ลีลาชีวิต / ทวี สุรฤทธิกุล

สังคมเส้นสายคือสังคมเก่าของข้าราชการไทย แล้วสังคมใหม่ที่ไร้เส้นสายจะเป็นได้จริงหรือ?

ตอนที่สุปรียาได้มาประจำสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาล หลังจากที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง เพียงเพราะไปรับจ้างทำอาหารออกรายการโทรทัศน์ จากนั้นพรรคพลังประชาชนก็ให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขยของนายทักษิณ ชินวัตร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็ถูกม็อบต่อต้าน แม้แต่จะเข้าไปบริหารงานในทำเนียบก็ทำไม่ได้ สุดท้ายพรรคพลังประชาชนถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบตอนต้นเดือนธันวาคม 2551 เนื่องจากกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 จึงต้องมีการสรรหานายกรัฐมนตรีใหม่ ที่เป็นปรากฏการณ์ “ฮือฮา” ที่สุดครั้งหนึ่งของการเมืองไทย เรียกว่า “งูเห่าภาค 2” คือนายเนวิน ชิดชอบ ได้หักหลังนายทักษิณ พาพรรคพวกในพรรคพลังประชาชนที่แตกแล้ว มา “กอด” กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยให้นายอภิสิทธิ์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี

วันหนึ่งท่านปลัดกระทรวงเรียกสุปรียาให้ไปพบ บอกว่ามีงานสำคัญจะให้ทำ คือไปเป็นสตาฟฟ์ให้กับ “ท่าน” เลขานุการรัฐมนตรีว่าการ ตอนแรกเธอคิดจะปฏิเสธเพราะเคยรู้มาว่า กลุ่มการเมืองที่มาคุมกระทรวงในตอนนั้น “มีชื่อเสียไม่ค่อยดี” ทว่าด้วยคำเชิญของผู้บังคับบัญชาที่เป็นเหมือนคำสั่ง เธอก็จำใจจะต้องทำ พร้อมกับที่เธอก็ต้องมองบวกว่า บางทีเธออาจจะได้ไปรู้ไปเห็น “อะไรดี ๆ” ในงานนี้ก็ได้

โดยทั่วไปตั้งแต่ไหนแต่ไร “ทีมงานหน้าห้อง” หรือสตาฟฟ์ของรัฐมนตรีจะประกอบด้วยด้วยบุคลากร 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือมาจากข้าราชการประจำ โดยมีข้าราชการระดับซี 8 เป็นหัวหน้าสำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี และมีข้าราชการอื่น ๆ อีก 10 - 15 คน แล้วแต่ความใหญ่โตของกระทรวง อย่างที่กระทรวงมหาดไทยนี้ก็มีกว่ายี่สิบคน เพราะมีกรมกองที่ต้องดูแลมาก อีกส่วนหนึ่งคือคนของนักการเมืองเอง ที่เป็นตำแหน่งประจำก็คือเลขานุการรัฐมนตรี 1 คน และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรี ตามจำนวนรัฐมนตรีช่วยว่าการ ตำแหน่งนี้มักจะมาจาก ส.ส. หรือพรรคการเมืองส่งมา นอกจากนี้ก็มีตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีที่เป็นตำแหน่งการเมืองอีกตำแหน่งหนึ่ง ก็มาจากพรรคการเมืองเช่นกัน คนเหล่านี้ตั้งแต่รัฐมนตรีลงมาก็จะนำคนของตนมาช่วยงานที่สำนักงานเลขาฯรัฐมนตรีนี้อีก ส่วนใหญ่จะเป็นญาติหรือคนใกล้ชิด จำนวนมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่ “บารมี” ของนักการเมืองแต่ละคนนั้น

