กฐินสามัคคี วัดสำโรงเกียรติ ได้จัตตุปัจจัยเป็นเงินสดจำนวน 647,999 บาท บูรณะอาคารเสนาสนะ

  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่วัดสำโรงเกียรติ ตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ นายเฉลิม - นางสุรัตน์ เลิศศรี ได้เป็นประธานทอดถวายกฐินสามัคคีวัดสำโรงเกียรติประจำปี2567 โดยมีพุทธศาสนิกชนและญาติธรรมในพื้นที่บ้านสำโรงเกียรติและจากกรุงเทพมหานคร ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดถวายกฐินสามัคคีวัดสำโรงเกียรติ ประจำปี 2567 ได้จัตตุปัจจัยเป็นเงินสดจำนวน 647,999 บาท และถวายเก้าอี้จำนวน 300 ตัวๆละ 200 บาท รวมมูลค่าจำนวน 60,000 บาท

และได้รับความเมตตาจากพระครูอรุณ ปุญโญภาส เจ้าอาวาสวัดสำโรงเกียรติ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อนำจัตตุปัจจัยไปสมทบทุนบูรณะและซ่อมแซมอาคารเสนาสนะ วัดสำโรงเกียรติ เสนาสนะ หมายถึง ที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์ เช่น กุฏิ วิหาร ศาลา รวมถึงที่นอนและที่นั่งและเครื่องใช้ เกี่ยวกับสถานที่หรือสิ่งที่ใช้ในการพำนัก เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ตั่ง หมอน หรือแม้แต่โคนต้นไม้ อนึ่ง คำว่า "เสนาสนะ" มาจากศัพท์บาลี ว่า "เสนาสน" สร้างจากศัพท์ "เสน" (ที่นอน) และ "อาสน" (ที่นั่ง) 

 พระครูอรุณ ปุญโญภาส เจ้าอาวาสวัดสำโรงเกียรติ กล่าวว่า วัดสำโรงเกียรติ เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในตำบลบักดอง อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ มีพื้นที่ 11 ไร่ 3 งาน 60 ตารางวา มีพระอธิการอุทัย มหาปุญฺโญ เป็นเจ้าอาวาสองค์แรก ก่อตั้งวัดเมื่อ พ.ศ.2457 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2525 มีหลวงพ่อพระตาตน เป็นพระพุทธรูปแบบขอมปางสมาธิสะดุ้งมาร ขนาดหน้าตักกว้าง 4 นิ้ว สูง 5 นิ้ว สร้างด้วยเกสรดอกไม้ผสมครั่งหรือยางชันปั้นเป็นพระพุทธรูปเรียกว่า “พระตาตน” ตามคนชื่อของคนที่นำมาถวาย ตาตน เป็น คนเขมรตํ่า มีญาติอยู่ที่บ้านสำโรงเกียรติไปมาหาสู่กันเป็นประจำ วันหนึ่งตาตนได้นำไซไปดักจำปลาที่ร่องนํ้าเชิงเขาทางทิศใต้ของบ้านสำโรงเกียรติ

รุ่งขึ้นไปกู้ไซที่ดักเอาไว้ พบพระพุทธรูปติดไซอยู่จึงเอาออกแล้วโยนลงนํ้า วันรุ่งขึ้นไปกู้ไซอีกก็เห็นพระพุทธรูปติดไซอยู่ดังเช่นเดิม พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงได้นำมาฝากไว้ที่บ้านญาติ เมื่อตกกลางคืนตาตนและญาติฝันว่าเอาพระเข้าบ้านจะไม่เป็นมงคลให้เอาไปฝากไว้ที่วัด รุ่งขึ้นตาตนได้นำพระพุทธรูปเกสรไปถวายวัดสำโรงเกียรติเพื่อเป็นสมบัติของวัดต่อไป เจ้าอาวาสจึงได้แจ้งให้ญาติโยมประชาชนใกล้เคียงได้ทราบกันซึ่งต่างพากันมานมัสการอย่างคับคั่ง ทำให้พระตาตนเป็นที่เคารพและบนบานกันมา ต่อมาจึงพากันเรียกขนานว่า หลวงพ่อพระตาตน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

​​​​​​​