แพทองธารขอฟังความคิดเห็นคนในเพื่อไทยก่อนชงหรือไม่ชงกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภา คาด 12 ธ.ค.ได้ข้อสรุป ตอกย้ำเพื่อไทยไม่นิรโทษกรรมคดี112 ปกรณ์วุฒิมึนจุดยืนเพื่อไทย ยังเสียงแตกปม 112 ด้าน หมอวรงค์ เข้าพบกกต.ให้ปากคำเพิ่มเติม ร้องยุบเพื่อไทย มั่นใจหลักฐานทักษิณครอบงำรัฐบาล
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 29 ต.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)นิรโทษกรรม พ.ศ. รอการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้าถึง 4 ฉบับ โดยพรรคเพื่อไทยจะยื่นร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไปประกบด้วยหรือไม่ ว่า เรื่องนี้คงต้องพูดคุยกันในพรรคก่อน ฟังความเห็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ขอให้ความมั่นใจว่าเมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยหน้าวันที่ 12 ธ.ค.นี้ จะมีข้อสรุปในเรื่องนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการวางแนวทางไม่นิรโทษกรรมการกระทำผิดที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แน่นอน ต้องไม่แตะมาตรา 112 เป็นสิ่งที่เราย้ำมาตลอด ตั้งแต่ตั้งรัฐบาล ได้เน้นย้ำเรื่องนี้ทุกพรรคการเมืองที่มาร่วมรัฐบาล ก็ตกลงว่าจะไม่มีการแตะมาตรานี้ รวมทั้งหมวด 1 และหมวด 2 ในรัฐธรรมนูญด้วย
ด้าน นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวถึงกฎหมายนิรโทษกรรมที่ พรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษมาตรา 112 ว่า หลายเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยพูดมาตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง หรือผ่านการเลือกตั้งไปแล้ว คิดว่าเพื่อไทยเข้าใจดีเกี่ยวกับ 112 แต่ก็ไม่แน่ใจว่าด้วยข้อจำกัดอะไรที่ในวันนี้อาจจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่ถ้าไปดูในรายงานกรรมาธิการที่ศึกษากันไปแล้วสภาโหวตคว่ำในข้อสังเกต กรรมาธิการของพรรคเพื่อไทยจาก 8 คน มี 4 คน ให้ความเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม มาตรา 112 แบบมีเงื่อนไข อีก 2 คน ไม่เห็นด้วยและอีก 2 คน ไม่แสดงความเห็น จึงต้องตั้งคำถามกลับไปว่าจริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทยก่อนเลือกตั้ง หลังเลือกตั้ง หรือแม้แต่ตัวแทนที่พรรคเพื่อไทยส่งเข้ามาในกรรมาธิการก็ยังมีความเห็นเกี่ยวกับคดี 112 แบบนี้อยู่
ดังนั้นกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเป็นดำริของพรรคเพื่อไทยที่ตั้งญัตติเพื่อต้องการที่จะศึกษา ต้องการที่จะรับฟังความเห็นรอบด้าน แต่เมื่อรับฟังมาแล้วตัวแทนของพรรคเพื่อไทยกว่าครึ่งมีความเห็นแบบนี้ตกลงแล้วพรรคเพื่อไทยจะส่งร่างนิรโทษกรรมเข้ามาประกบกับพรรคประชาชนและพรรคอื่นๆ ในสมัยหน้าหรือไม่ และหน้าตาจุดยืนของพรรคเพื่อไทยเพื่อแก้ไขปมความขัดแย้งต่อเนื่องมายาวนานหลายปีจะมีแนวทางอย่างไร
