เหลืออีกเพียงวันเดียว ทางการสหรัฐอเมริกา ก็จะเปิดคูหาให้ประชาชนชาวอเมริกัน ได้ลงคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีของพวกเขาแล้ว ซึ่งจะมีขึ้นในวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายนนี้

โดยการชิงชัยก็จะเป็นการต่อสู้ของสองผู้สมัครรับเลือกตั้งคนสำคัญ อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ที่จะเปรียบไปก็เสมือนเป็นผู้ท้าชิง ที่ต้องการหวนกลับมาครองตำแหน่งแชมป์ได้อีกครั้ง ซึ่งจะต้องสัประยุทธ์กับนางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จากพรรคเดโมแครต ที่เปรียบเป็นเจ้าของตำแหน่งแชมป์ ที่รับมอบอำนาจจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งต้องโบกมือลาไปด้วยวัยชราภาพ

ว่ากันถึงคะแนนนิยมของผู้สมัครฯทั้งสองภายในสหรัฐฯ ก็ต้องถือว่า ยังคงคู่คี่สูสี ผลัดกันนำ ผลัดกันตาม ในแต่ละโพลล์ จนบรรดานักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นวันอังคารนี้ จะเป็นการแข่งขันชิงชัยที่สูสีคู่คี่มากที่สุดในรอบหลายทศวรรษกันเลยทีเดียวก็ว่าได้

ขณะที่ การสำรวจคะแนนนิยมของผู้คนในประเทศต่างๆ ที่มีต่อสองผู้สมัครฯ ก็มีการสำรวจเช่นกัน แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างเหล่านั้น อาจจะไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง แต่ก็สามารถนับเป็นกระแสเสียงที่มีผู้สมัครฯ ทั้งสองจากผู้คนต่างแดนว่ามีความคิดเห็นเป็นเช่นไร?

อย่างไรก็ดี บรรดานักวิเคราะห์ก็แสดงทรรศนะว่า อาจจะมีผลสะท้อนต่อคะแนนนิยมของผู้คนเชื้อชาติต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในสหรัฐฯ ไม่มากก็น้อยได้เหมือนกัน อาทิเช่น ชุมชนชาวยิวในสหรัฐฯ ชุมชนชาวจีนในสหรัฐฯ และชุมชนชาวอาหรับในสหรัฐฯ เป็นต้น

ยกตัวอย่างในการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในอิสราเอล ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวยิว ปรากฏว่า ในการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมที่เพิ่งผ่านพ้นมาโดย “แชนแนล 12 นิวส์โพลล์” ปรากฏว่า ประชาชนชาวอิสราเอล ให้ความนิยมชมชอบต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มากกว่ารองประธานาธิบดีแฮร์ริส แบบชนิดทิ้งห่างกันเป็นอย่างมาก

จากการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามจำนวนถึงร้อยละ 66 หรือคิดเป็นราว 2 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ ระบุว่า มีความนิยมชมชอบต่อในตัวของอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ อยากจะเห็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กันอีกครั้ง

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างที่ชื่นชอบต่อรองประธานาธิบดีแฮร์ริส มีจำนวนเพียงร้อยละ 17 เท่านั้น ที่อยากจะรองประธานาธิบดีหญิงรายนี้ สร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการเป็นสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐฯ ที่ได้ครองตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ ซึ่งคะแนนนิยมข้างต้นก็ตามหลังทิ้งห่างต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์ถึง 49 จุดด้วยกัน

รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส แห่งสหรัฐฯ ให้การต้อนรับนายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ที่เดินทางมาเยือนกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ (Photo : AFP)

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่า ไม่รู้ว่าจะนิยมชมชอบใครดี คือ ออกอาการลังเลมีจำนวนที่ร้อยละ 17 ซึ่งเป็นจำนวนที่เหลือ และเท่ากันกับจำนวนที่ชื่นชอบต่อรองประธานาธิบดีแฮร์ริส

