กลายเป็นประเด็นร้อน หลัง “ผู้กองมาร์ค” ร.ต.อ.วัฒนรักษ์ อำนรรฆสรเดช รองประธานคณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ ออกมาเปิดเผยข้อมูลจากทีมนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เก็บรวบรวมในพื้นที่ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และอำเภอทุ่งช้าง อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน พบสารปรอทปนเปื้อนในดิน น้ำ และอากาศ ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ และระบุว่าสารปนเปื้อนเหล่านี้ อาจมาจาก โรงไฟฟ้าถ่านหิน “ห.” ในประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีทุนจากไทยเป็นส่วนสำคัญ พร้อมกับเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการกับกลุ่มทุนที่อยู่เบื้องหลังโรงไฟฟ้า นอกจากนั้น เขายังเน้นถึงความจำเป็นในการที่ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามหลักการ “ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน” ที่องค์การสหประชาชาติ (UNGP) กำหนดไว้ “ถึงเวลาแล้วที่ทุนพลังงานต้องโปร่งใส หยุดการทำลายสิ่งแวดล้อม ก่อนที่ภาคเหนือจะไม่มีอากาศให้หายใจ!”
ล่าสุด วันที่ 31 ต.ค.67 นายชัยนรงค์ วงศ์ใหญ่ ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ได้ออกมายืนยันว่าสภาพแวดล้อมโดยรวมของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอบ่อเกลือ และ อำเภอทุ่งช้าง ไร้สารปนเปื้อน อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยเปิดเผยว่า ทีผ่านมา ทางจังหวัดน่าน ได้ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 2 กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการ ตรวจสอบ และผลการวิเคราะห์ทางเคมีในห้องปฏิบัติการจากหน่วยงานที่ได้รับมาตรฐาน ISO/IEC 17025 เกี่ยวกับคุณภาพดิน น้ำ อากาศ และปริมาณสารมลพิษและการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม และการดำเนินการเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จังหวัดน่าน ดำเนินการโดยคณะทำงานเฝ้าระวังมลพิษ ผลกระทบ และการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่าน และคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่าน สรุปผลการศึกษาวิเคราะห์ ดังนี้
1.ผลการวิเคราะห์ คุณภาพน้ำแหล่งน้ำผิวดิน ไม่พบ โลหะหนักทุกพารามิเตอร์ รวมถึงปรอท ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เก็บตัวอย่าง เมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2567 จำนวน 6 จุด
2.ผลการวิเคราะห์ ตะกอนดินในแม่น้ำแหล่งน้ำผิวดิน มีพบสารหนู โครเมียม ทองแดง แต่ค่าที่ตรวจวัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยมีรายละเอียดดังนี้ สารหนู พบบริเวณคลองหมูเน่า และอ่างเก็บน้ำห้วยโก๋น เท่ากับ 2.50 และ <5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ แต่ค่าที่ตรวจวัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกำหนดว่า ไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม โครเมียม (Cr) พบทุกจุดเก็บตัวอย่าง เฉพาะสะพานบ้านปางสา อ.ท่าวังผา มีค่าตรวจวัด (45.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) เกินค่ามาตรฐาน ที่กำหนดว่า ไม่เกิน 43.4 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทองแดง (Cu) พบในคลองหมูเน่า อ.เฉลิมพระเกียรติ (<46.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) และสะพานบ้านปางสา อ.ท่าวังผา (46.5มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) มีค่าตรวจวัด เกินมาตรฐาน ที่กำหนดว่า ไม่เกิน 31.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมปรอท (Hg) ตรวจพบที่ คลองหมูเน่า อ.เฉลิมพระเกียรติ (<0.170 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) และสะพานบ้านปางสา อ.ท่าวังผา (<0.170 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ตามลำดับ แต่ค่าที่ตรวจวัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐาน ซึ่งกำหนดว่า ไม่เกิน 0.2 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
3.ผลการวิเคราะห์ดิน บริเวณพื้นที่การเกษตร ปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด กาแฟ ส้ม เงาะ ลำใย และพื้นที่ป่า ในพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เก็บตัวอย่างเมื่อวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2567 จำนวน 15 ตัวอย่าง พบว่าโลหะหนัก ได้แก่ อะลูมิเนียม สารหนู แคดเมียม โครเมียม ทองแดง ปรอท ตะกั่ว สังกะสี ค่าที่ตรวจวัดได้มีตั้งแต่ตรวจไม่พบและตรวจพบ แต่ค่าที่ตรวจวัดได้ไม่เกินค่ามาตรฐานของแต่ละชนิดโลหะหนัก
นอกจากนี้ ทาง สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน ได้ติดตาม ตรวจสอบ รายงานผลการตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมเป็นรายไตรมาส จากบริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด ตั้งแต่พ.ศ.2550 อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน พบว่า ผลการตรวจวัดมีค่าอยู่ในมาตรฐานคุณภาพอากาศ สำหรับฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) มีค่าที่ตรวจวัดได้อยู่ในมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปันจุบัน พบว่า ในปี 2562 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศห้วยโก๋นและปี 2563 สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศตำบลในเวียง มีค่าเฉลี่ยรายปีสูงสุดเท่ากับ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี (ไม่เกิน 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และพบว่า ปี 2560,2564 และ 2565 ที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศห้วยโก๋นมีค่าเฉลี่ยรายปีเท่ากับ 17,18 และ 19ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐาน
ซึ่งจังหวัดน่านขอยืนยันว่าการปนเปื้อนโลหะหนักต่างๆ โดยเฉพาะปรอท ในพื้นที่จังหวัดน่านยังมีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน รวมถึงสุขภาพของประชาชนในรอบ 10 ปี (พ.ศ. 2557-2567) ว่าไม่พบอุบัติการณ์ของโรคที่มีโอกาสเกิดจากมลพิษและการปนเปื้อนในสภาพแวดล้อม ประชาชนยังมีความปลอดภัยในชีวิต สามารถดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ
ทั้งนี้ จังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังคงให้ความสำคัญและดำเนินการเฝ้าระวังในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบและเฝ้าระวังมลพิษทางสิ่งแวดล้อม จังหวัดน่านเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามจะได้ประสานไปยัง คณะกรรมาธิการ พ.ร.บ.อากาศสะอาดฯ และทีมวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อความร่วมมือ ร่วมกันต่อไป