นิยาม “ความมั่นคงทางอาหาร” ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ พ.ศ.2551 หมายถึง “การเข้าถึงอาหารที่มีอย่างเพียงพอสำหรับการบริโภคของประชาชนในประเทศ อาหารมีความปลอดภัยและมีคุณค่าทางโภชนาการเหมาะสมตามความต้องการตามวัยเพื่อการมีสุขภาวะที่ดี รวมทั้งการมีระบบการผลิตที่เกื้อหนุน รักษาความสมดุลของระบบนิเวศและความคงอยู่ของฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ ทั้งในภาวะปกติหรือเกิดภัยพิบัติ สาธารณภัย หรือการก่อการร้ายอันเกี่ยวเนื่องจากอาหาร” 

เช่นเดียวกับนิยามความมั่นคงทางอาหารขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ว่าด้วยการมีอาหารเพียงพอ (Food Availability)  การเข้าถึงอาหาร (Food Access) การใช้ประโยชน์จากอาหาร (Food Utilization) และการมีเสถียรภาพด้านอาหาร (Food Stability)  ซึ่งเกี่ยวข้องกับ ‘การมี’ และ ‘การเข้าถึง’ อาหารได้ตลอดเวลา แม้ในยามปกติและยามวิกฤต 

ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นผู้นำทางเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ไม่เคยขาดแคลนอาหารแม้ในยามวิกฤต ไม่ว่าจะเป็น โควิดหรือน้ำท่วม เรียกได้ว่าคนไทยสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างง่ายดาย ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านค้าส่ง-ค้าปลีก กระจายตัวทั่วประเทศ  มีสตรีทฟู้ดมากมายแทบทุกหัวระแหงตลอด 24 ชม. ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าเป็นผลพวงจากการพัฒนาภาคเกษตร รวมถึงระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมมือกันผลักดัน และสร้างมาตรฐานจนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จนกลายเป็นผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ของโลก กล่าวได้ว่าประเทศไทยห่างไกลคำว่าไม่มั่นคงทางอาหารไปไกลโข ดีกว่าอีกหลายๆประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ได้ฟังเวทีสาธารณะว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางอาหารที่ได้รับผลกระทบกรณีปลาหมอคางดำ มีชาวบ้านจ.สมุทรสงครามร่วมรับฟังและแบ่งปันความคิด โดยหลายคนให้ข้อมูลว่าสภาพแวดล้อมในจังหวัดเปลี่ยนไปจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ส่งผลกระทบกับพืชผลทางการเกษตรและสัตว์น้ำ  คุณภาพน้ำที่แย่ลงทำให้สัตว์น้ำในแหล่งน้ำลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะปริมาณน้ำจืดจำนวนมากที่ไหลลงในแม่น้ำและไหลสู่ทะเลทั้งตามฤดูกาลและภัยพิบัติ ตลอดจนการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาในจังหวัดทำให้คุณภาพน้ำเปลี่ยนไป ไม่สามารถจับสัตว์น้ำตามธรรมชาติได้เหมือนเดิม เช่น กุ้งตะกาดและกุ้งฝอย อาชีพดั้งเดิมอย่างการตกกุ้ง หรือการจับปูแสมจึงหายไป รวมถึงการปลูกข้าวในร่องสวนมะพร้าวก็หายไปเช่นกัน เพราะคุณภาพน้ำที่แย่ลงเป็นสำคัญ  ปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงแม่น้ำและทะเลผลักดันให้ “ปลาหมอคางดำ” เข้ามาอยู่ตามแนวชายฝั่งมากขึ้นก็จริง ปลาหมอคางดำจึงเป็นส่วนหนึ่งที่เสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมด้านสัตว์น้ำ แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก 

บนเวทีเดียวกัน ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการอิสระ เล่าถึงความหลากหลายทางชีวภาพ โดยยกตัวอย่าง แม่น้ำบางปะกงว่า มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีปลานักล่าอยู่มาก แม้ปลาหมอคางดำจะไปประชิดบางปะกงมากว่า 3-4 ปีแล้ว ก็ยังไม่ทำความเสียหายใดๆ ได้ เช่นเดียวกับ ทะเลสาบสงขลา ที่มีปลาน้ำกร่อยมากกว่า 357 ชนิด ขวางทางทำให้ปลาหมอคางดำ ไปได้ไกลสุดแค่ อ.ระโนดเพียงอำเภอเดียว กล่าวได้ว่าแหล่งน้ำหรือลุ่มน้ำที่มีความหลากหลายชนิดของสัตว์น้ำสูง ธรรมชาติจะจัดการธรรมชาติกันเอง เช่น ลุ่มน้ำบางปะกง (ฉะเชิงเทรา) ทะเลสาบสงขลา (สงขลา) ลุ่มน้ำปากพนัง (นครศรีธรรมราช) และปากน้ำแหลมสิงห์ (จันทบุรี)  โดยนักวิชาการท่านดังกล่าวแนะแนวทางแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ด้วยการให้ความรู้และสร้างความตระหนักรู้แก่ชุมชนในการกำจัดมัน รวมถึงให้แนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนส่งเสริมการใช้ประโยชน์ของปลา  ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าแนวทางควบคุมหรือจัดการปลาชนิดนี้มีหลักการและทางออกที่ชัดเจน 

การสร้างภาพให้ปลาหมอคางดำกระทบความมั่นคงทางอาหารจึงออกจะเป็นการกล่าวที่เกินจริง อีกทั้งบางคนยังพยายามใส่ความให้ปลากลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ว่ายน้ำข้ามแม่น้ำโขงไปถึงกัมพูชาได้และลามปามไปถึงขั้นว่าจะถูกเพื่อนบ้านฟ้องเอาด้วย (ส่อให้เห็นว่าเวทีดังกล่าวเป็นเวทีปลุกระดมเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง) ทั้งๆที่วันนี้ยังไม่พบปลาในภาคอีสานของไทยเลย นับเป็นการกระทำโดยมิได้เห็นแก่ประโยชน์ของชาติ  ขณะที่ข้อเท็จจริงคือปลาชนิดนี้ชอบน้ำนิ่ง ไม่สามารถฝ่าด่านนักล่าในแม่น้ำใหญ่ไปได้ หรืออีกมุมหนึ่ง กัมพูชาเองก็ขาดแคลนปลาบริโภคถึงขั้นต้องนำเข้าทุกปี โดยชาวกัมพูชาเคยโพสต์ถึงปลาหมอคางดำในช่วงที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในไทยว่าถ้าไปถึงกัมพูชาก็จะเป็นปลาที่ช่วยสร้างรายได้และเศรษฐกิจของชาวกัมพูชาได้มาก กล่าวคือช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้เขาได้ด้วยซ้ำ 

เมื่อภาครัฐของไทย ภาคเอกชน เกษตรกรและอีกหลายฝ่ายพยายามร่วมมือแก้ปัญหาปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง และต่อเนื่องจนเห็นผลมาถึงขนาดนี้  โปรดเห็นแก่บ้านเมืองช่วยกันสร้างความตระหนัก แต่อย่าสร้างความตระหนกเลย

โดย : ปุริม ปรัชญาภรณ์