กรมส่งเสริมการเกษตร เดินหน้ายกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชนให้เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เสริมความรู้และทักษะประยุกต์ใช้ในการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน

วันที่ 30 ต.ค.67 นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนศักยภาพและยกระดับเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชน สู่ผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร เพื่อมุ่งให้เกิดการยกระดับและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน โดยมีเกษตรกรรุ่นใหม่ และตัวแทนวิสาหกิจชุมชน เข้าร่วมอบรม ณ โรงแรมรามาการ์เด้น ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ

นายพีรพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตร มีเกษตรกรรุ่นใหม่กว่า 25,500 คน และวิสาหกิจชุมชน กว่า 73,000 แห่ง และพัฒนาเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนอีกกว่า 578 เครือข่าย การพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชนสู่การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร จึงต้องเริ่มจากกระบวนการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทักษะด้านการบริหารจัดการองค์กร การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด E-Marketing รวมถึงการบริหารจัดการทางการเงินการทำธุรกิจสมัยใหม่ ความรู้ทางบัญชี ภาษี การเข้าถึงแหล่งเงินทุน องค์ความรู้รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับมาตรฐานการเกษตรในอนาคต ที่ต้องทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิงแวดล้อม นโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์และบริการจากกิจกรรมของเกษตรกรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้ประกอบธุรกิจเกษตร

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายของโครงการในครั้งนี้คือ การพัฒนาทักษะของเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชน ด้วยกระบวนการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) มีวิทยาลงฝึกสอนเชิงพื้นที่ (Coachine) ให้คำแนะนำเชิงลึกเพื่อพัฒนาศักยภาพเกษตรกรรุ่นใหม่และวิสาหกิจชุมชน ที่มุ่งเน้นพัฒนาด้านการบริหารจัดการองค์กร การบริหารเชิงธุรกิจและเสริมสร้างแนวคิดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยใช้แนวคิดการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) โดยตั้งเป้าหมายให้เกิดต้นแบบใน 6 พื้นที่ ที่สามารถส่งต่อแนวคิด และองค์ความรู้ไปยังเกษตรกรอื่นรอบข้างได้ เพื่อเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาศักยภาพภาคการเกษตรของไทย คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคการเกษตรให้มีศักยภาพและทักษะอย่างรอบด้าน และเตรียมพร้อมที่จะก้าวไปผู้ประกอบการธุรกิจเกษตร ที่มีความยั่งยืนและพร้อมรับมือกับสถานการณ์โลกในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

"ปัจจุบันนี้ และในอนาคต ความอยากลำบาก และความท้าทายที่เราจะอยู่ในระบบเศรษฐกิจได้ จำเป็นต้องศึกษา และเรียนรู้อยู่เสมอ ทั้งการทำธุรกิจ การวางแผนการผลิต การศึกษาความต้องการของผู้บริโภค หรือแนวโน้มของตลาด และการบริหารการเงิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นเกษตรกรจะต้องเรียนรู้มากขึ้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตรพร้อมที่จะทำงานร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความรู้ เพื่อให้ภาคการเกษตรไทยทั้งประเทศขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ โดยเฉพาะในยุค Climate Change ซึ่งเป็นยุคที่ทุกคนต้องการสินค้าที่ตอบโจทก์เรื่องการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์" นายพีรพันธ์ กล่าว