ส่วนที่พรรคร่วมรัฐบาลอื่นมีแนวโน้มที่จะคว่ำร่างนิรโทษกรรมของพรรคประชาชนนั้น นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ก็ต้องมีการพูดคุยสื่อสารกับพรรคการเมืองด้วยกันเองและสังคมว่าเจตนาที่แท้จริงของเราคืออะไร การทำงานในสภาก็เข้าใจว่าสุดท้ายก็ต้องเคารพเสียงข้างมาก แต่ก็ต้องฝากว่าถ้าพรรคเพื่อไทยจะเสนอเนื้อหาที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไปจากที่พรรคประชาชนเสนอไปบ้างแต่ก็ยังเปิดโอกาสให้คนกระทำความผิดต่างๆไม่ว่าจะฐานความผิดใดแต่ด้วยแรงจูงใจทางการเมือง ก็ควรได้รับโอกาสนิรโทษกรรม เราก็ยินดีที่จะเห็นชอบ จึงอยากให้พรรคเพื่อไทยระลึกไว้ว่าทุกพรรคการเมืองไม่ว่าจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ก็มีความคิด มีอุดมการณ์เป็นของตนเอง ไม่จำเป็นจะต้องเห็นพ้องกันทุกเรื่อง แม้จะเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือรัฐบาลถ้าเรายึดหลักการของพรรคตัวเองให้มั่น พรรคประชาชนยินดีที่จะเห็นชอบกับ เรื่องต่างๆที่ เป็นไปในทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของเรา ไม่ว่าจะพรรคไหนเป็นคนเสนอ
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงผลสำรวจที่ไม่เชื่อมั่นการทำงานของฝ่ายค้าน ว่า เป็นการสะท้อนการทำงานของพรรคร่วมฝ่ายค้านให้เราทำงานหนักขึ้น พรรคประชาชนก็เพิ่งเกิดมาไม่นาน ถึงแม้จะเคยเป็นพรรคก้าวไกลมาก่อนก็ตาม แต่ก็ไม่เสียกำลังใจแต่ก็จะใช้การทำงานอย่างหนักของเราพิสูจน์ในอนาคตสมัยประชุมนี้จบไป สมัยประชุมหน้าเราจะกลับมาอย่างเต็มที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องญัตติต่างๆ หรือพ.ร.บ.ที่ผ่านมา ที่เสนอเข้าสภา 70 ฉบับแล้ว ก็จะทำให้ประชาชนได้เห็นอยู่เรื่อยๆ ส่วนกระแสนิยมอาจจะตกเพราะประชาชนเห็นว่าทั้งก้าวไกลเดิมเคยเป็นมิตรกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะกรณีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เคยไปพบกับ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอให้รอสมัยประชุมหน้า จะได้รู้ว่าเราเป็นมิตรกันจริงหรือไม่
นายปกรณ์วุฒิ ยังกล่าวถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า คาดว่าช่วงต้นสมัยประชุมหน้าน่าจะเหมาะสม มากกว่าเพราะไม่ได้เร่งรีบมาก แต่ถ้าจะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญจริงๆ คาดว่าน่าจะต้องรอกรรมาธิการร่วมพิจารณาพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ประชุมในวันพรุ่งนี้ ซึ่งต้องดูท่าที แต่ด้วยเนื้อหาถ้าตั้งใจจริงๆวันเดียวก็เสร็จ และอาจจะจบภายใน ช่วงปิดสมัยประชุมและอาจจะเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาในเรื่องนี้ได้
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของฝ่ายค้าน ว่า ค่อนข้างพอใจ แต่ต้องยอมรับว่าในสมัยประชุมนี้มีหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราก็พอที่จะบริหารจัดการได้ราบรื่นบ้างไม่ราบรื่นบ้าง ในส่วนของกระทู้เอง ก็คิดว่าคล้ายๆกัน พรรคฝ่ายค้านก็มีผลกระทบรัฐบาลก็มีผลกระทบ แต่คาดหวังว่าในสมัยประชุมหน้าตั้งแต่ต้นต้นสมัยประชุมจะได้เห็นนายกรัฐมนตรีจะมาตอบกระทู้สดของฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนก็คงจะคาดหวังที่จะได้เห็น นายกรัฐมนตรีมาตอบข้อสงสัยจากพรรคฝ่ายค้านเช่น
