เมื่อวันที่ 3 พ.ย.67 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และการต่างประเทศ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn ระบุว่า สหรัฐอเมริกาจะพาเราไปไหนหลังเลือกตั้ง - Where do we go from here?

1. ความกลัวหรือความหวังในอเมริกาที่เปลี่ยนไป - Hope or Fear in changing America?

การเลือกตั้งครั้งที่ 60 ของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้ จะไม่ตัดสินกันด้วยนโยบายการค้าหรือการลงทุน ปัญหาโลกร้อนหรือโลกรวน ความขัดแย้งหรือสงครามในภูมิภาคต่างๆ แต่คนอเมริกันที่มีสิทธิเลือกตั้งกว่า 240 ล้านคนและคณะผู้เลือกตั้ง (Electoral College) ทั้ง 538 คน จะเลือกประธานาธิบดีคนที่ 47 และผู้แทนของตนจากปัจจัยหลัก 2 ปัจจัย คือ "ความกลัว" (Fear) หรือ "ความหวัง" (Hope)

ความกลัวคือกลัวว่าวิถีชีวิตอเมริกันแบบเดิมจะเปลี่ยนไป กลัวจะไม่มั่งคั่งรุ่งเรืองเข้มแข็งเหมือนในอดีต กลัวคู่แข่งจะแซงหน้าหรือกลัวว่าจะไม่ได้เป็นที่หนึ่งในโลกเช่นเดิม ส่วนความหวังคือหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น รายได้จะเพิ่มขึ้น สังคมจะน่าอยู่ ทางเลือกในชีวิตจะมากขึ้น และอเมริกายังคงเป็นผู้นำโลก เป็นแม่แบบของประชาธิปไตยที่ชาวโลกถวิลหา

แต่ชาวโลกกังวลว่าถึงใครจะชนะเลือกตั้งด้วยปัจจัยใดก็ตาม ก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงผลที่จะตามมาต่อโลกโดยรวมได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่นับว่าใหญ่ที่สุดในยุโรปแล้วตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง หรือสงครามที่กำลังขยายตัวในตะวันออกกลาง เอเชีย หรือที่อื่น ๆ รวมทั้งการกีดกันทางค้า สงครามทางเทคโนโลยี ปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนและพัฒนาการของประชาธิปไตยทั่วโลก หลังเลือกตั้งเราอาจจะเห็นการเจรจาสันติภาพหรือการยุติสงครามเร็วกว่าที่คิด หรือเราอาจจะเห็นการขยายตัวของความขัดแย้งและสงครามที่ยืดเยื้อต่อไปในหลายพื้นที่ และเราก็คงจะได้เห็นกำแพงภาษีที่สูงขึ้นไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าใครจะมาเป็นผู้นำสหรัฐฯ และจะนำเราไปในทิศทางใด

แต่ที่ชัดเจนไปแล้วก่อนวันเลือกตั้งก็คือ การเมืองสหรัฐฯ กำลังแปรปรวนและสุดโต่งอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การกล่าวหากันว่าเป็นเผด็จการ "fascist" เป็นเหมือนพวกนาซีเยอรมันที่มาจากการเลือกตั้งแล้วทำลายประชาธิปไตย หรือกล่าวหากันว่าเป็นพวกบ่อนทำลายประเทศ เปิดทางให้ผู้อพยพผิดกฎหมายเกือบสามสิบล้านคนเข้ามายึดครองประเทศ เปลี่ยนวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิม ทำร้ายและแย่งงานคนอเมริกัน และจะต้องขับไล่หรือเนรเทศออกไปนั้น ทำให้สหรัฐฯ กลายเป็นประเทศที่เราไม่คุ้นเคยอีกต่อไป จากเดิมที่ก่อตั้งโดยผู้อพยพ เปิดรับผู้ลี้ภัยจากแทบทุกแห่งหน มีความเข้มแข็งบนความหลากหลาย และเป็นแม่แบบของประเทศประชาธิปไตยที่สมดุล

2. ใครจะชนะ - who will win?