อย่างไรก็ตาม ในสมัยระบอบทักษิณตั้งแต่ พ.ศ. 2545 ที่มีการจัดแบ่งกระทรวงจาก 15 กระทรวงแต่เดิม ให้เป็น 20 กระทรวงขึ้นใหม่ พร้อมกันนั้นฝ่ายการเมืองก็ได้สร้าง “นวัตกรรมใหม่” ในกระทรวงต่าง ๆ เรียกว่า “คณะทำงานของรัฐมนตรี” ขึ้นอีกด้วย ให้เข้ามากำกับการทำงานของสำนักงานเลขานุการรัฐมนตีอีกชั้นหนึ่ง แม้นายทักษิณจะกลายเป็นนักโทษชายหนีคดีไปใน พ.ศ. 2549 แต่หน่วยงานนี้ก็ยังเป็นที่ “ป๊อปปูลาร์” แม้ในรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อย่างที่กระทรวงมหาดไทยก็ได้แต่งตั้งให้น้องชายของ “คนโตบุรีรัมย์” เป็นประธานคณะทำงานของรัฐมนตรี โดยสุปรียาก็ได้มาทำงานอยู่ในฝ่ายของข้าราชการประจำ คือช่วยราชการที่สำนักเลขานุการรัฐมนตรี แม้ว่าจะไม่ได้เข้าไปทำงานในคณะทำงานของรัฐมนตรีโดยตรง แต่การที่ต้องรับคำสั่งจากฝ่ายการเมือง ที่ภาษาราชการเรียกอย่างสุภาพ ๆ ว่า “ประสานงาน” ก็พอจะได้รู้ได้เห็นกับ “พฤติการณ์” ของคณะทำงานนี้ รวมถึงนักการเมืองและทีมงานหลาย ๆ คน ที่สร้าง “วีรเวร” ไว้ในกระทรวงอยู่ในครั้งนั้น

กระทรวงมหาดไทยมักจะมีเรื่องราวกล่าวขานว่า เป็นกระทรวงที่มีการใช้เส้นสายกันค่อนข้างมาก ที่เป็นเรื่องฉาวโฉ่เสมอมาก็คือ การแย่งชิงตำแหน่งต่าง ๆ ของ “สิงห์ดำ” กับ “สิงห์แดง” โดยสิงห์ดำก็คือข้าราชการที่จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสิงห์แดงก็คือข้าราชการที่จบมาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ความจริงในช่วง พ.ศ.นั้น ข้าราชการมหาดไทยจากสถาบันอื่น ๆ มีจำนวนมากแล้ว ได้แก่ สิงห์ขาวของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สิงห์ทองของมหาวิทยาลัยรามคำแหง สิงห์เขียวของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และสิงห์เขียวทองของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ก็ยังไม่ได้เข้ามาอยู่ในสมรภูมิของการแย่งชิงตำแหน่งสูง ๆ ในกระทรวงมหาดไทย หรือถ้ามีก็ไม่ได้มีปัญหามากเหมือนการ “ฟัดกัน” ระหว่างสิงห์ดำกับสิงห์แดงดังกล่าว) ดังนั้นเมื่อถึงคราวแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทยในปีนั้น ก็มีข่าวออกมาว่ามีการ “เล่นสี” กันอย่างหนัก โดยสีที่มาแรงใน พ.ศ.นั้นก็คือ “สีแดง” ทำให้เกิดกระแสโฮกฮากออกมาจาก “สีดำ” ที่ร้องกันระงมว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม

พวกที่เคลื่อนไหวออกมาอย่างเต็มที่ก็คือคณาจารย์จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้ทำจดหมายเปิดผนึกไปยื่นกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เนื้อหาในจดหมายโดยสรุปก็คือ มีกระบวนการทำงานที่ไม่ชอบมาพากลในคณะทำงานของรัฐมนตรี ทำให้กระบวนการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงไม่เป็นปกติ รวมทั้งอาจจะมีเรื่องการคอร์รัปชันหรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์ ตลอดจนการเล่นพรรคเล่นพวก ที่อาจจะทำลายระบบคุณธรรมในระบบราชการ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบริหารราชการ และเกิดผลร้ายทำลายอนาคตของข้าราชการจำนวนหนึ่งอีกด้วย ผลจากการเรียกร้องของคณาจารย์กลุ่มนี้ แม้จะทำอะไรกับกลุ่มคนที่ดำเนินการในเรื่องนี้ไม่ได้ แต่ก็ส่งผลถึงการกระชากหน้ากากและทำให้การกระทำดังกล่าวชะงัก โดยเป็นที่พอใจของข้าราชการทุก ๆ สี รวมถึงที่ทำให้การต่อสู้ระหว่างสีต่าง ๆ นั้นไม่ได้เป็นเรื่องร้ายแรงเช่นแต่ก่อน เพราะได้มีการแต่งตั้งข้าราชการในกลุ่มสถาบันอื่น ๆ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูง ๆ อย่างทั่วถึง ซึ่งสุปรียาที่เป็นคนในอยู่ในเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วยคนหนึ่ง ก็ยืนยันว่าข้าราชการในกระทรวงเกิดความสามัคคีกันมากขึ้น อีกทั้งยังทำให้ฝ่ายการเมืองลดการล้วงลูกไประดับหนึ่ง โดยเฉพาะระมัดระวังที่จะไม่ทำอะไร “โฉ่งฉ่าง” ให้อื้อฉาวออกไปภายนอก

