั้งที่3 ในคดีเงิน 71 ล้านบาท ที่แจ้งความเอาผิดกับ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด หรือทนายตั้ม หลังจากก่อนหน้านี้เจ๊อ้อยได้เข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามแล้ว 2 ครั้ง คือเมื่อวันที่ 31 ต.ค. ประมาณ 12 ชั่วโมง และวันที่ 1 พ.ย. ประมาณ 11 ชั่วโมง โดยมีสื่อมวลชนมาปักหลักรอบริเวณด้านหน้าอาคารกองบังคับการปราบปรามจำนวนมาก
ทั้งนี้ เวลา 10.50 น. นายสมชาติ พินิจอักษร ทนายความประจำตัวนางจตุพรหรือเจ๊อ้อย เปิดเผยกับสื่อมวลชนผ่านโทรศัพท์ว่าเจ๊อ้อยได้เข้ามาพบตำรวจแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบปากคำ พร้อมกับให้ข้อมูลว่าวันนี้น่าจะใช้เวลาสอบปากคำไม่นาน แต่ยังไม่ทราบว่ามีประเด็นอะไรบ้าง
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยข้อมูลจากแหล่งข่าวในกองบังคับการปราบปรามว่า คดีเงิน 71 ล้านบาทนั้น ยังมีหลายประเด็นที่ทางพนักงานสอบสวนต้องการรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนาเพื่อให้เพียงพอประกอบสำนวนและเอาผิดคู่กรณีได้ ส่วนประเด็นที่ต้องสอบปากคำเพิ่มนั้นยังเปิดเผยไม่ได้
สำหรับความเคลื่อนไหวของทนายตั้มคนดัง จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการประสานเข้ามาขอพบพนักงานสอบสวนแต่อย่างใด ซึ่งอาจเป็นไปตามที่ทนายตั้มเคยให้สัมภาษณ์สื่อรอให้ตำรวจติดต่อมาก่อน
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง ทนายความจิตอาสาจริงๆ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-30 ต.ค.67 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อทนายความ การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงการมีอยู่จริงของทนายความจิตอาสาที่ช่วยเหลือประชาชนด้วยใจ ไม่สนใจผลประโยชน์หรือการสร้างชื่อเสียงให้กับตนเอง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 52.44 ระบุว่า มีจริง แต่ไม่มากเท่าไร รองลงมา ร้อยละ 26.56 ระบุว่า ไม่มั่นใจว่ามีจริง ร้อยละ 16.88 ระบุว่า ไม่มีจริง และร้อยละ 4.12 ระบุว่า มีจริง จำนวนมาก
ด้านบุคคลหรือหน่วยงานที่ประชาชนไว้ใจในการขอความช่วยเหลือหากไม่มั่นใจในความยุติธรรมจากคดีความที่ฟ้องร้องผู้อื่นหรือถูกผู้อื่นฟ้องร้อง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย รองลงมา ร้อยละ 21.83 ระบุว่า ชมรม สมาคม มูลนิธิ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่เกี่ยวข้อง ร้อยละ 19.16 ระบุว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด ร้อยละ 13.44 ระบุว่า ไม่ไว้ใจใครเลย ร้อยละ 11.68 ระบุว่า ทนายอาสาจากสภาทนายความ ร้อยละ 11.37 ระบุว่า ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 ร้อยละ 9.01 ระบุว่า ทนายทั่วไป ร้อยละ 8.17 ระบุว่า ทนายอาสาจากเนติบัณฑิตยสภา ร้อยละ 6.87 ระบุว่า ทนายที่มีชื่อเสียง ร้อยละ 1.60 ระบุว่า นักการเมือง และร้อยละ 4.96 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ สื่อโทรทัศน์ สื่อสังคมออนไลน์
ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความไว้วางใจของประชาชนต่อความช่วยเหลือที่จะได้รับจากการใช้บริการหรือขอคำปรึกษาจากทนายความ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 42.06 ระบุว่า ค่อนข้างไว้วางใจ รองลงมา ร้อยละ 36.11 ระบุว่า ไม่ค่อยไว้วางใจ ร้อยละ 12.52 ระบุว่า ไม่ไว้วางใจเลย ร้อยละ 8.78 ระบุว่า ไว้วางใจมาก และร้อยละ 0.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง
ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.64 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.90 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ
ตัวอย่าง ร้อยละ 33.44 สถานภาพโสด ร้อยละ 63.89 สมรส และร้อยละ 2.67 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 0.53 ไม่ได้รับการศึกษา ร้อยละ 18.02 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 36.18 จบการศึกษามัธยมศึกษา หรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.47 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 30.99 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 4.81 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี
ตัวอย่าง ร้อยละ 10.92 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.56 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.46 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 12.21 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.34 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 19.85 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 4.66 เป็นนักเรียน/นักศึกษา
ตัวอย่าง ร้อยละ 20.00 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 4.96 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 13.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 30.53 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 12.06 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.66 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 2.90 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001-50,000 บาท ร้อยละ 1.99 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 50,001-60,000 บาท ร้อยละ 0.38 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 60,001-70,000 บาท ร้อยละ 0.08 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 70,001-80,000 บาท ร้อยละ 0.69 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 80,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 8.09 ไม่ระบุรายได้