วันที่ 30 ต.ค.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก กองทัพเรือ Royal Thai Navy โพสต์ข้อความระบุว่า...
กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐิน โดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร
กาพย์เห่เรือที่ใช้ในพระราชพิธีครั้งนี้ เป็นการประพันธ์ขึ้นใหม่ โดยพลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย เป็นอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญยิ่งของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค นั้นคือ การให้จังหวะแก่ฝีพายให้พายตามจังหวะทำนอง เพื่อให้เรือแล่นไปอย่างพร้อมเพรียง และสวยงาม ที่เรียกว่า "การเห่เรือ"
การแห่เรือ มีวัตถุประสงค์ คือ การให้จังหวะแก่ฝีพายจำนวนมากในการพายเรือพระราชพิธี ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความพร้อมเพรียงแล้ว ยังปลุกเร้าฝีพายให้มีพลัง ไม่เหน็ดเหนื่อยง่าย
คำประพันธ์ สำหรับใช้เป็นแบบอย่างของบทเห่เรือเก่าที่สุดที่เหลือเป็นหลักฐานสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน คือ กาพย์เห่เรือ บทพระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศรไชยเชษฐ์สุริยวงศ์ หรือ "เจ้าฟ้ากุ้ง" ในสมัยอยุธยาตอนปลาย
ในสมัยรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปรากฏหลักฐานการนำบทเห่เรือ ทั้งที่มีมาแต่เดิมและประพันธ์ขึ้นใหม่มาใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารคเนื่องในการพระราชพิธีต่าง ๆ สืบมา
และในวันที่ 27 ตุลาคม 2567 กาพย์เห่เรือเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ประพันธ์โดย "พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย" ประกอบด้วย 4 บท ได้แก่
#บทสรรเสริญพระบารมี, #บทชมเรือกระบวน, #บทบุญกฐิน และ #บทชมเมือง
การเห่เรือของไทย ปรากฏหลักฐานอย่างชัดเจน ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย สันนิษฐานว่า เดิมการเห่เรือน่าจะมีที่มาจากการให้จังหวะเพื่อให้การพายเรือเป็นไปอย่างพร้อมเพรียง ต่อมาจึงค่อย ๆ พัฒนาเป็นทำนองที่ชัดเจน ประกอบด้วย
ช้าลวะเห่ (ช้า-ละ-วะ-เห่) เป็นการเห่ที่มีการเอื้อนเป็นทำนองช้า ๆ ใช้ในการเห่เรือเมื่อพายเรือ ตามน้ำซึ่งไม่ต้องการจังหวะที่รวดเร็วมากนัก
มูลเห่ (มูน-ละ-เห่) เป็นการเห่ที่มีทำนองเร็วกว่าช้าลวะเห่ ใช้ในการเห่เรือเมื่อพายเรือทวนน้ำ ซึ่งต้องการจังหวะฝีพายที่รวดเร็ว
สวะเห่ (สะ-วะ-เห่) เป็นการเห่ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะมีความเก่าแก่ที่สุด ใช้ในการเห่เมื่อเรือพระที่นั่งจะเข้าเทียบท่า