สุปรียาบอกว่าข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยน่าจะเป็นข้าราชการที่ “โอนอ่อนผ่อนปรน” มากที่สุด จนคนที่มาเจอกับคนมหาดไทยในครั้งแรก ๆ จะเกิดความประทับใจ กระทั่งที่สุดก็จะไว้วางใจหรือ “เชื่อใจ” นั่นเลยทีเดียว ในอดีตภาพลักษณ์ของคนมหาดไทยก็คือคนที่คอย “กุมมือไว้ที่เป้ากางเกงและก้มหัว” ต่อหน้าผู้หลักผู้ใหญ่ในทุก ๆ ที่ และพูดน้อย ไม่ค่อยโต้เถียงหรือแสดงความคิดเห็นอะไร โดยพร้อมที่จะรับคำสั่งอยู่เพียงฝ่ายเดียว แม้ว่าในเวลาต่อมาคนมหาดไทยก็ยังแสดงท่าทางแบบนั้นอยู่เป็นส่วนใหญ่ แต่สุปรียาก็สังเกตว่าคนมหาดไทยเริ่มจะ “มีปากมีเสียง” แต่เป็นเสียงที่แนะนำหรือให้ความเห็นอย่างนุ่มนวล หรือบางทีก็คล้าย ๆ จะคัดค้านหรือไม่เห็นด้วย แต่ก็พูดออกไปด้วยความสุภาพและนอบน้อม เพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองเสียหน้า แต่ที่สำคัญคือเป็นการพูดที่รักษาผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย คือนักการเมืองก็ได้อย่างที่อยากได้ และข้าราชการก็ยังสามารถรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ รวมถึงความอยู่รอดและความรุ่งเรืองของตนเองนั้นได้ต่อไป

สุปรียากล้าพูดอย่างนี้เพราะได้เห็นข้าราชการของบางกระทรวงดูเหมือนจะไม่ได้ “ฉลาด” แบบข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยแบบนี้ ซึ่งเธอได้ไปพบข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ ในการประสานงานที่สำนักงานเลขานุการนายกรัฐมนตรี ภายหลังการรัฐประหารใน พ.ศ. 2557 โดยเจ้านายของเธอได้เข้าไปเป็นกรรมการในคณะกรรมการโครงการสำคัญของรัฐบาล ที่มีข้าราชการผู้ใหญ่จากหลาย ๆ กระทรวงมารวมกัน ซึ่งก็ตามมาด้วยลูกน้องจำนวนมาก ที่ต้องมีการปะชุมกันเดือนละหลายครั้ง โดยโครงการนี้ดำเนินการเรื่อยมาอีกหลายปี แม้เมื่อได้มีการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2562 แล้ว โครงการนี้ก็ยังดำเนินอยู่ เพราะตัวนายกรัฐมนตรียังเป็นคนเดิม สุปรียาได้ใช้เวลาช่วงนี้ “ศึกษา” ข้าราชการของกระทรวงต่าง ๆ จน “รู้ซึ้ง” กระทั่งรู้สึกว่า “อิ่มตัว” อันเป็นเหตุผลหนึ่งที่เธอไม่อยากทำงานราชการอีกต่อไป แม้ว่าจะเหลืออายุราชการอีกเกือบสิบปี

มุมมองของเธอเกี่ยวกับอนาคตของระบบราชการน่าสนใจมาก คงต้องฟังเธอเล่าต่อไปอีกสักนิด!