ก่อนการเลือกตั้ง 3 วัน นาง Kamala Harris (60 ปี) ผู้หญิงผิวสีเชื้อสายเอเชียใต้คนแรกของพรรค Democrat มีคะแนนนิยมนำหน้าอยู่เล็กน้อย (48% ต่อ 47% จากการสำรวจทั่วประเทศใน 50 มลรัฐ) แต่คะแนนเสียงของคณะผู้เลือกตั้ง ซึ่งมีที่มาจากการถ่วงดุลเสียงของประชาชนกับอำนาจของแต่ละมลรัฐตั้งแต่ก่อตั้งประเทศและปัจจุบันมีจำนวนเสียงเท่ากับจำนวนผู้แทนจากทุกมลรัฐในสภา Congress (535 เสียง) บวกกับอีก 3 เสียงจากเมืองหลวง Washington D.C. ซึ่งจะต้องไปเลือกประธานาธิบดีโดยตรงและเป็นคะแนนชี้ขาดนั้น (270 เสียงขึ้นไป) นาย Donald Trump (78 ปี) อดีตปธน. ของพรรค Republican มีคะแนนในส่วนนี้นำอยู่เล็กน้อยในหลายมลรัฐที่เรียกกันว่า “รัฐสมรภูมิ” (Battleground/Swing States) คือ Pennsylvania (19 เสียง) Georgia (16 เสียง) North Carolina (16 เสียง) Michigan (15 เสียง) Arizona (11 เสียง) Wisconsin (10 เสียง) Nevada (6 เสียง) ซึ่งคะแนน 93 เสียงใน 7 มลรัฐนี้แกว่งไปมาระหว่างสองพรรคแทบทุกครั้งในการเลือกตั้ง

ในการเลือกตั้งที่มีคะแนนใกล้เคียงกันเช่นนี้ หากชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิไม่มาก (เฉลี่ยในรอบหกสิบปีประมาณ 55-60% เท่านั้น) สุดท้ายแล้วอาจจะเป็นเพียง 1-2 มลรัฐสมรภูมิเท่านั้นที่จะตัดสินอนาคตของชาวอเมริกันและของชาวโลก เช่น Wisconsin ที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายลาตินอเมริกันจำนวนมาก (ในสหรัฐฯ มีประมาณ 36 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง) หรือ Michigan ที่มีชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับมากที่สุด (ประมาณห้าแสนคน อ้าง Arab American Institute)

ในปี 2020 ชาวอเมริกันออกมาใช้สิทธิเป็นจำนวนมากถึง 66% สูงที่สุดในรอบกว่าร้อยยี่สิบปี (อ้าง Pew Researh Center) ทำให้นาย Joseph Biden ของพรรค Democrat ชนะนาย Trump มากกว่า 7 ล้านเสียงและได้คะแนนของคณะผู้เลือกตั้ง 306 ต่อ 232 เสียง ซึ่งก็รวมทั้งจากมลรัฐ Pennsylvania Michigan และ Wisconsin ที่เปลี่ยนกลับมาลงคะแนนให้ Biden ชนะ ก็ยังเกิดปัญหาการไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งของฝ่าย Republican (ก่อนหน้านั้นในปี 2016 สามรัฐนี้ลงคะแนนให้ นาย Trump ชนะนาง Hillary Clinton จากพรรค Democrat ด้วยคะแนน 304 ต่อ 227 เสียง โดยนาย Trump ได้คะแนนเสียงของประชาชนจากทั่วประเทศน้อยกว่า นาง Clinton เกือบสามล้านเสียง แต่ทางฝั่ง Democrat ยอมรับผลการเลือกตั้ง)

ศาสตราจารย์ Allan Lichtman ของ American University ซึ่งทำนายผลการเลือกตั้งได้ถูกต้องทุกครั้งในรอบ 42 ปีที่ผ่านมา (ยกเว้นครั้งเดียวที่ผิดในปี 2000 ที่ นาย George Bush ได้คะแนนทั่วประเทศน้อยกว่านาย Al Gore จากพรรค Democrat เกือบห้าแสนห้าหมื่นเสียง แต่ก็ได้เป็นประธานาธิบดีด้วยคะแนนของคณะผู้เลือก 271 ต่อ 266 เสียง) นั้น ไม่ได้ใช้ผลจากการสำรวจหรือการหาเสียง แต่ได้ใช้ตัวแปร 13 ตัวที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาลทำนายว่า ในครั้งนี้ นาง Harris จะชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ แต่ก็ย้ำว่าสุดท้ายแล้วจะขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งว่าจะน้อยเพียงไร