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สร้างเสริมสังคมสันติสุข ที่เสนอโดยพรรค รทสช. ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว เสนอไปตั้งแต่ก่อนมีการศึกษาแนวทางการตราร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว จุดยืนของพรรค รทสช.ประกาศชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมจะต้องไม่รวมผู้กระทำความผิดมาตรา 112 เรื่องทุจริต และเรื่องฆ่าคนตาย คดีอาญาร้ายแรง 3 ส่วนนี้ต้องไม่นำเข้าไปอยู่ในเงื่อนไขของการนิรโทษกรรม แต่ถ้าเป็นการนิรโทษกรรมทางการเมือง เราไม่มีปัญหา
ทั้งนี้ เท่าที่ฟังทุกพรรคร่วมรัฐบาลเห็นตรงกัน ขณะที่ทางพรรคเพื่อไทยเองได้ประกาศชัดว่าไม่แตะเรื่องมาตรา 112 ส่วนกรณีที่ทางพรรคเพื่อไทยจะเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมประกบด้วยนั้น โดยปกติในการพิจารณากฎหมายของสภา ถ้ากฎหมายมีหลักการตรงกัน เป็นเรื่องคล้ายกัน ก็สามารถพิจารณาร่วมกันได้
วันเดียวกัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี เดินทางมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ กกต. หลังร้องเรียนในข้อกล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคเพื่อไทย ซึ่งมี 3 คำร้องในครั้งที่แล้ว คือการประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อ 14 ส.ค. การครอบงำ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ครอบงำเรื่องการควบตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม และเรื่องการเชิญพรรคร่วมมาจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งในวันนี้ ตนได้มายื่นคำร้องเพิ่มอีก 3 ข้อกล่าวหา แต่ขอไม่เปิดเผยข้อมูล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ถูกร้องบิดเบือนข้อมูล รวมทั้งสิ้น 6 ประเด็นสำคัญในคำร้อง
นพ.วรงค์ กล่าวถึงความมั่นใจในหลักฐานที่จะมัดตัวนายทักษิณ พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ว่า เชื่อในหลักฐานที่มีอยู่ ในการรายงานข่าวของสื่อทุกสำนัก หากไม่ถูกต้องคนของพรรคเพื่อไทยก็ต้องออกมาปฏิเสธบ้าง แต่นี่กลับไม่มี ดังนั้นจะเป็นหลักฐานทั้งหมด ส่วนการออกมาแย้งจากคนในฝั่งรัฐบาลว่านายทักษิณไม่ได้ครอบงำ เพราะแคนดิเดตนายกฯ คือน.ส.แพทองธาร ไม่ใช่นายชัยเกษมนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นว่านายทักษิณมีอิทธิพลเหนือพรรคเพื่อไทยจริง แล้วจะมาประชุมที่บ้านจันทร์เพื่ออะไร คงไม่มานั่งเล่น ไปมาหาสู่กัน ซึ่งเป็นการนับเฉพาะเหตุการณ์ในวันนั้น แม้ว่าวันรุ่งขึ้นจะส่งให้นางสาวแพทองธารเป็นแคนดิเดตนายกฯ
นพ.วรงค์ กล่าวต่อว่า ในคำร้องตนไม่ได้กล่าวโทษถึงพรรคร่วมรัฐบาล แต่ของผู้ร้องท่านอื่นตนไม่รู้ เพราะเห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาล มาในฐานะที่มีสิทธิ์ต่อรอง ซึ่งสิ่งนี้ก็หมายความว่านายทักษิณมีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมจึงต้องมาต่อรองให้มันจบ ส่วนที่พรรคเพื่อไทยยังไม่เคลื่อนไหวมากนั้น เป็นไปได้หรือไม่ว่ากำลังเตรียมรับมือกับคำร้องเหล่านี้ นพ.วรงค์ ระบุว่า แน่นอนว่าเขาคงต้องแก้เกม เพราะสิ่งที่ทำมามันมีผลย้อนกลับไปอย่างแรงซึ่งเกมที่ไหลลงมามีมาก จึงทำให้ต้องนิ่งและประเมินสถานการณ์