ครม. เห็นชอบให้ไทยร่วมโครงการ Artemis เข้าสู่การสำรวจอวกาศระดับโลก เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ผ่านอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ
29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการลงนามใน Artemis Accords โดยมอบหมายให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. เป็น National Focal Point ของประเทศไทย ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นหลักการสำหรับความร่วมมือด้านพลเรือนในการสำรวจอวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ทางสันติที่มีสหรัฐอเมริกาเป็นแกนนำหลัก ซึ่งมีประเทศชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมข้อตกลงจำนวน 47 ประเทศเข้าร่วมแล้ว ซึ่งการเข้าร่วมจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทย เป็นโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจ ธุรกิจอวกาศ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ องค์ความรู้ ซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์มาสู่ประชาชนได้
นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชี้ว่าการเข้าร่วม Artemis Accords เป็นโอกาสในการก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมอวกาศไทยให้ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ บนเวทีโลก ประเทศไทยจะได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนโครงการสำรวจและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในอวกาศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ข้อตกลงความร่วมมือนี้จะช่วยสร้างโอกาสการเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีขั้นสูงจากประเทศสมาชิก สร้างแรงบันดาลใจและขยายโอกาสให้กับผู้ประกอบการ นักวิชาการและนักวิจัยในประเทศไทยให้เกิดการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต
ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ภายหลังการลงนาม Artemis Accords คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ จะเป็นกลไกหลักในการพิจารณากิจกรรมที่จะเข้าร่วมในนามประเทศไทย โดย GISTDA ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติจะทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริม และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ Artemis Accords รวมถึง Artemis program ให้ทุกภาคส่วนได้เข้าถึงข้อมูล ทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการอวกาศระดับโลก เพื่อให้คนไทยไม่พลาดโอกาสที่จะมีส่วนร่วมและเข้าถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูง สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษา
ทั้งนี้ Artemis Accords ไม่เพียงแต่ทำให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการอวกาศระดับโลกเท่านั้น แต่ยังถือเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้แก่เยาวชนรุ่นใหม่ เปิดประตูให้พวกเขาได้มีโอกาสและเห็นศักยภาพของไทยบนเวทีอวกาศระดับสากลอย่างแท้จริง เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ใหม่และอนาคตที่ยั่งยืนที่ไม่เพียงแต่จะเปลี่ยนชีวิตของคนไทย แต่ยังช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยในด้านการสำรวจและการใช้ประโยชน์จากอวกาศที่เป็นอนาคตของเศรษฐกิจและสังคมต่อไป