โดยสรุป หากยุทธศาสตร์ของอดีตปธน. Donald Trump และพรรค Republican ที่มุ่งเน้นและกระตุ้นให้ชาวอเมริกันหวาดกลัวนั้นได้ผล โดยพุ่งเป้าไปที่มลรัฐสมรภูมิเพื่อให้ได้คะแนนของคณะผู้เลือกตั้งเพียงพอเหมือนครั้งที่แล้ว โดยที่ไม่ต้องให้น้ำหนักกับเสียงส่วนใหญ่ทั้งประเทศเป็นหลัก เราก็อาจจะได้เห็นการกลับมาสู่ทำเนียบขาวอีกครั้งของนาย Trump ที่ชาวอเมริกันโดยเฉพาะผู้หญิง คนผิวสีและกลุ่มคนหัวก้าวหน้าไม่นิยมชมชอบ

แต่ถ้านาง Harris และพรรค Democrat ไม่หลงกล สับสน หรือโต้ตอบแนวทางหาเสียงที่เป็นลบตามแบบของ "Trumpist" มากเกินไป แต่มุ่งสู่ความหวังและการเปลี่ยนแปลง โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเลือกใคร หรือตัดสินใจแล้วว่าจะไม่เลือกนาย Trump หรือพรรค Republican แต่ตั้งใจจะไม่ออกมาใช้สิทธิ ให้ออกมาเลือกตนได้ เราก็จะเห็นผู้หญิงคนที่เคยมาเยือนประเทศไทยและเดินเยี่ยมชมวัดและตลาดของเรา เดินเข้าไปในทำเนียบขาวในฐานะประธานาธิบดีและผู้นำของโลกเสรีในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

3. ผลที่จะเกิดกับโลกและกับไทย - Can the new President deliver?

ส่วนใหญ่เชื่อกันว่าประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะสามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้ แต่การเมืองอเมริกันซับซ้อนกว่านั้น เพราะมีการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Powers) ที่ชัดเจน และมีการตรวจสอบและถ่วงดุล (Check and Balance) ที่เข้มข้น ดังนั้นประธานาธิบดีจะต้องได้รับการสนับสนุนของสภา Congress จึงจะสามารถดำเนินนโยบายตามที่หาเสียงไว้ได้

นับตั้งแต่ค.ศ.1989 แล้ว ยังไม่มีประธานาธิบดีอเมริกันคนไหนมีเสียงข้างมากสนับสนุนพร้อม ๆ กันทั้งสองสภาใน Congress ปัจจุบันพรรค Republican มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (220 ต่อ 212/435) พรรค Democrat มีเสียงข้างมากในวุฒิสภา (47+4 ต่อ 49/100) ในการเลือกตั้งสมาชิกสภา Congress ที่ควบคู่กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีในครั้งนี้ คาดการณ์กันว่าผลที่ออกมาก็จะสลับกันควบคุมแต่ละสภาหรือคงเดิม แต่คงไม่มีพรรคไหนที่จะมีเสียงข้างมากทั้งสองสภา ซึ่งก็จะทำให้การดำเนินการตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ของประธานาธิบดีถูกลดทอนลงหรือเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร

แต่อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งจะมีอย่างน้อย 6 ด้านที่จะส่งผลกระทบต่อโลกและต่อไทย คือ