เมื่อศึกษาถึงผลสำรวจความคิดเห็นข้างต้น แบบเจาะลึกลงไปในรายละเอียด ก็พบว่า ถ้าเป็นประชาชนชาวอิสราเอล ที่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่นายเบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลคนปัจจุบัน คือ เลือกนายเนทันยาฮูเป็นนายกฯ นั้น มีจำนวนถึงร้อยละ 93 เลยทีเดียว ที่ตอบว่า นิยมชมชอบอดีตประธานาธิบดีทรัมป์ และกลุ่มตัวอย่างเดียวกันนี้ที่ชอบรองประธานธิบดีแฮร์ริส มีจำนวนเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ส่วนสัดส่วนที่เหลือ คือ ร้อยละ 6 เป็นผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะชอบใคร

ทั้งนี้ จากผลสำรวจโพลล์ข้างต้น ก็ต้องบอกว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มีคะแนนนิยมเพิ่มมากขึ้นในหมู่ชาวอิสราเอล หรือชาวยิว ซึ่งเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ของอิสราเอล โดยคะแนนนิยมของอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ รายนี้ เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจโพลล์ครั้งที่แล้ว เมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ดำเนินการสำรวจโดย “แชนแนล 12 นิวส์โพลล์” นี้เช่นกัน

โดยในการสำรวจเมื่อช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น ปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ มีคะแนนนิยมในหมู่ประชาชนชาวอิสราเอลอยู่ที่ร้อยละ 58

ส่วนผู้ที่ชื่นชอบต่อรองประธานาธิบดีแฮร์ริส เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น ก็อยู่ที่ร้อยละ 25 ซึ่งก็ต้องถือว่า รองประธานาธิบดีแฮร์ริส มีคะแนนนิยมลดลง ในการเปรียบเทียบกับช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านพ้นมานี้ คือ จากร้อยละ 25 เหลือร้อยละ 17

ขณะที่ ผู้ที่ยังลังเล ยังไม่ตัดสินใจว่าจะชอบใครดี ก็มีจำนวนที่ร้อยละ 17 เท่าเดิม

เหตุปัจจัยที่ทำให้ประชาชนชาวอิสราเอล มีความนิยมชมชอบต่ออดีตประธานาธิบดีทรัมป์อย่างล้นหลามนั้น ก็มาจากผลงานการดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนเกี่ยวกับอิสราเอล เมื่อครั้งที่เขายังดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อหลายปีก่อน ที่ปรากฏว่า เป็นคุณประโยชน์ต่ออิสราเอลหลายประการด้วยกันนั่นเอง

ชาวสหรัฐฯ ที่สนับสนุนนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ให้สนับสนุนต่ออิสราเอลในการทำสงครามต่อต้านกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ เช่น กลุ่มฮามาส และกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ เช่นกัน (Photo : AFP)

ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอล จากเดิมที่อยู่กรุงเทลอาวีฟ มายังกรุงเยรูซาเล็ม เมื่อช่วงปี 2018 (พ.ศ. 2561) ซึ่งการย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอลครั้งนั้น ก็เป็นไปตามคำมั่นสัญญาที่อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ให้ไว้ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง

รวมไปถึงกรณีที่รัฐบาลสหรัฐฯ สมัยที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศให้การรับรองว่ากรุงเยรูซาเล็ม เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล เมื่อช่วงปลายปี 2017 (พ.ศ. 2560) ก่อนที่จะนำไปสู่การย้ายสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ในอิสราเอล จากกรุงเทลอาวีฟ ไปสู่กรุงเยรูซาเล็มตามมา อันเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของชาวยิวที่มีต่อนครหลวงแห่งนี้

นอกจากนี้ ในระหว่างการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง ปรากฏว่า อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งเสียงเชียร์อิสราเอล ที่กำลังทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธต่างๆ ที่อิหร่านให้การสนับสนุนอย่างออกนอกหน้า ถึงขนาดกระตุ้นให้นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮู โจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของอิหร่านกันเลยทีเดียว ส่งผลให้อดีตประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ใจจากประชาชนชาวอิสราเอลชนิดล้นหลามอย่างที่เห็น