สภาทนายความ พา ผสห. แจ้งความ บริษัทเอกชนหลอกลงทุนธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าฯ
เมื่อวันที่ 31 ต.ค.67 นายกิตติคุณ แสงหิรัญ ตัวแทนทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ พาผู้เสียหายประมาณ 50 คน เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนกองปราบปราม 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ หรือ บก.ปอศ. ให้ช่วยดำเนินคดีกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่หลอกร่วมลงทุน ธุรกิจผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด อ้างจะแบ่งเงินปันผลให้5%ต่อสัปดาห์ แต่ท้ายที่สุดอ้างว่าถูกรัฐบาลปิดโปรแกรมบริษัทและถูกอายัดทรัพย์สิ้น จนทำให้สมาชิกกว่า 70,000 คน สูญเงินกว่าหมื่นล้านบาท
นางอภันตรี เจริญศักดิ์ ตัวแทนผู้เสียหาย เล่าว่า บริษัทดังกล่าวมีการโฆษณาผ่านแอพพลิเคชั่น LINE ตั้งแต่ช่วงปี 2562 โดยจะเน้นให้กลุ่มคนที่เกษียณอายุราชการ เข้ามาร่วมลงทุนซื้อหุ้นในธุรกิจ ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าพลังงานสะอาด ผ่านโครงการเกษียณมีสุข ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ร่วมลงทุนมักเป็นข้าราชการวัยเกษียณหรือกลุ่มวัยทำงานที่กำลังจะเออร์รี โดยนำเงินก้อนสุดท้ายมาต่อยอดทำธุรกิจนี้ ทางบริษัทอ้างว่ามีออเดอร์ผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าส่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ
สำหรับหุ้นที่ทางบริษัทเปิดให้ซื้อจะขายในราคาหุ้นละ 100 บาท พร้อมปันผลสัปดาห์ละ 5% เมื่อปันผล 50 สัปดาห์หลังจากนั้นก็จะสามารถปันผลได้ไปตลอดชีวิต โดยจูงใจว่าหุ้นนี้จะสามารถต่อยอดไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานได้ นอกจากนั้นทางบริษัทนี้ยังเคยจัดงานอีเวนท์เปิดตัวที่สร้างความมั่นใจให้กับคนร่วมลงทุน ว่าบริษัทนี้น่าเชื่อถือ มีคนร่วมลงทุนตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้านบาท
ต่อมาบริษัทปิดโปรแกรมการลงทุน และมีการ ยึดอายัดทรัพย์สินจนไม่มีเงินจ่ายให้กับสมาชิก โดยระหว่างนั้นทางบริษัทก็จะเกลี้ยกล่อมไม่ให้แจ้งความดำเนินคดี อ้างว่าจะรับซื้อหุ้นและช่วยเหลือเยียวยาแต่ท้ายที่สุดก็เงียบหาย จนมีผู้เสียหายกลุ่มหนึ่งไปยื่นฟ้องศาลแพ่ง จนปปง. สั่งยึดอายัดทรัพย์สิน กว่า400ล้าน
นางอภันตรี บอกว่าขณะเดียวกันก็ยังมีผู้เสียหายที่ตกหล่น อย่างกลุ่มของตัวเธอเอง ที่ดำเนินการฟ้องศาลแพ่งไม่ทัน ในวันนี้จึงตัดสินใจมาฟ้องคดีอาญาเพิ่มเติม โดยเบื้องต้นกลุ่มของผู้เสียหายที่รวมตัวนำข้อมูลส่งให้สภาทนายความ เพื่อแจ้งความเป็นคดีอาญามีทั้งหมดประมาณ 580 คน ยอดความเสียหายอยู่ประมาณ 150ล้านบาท
ด้านนายกิตติคุณ เปิดเผยว่าในส่วนของคดีอาญา จะเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน ผิดข้อหาเกี่ยวกับพระราชบัญญัติกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งก่อนหน้านี้มีผู้เสียหายไปแจ้งความแล้ว 60 คน ซึ่งสภาทนายความได้ประสานอัยการกองเศรษฐกิจและทรัพยากร แต่ปรากฏว่าผ่านมาสามปีเปลี่ยนพนักงานอัยการจนครบวาระแล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้า จนผู้เสียหายไปร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษและกระทรวงยุติธรรม รวมถึงเดินทางมาแจ้งความเพิ่มเติมในวันนี้ด้วย ขณะเดียวกันสภาทนายความไม่ได้นิ่งนอนใจเนื่องจากคดีนี้มีผู้เสียหายจำนวนมาก ทำให้หลังจากนี้อาจต้องรับเรื่องเหมือนคดีดิไอคอนกรุ๊ป