1) การกีดกันทางค้าและการขึ้นภาษี ประเด็นที่สำคัญก็คือ ใครจะกีดกันอะไรมากเท่าไร และจะขึ้นภาษีอะไรบ้าง สำหรับพรรค Republican แล้วค่อนข้างสุดโต่ง เช่น นาย Trump เสนอจะขึ้นภาษีสินค้าทุกชนิดที่นำเข้า 10-20% และกับสินค้าจีนโดยเฉพาะถึง 60% รวมทั้งตัดสถานะภาพพิเศษ (most-favoured-nation) ของจีนและบางประเทศด้วย ซึ่งจะทำให้สหรัฐฯ มีรายได้เพิ่มถึง 3 แสนล้านเหรียญ (ถ้าขึ้นภาษีนำเข้า 10%) ส่วนพรรค Democrat จะไม่สุดโต่งเท่า แต่ก็ไม่ส่งเสริมการค้าเสรีเช่นกัน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะดำเนินการต่อเนื่องจากที่ปธน. Biden ได้ทำอยู่หรือไม่ เช่น ให้เงินช่วยเหลือหรือลดภาษีให้โรงงานผลิตสินค้าส่งออก ออกกฏหมายควบคุมเงินเฟ้อ และลงโทษจีนและขึ้นภาษีในบางเรื่องที่ผิดกติกาการค้าของ WTO เช่น รถยนต์ไฟฟ้า semiconductors และอื่น ๆ

2) ด้านแรงงาน ผู้อพยพ และการเข้าเมือง พรรค Republican ประะสบความสำเร็จมาเกือบสิบปี ที่ทำให้นโยบายการเข้าเมืองเป็นเรื่องใหญ่ในกาเมืองอเมริกัน และกระตุ้นให้ชาวอเมริกันถึง 61% กลัวชาวต่างชาติ (อ้าง The Economist) เพราะระบุว่าคนเหล่านั้นที่เข้ามา มีทั้งอาชญากร ยาเสพติด และคนที่รับประทานสัตว์เลี้ยง ขัดกับวิถีชีวิตคนอเมริกัน ดังนั้น จึงจะมีนโยบายที่เข้มข้นกับชาวต่างชาติ มีโค้วต้าคนเข้าเมืองและผู้อพยพ มีข้อเสนอส่งกลับหรือเนรเทศคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมทั้งขึ้นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ สำหรับการเข้าเมือง ส่วนพรรค Democrat จะเน้นความต่อเนื่องในการควบคุมบางพื้นที่ เช่น ที่ติดกับประเทศ Maxico แตะต้อง Republican ในสภาในเรื่องนี้

3) ด้านโลกร้อนโลกรวน นโยบายของพรรค Democrat ที่ให้ความสำคัญและส่งเสริมในเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วยกฏหมายหลายฉบับคงจะดำเนินต่อไป เพราะจะทำให้เกิดการลงทุนมากถึง 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปีค.ศ. 2030 ซึ่งก็จะดีต่อโลกและต่อไทย (อ้าง Goldman Sacs) ส่วนพรรค Republican ก็จะหันกลับไปลงทุนและให้เงินช่วยเหลือเรื่องการขุดเจาะน้ำมันอีก และจะถอยออกจากการลงทุนในพลังงานสะอาด เพิ่มอัตราการปล่อยก็าซ methane เหมือนที่เคยถอยออกจาก Paris Agreement มาแล้ว ซึ่งก็จะทำให้การลงทุนในพลังงานทางเลือกทั้งหมดช้าลง

4) ด้านความมั่นคงและการทหาร ทั้งสองพรรคเห็นตรงกันว่าสหรัฐฯ อ่อนแอลงและไม่ได้ลงทุนด้านนี้มานานนับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเมื่อเทียบกับจีนหรือรัสเซีย (10% ของ GDP ในปี 1960s) ทั้งสองพรรคสนับสนุนให้เพิ่มงประมาณทหารถึงเกือบ 9 แสนล้านเหรียญในปีหน้า (3% ของ GDP) และพรรค Republican เสนอให้เพิ่มให้ได้ถึง 5% ในอนาคต ซึ่งการลงทุนสร้างความเข้มแข็งทางการทหารนี้ ก็จะทำให้สหรัฐฯ มีบทบาทมากขึ้นทุกภูมิภาค และหากประสบความสำเร็จื้งในการส้างงานภายในประเทศ ในการสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคต่าง ๆ ก็จะดีกับแทบทุกประเทศ แต่หากนำไปสู่ความขัดแย้งและสงคราม ก็จะกระทบกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะในเอเชียที่เป็นภูมิภาคหลัก ที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ

5) สงครามในยุโรปและตะวันออกกลาง นาย Trump และพรรค Republican มีความชัดเจนว่าต้องการยุติสงครามด้วยการเจรจาแลกเปลี่ยนพื้นที่ที่รัสเซียยึดครองแลกกับการลกการสนับสนุนทางทหารและการเงินต่อยูเครน ซึ่งจะสร้างปัญหาให้กับผู้นำยูเครนเป็นอย่างยิ่ง ส่วนพรรค Democrat คงสนับสนุนยูเครนต่อเป็นปีที่สี่ โดยเฉพาะได้ให้เงินสนับสนุนไปแล้วเกือบ 1.8 แสนล้านเหรียญแม้ว่ายังไม่มีแผนการที่ชัดเจนว่าจะยุติสงครามอย่างไร รวมทั้งการเดินหน้าเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนด้วย ซึ่งก็จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจทั้งของสหรัฐฯ ยุโรป และทั่วโลกหากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเชียยังคงดำเนินต่อไป

ส่วนในตะวันออกกลาง ทั้งสองพรรคต้องการป้องกันไม่ให้อิหร่านติดอาวุธนิวเคลียร์และควบคุมกลุ่มหัวรุนแรงไม่ต่างกัน แต่สถานการณ์ได้บานปลายไปพอสมควรแล้ว และสหรัฐฯ ก็ไม่ต้องการทำสงครามโดยตรง จึงต้องสนับสนุนอิสราเอลต่อไป ทั้งยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ เงินเกือบ 20,000 ล้านเหรียญในปีผ่านมา ทั้ง ๆ ที่ที่ไม่สามารถจะควบคุมการใช้กำลังของอิสราเอล โดยเฉพาะต่อพลเรือนปาเลสไตน์ได้

6) ความสัมพันธ์กับจีน ทั้งพรรค Republican และพรรค Democrat เข้าใจดีถึงความสำคัญของจีนและความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดและไม่เป็นมิตรนี้ให้ดี ไม่ให้บานปลายกลายเป็นสงคราม ซึ่งก็จะนำแทบทุกประเทศเข้าสู่สงครามโลกอีกครั้ง ทั้งสองพรรคมีนโยบายคล้ายคลึงกันที่จะจัดการกับจีนที่ค้าขายอย่างไม่เป็นธรรม สนับสนุนให้รัสเซียเข้มแข็งและไม่ถูกปิดล้อมจากการคว่ำบาตรของฝ่ายตะวันตก โดยต้องการออกกฎหมายเพิ่มเพื่อจัดการกับจีนและพันธมิตร และมุ่งเน้น 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ Trade Tech และ Taiwan (อ้าง Hoover Institute) อย่างที่ทำอยู่แล้ว แต่ทางนาย Trump และพรรค Republican ซึ่งเป็นฝ่ายเริ่มต้นสงครามการค้ากับจีนเมื่อหลายปีก่อนด้วยการสั่งห้ามนำเข้าสินค้าหลายชนิด และต่อมาบานปลายไปถึงเทคโนดลลยีชั้นสูง ต้องการที่จะไปให้ไกลกว่าพรรค Democrat โดยจะหาทางที่จะแยกหรือตัด (decouple) ความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนทั้งหมดในอนาคต (อ้าง Foreign Affairs) ซึ่งถ้าเป็นจริงเมื่อไรและไปรวมกับเรื่องไต้หวันที่จีนอาจจะใช้กำลังเข้ายึดครองหากไต้หวันประกาศแยกตัวอย่างชัดเจน สหรัฐฯ ก็คงหลีกเลี่ยงไม่เข้าไปช่วยไต้หวันไม่ได้ ผลกระทบต่อโลกและต่อไทยก็เป็นสิ่งที่ทุกคนกลัวและไม่อยากให้เกิดขึ้น แต่ถึงตอนนั้นคงไม่มีใครหรือประเทศใดจะไปห้ามได้

สรุป ผลการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้คงจะเป็นเหมือนที่หลายคนได้คาดไว้ และคงเป็น “game changer” ของทั้งการเมืองโลกและการเมืองสหรัฐฯ ดังนั้น จะต้องบอกว่า ”ขอให้โชคดี“ กันทุกฝ่าย

 

ขอบคุณ เฟซบุ๊ก Panitan Wattanayagorn