ถูก “รับน้อง” แบบชนิดฉับพลันทันทีที่นั่งเก้าอี้ผู้นำอินโดนีเซียกันเลยก็ว่าได้ แถมมิหนำซ้ำ การรับน้องที่ว่า ก็ต้องนับว่า รับกันอย่างโหดเสียด้วย
สำหรับ การเข้ามาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียของ “นายปราโบโว ซูเบียนโต” อดีต ผบ.หน่วยรบพิเศษแห่งกองทัพบกอินโดนีเซีย ซึ่งมีขึ้นเมื่อช่วงต้นของสัปดาห์ที่แล้ว
พลันที่เสร็จสิ้นพิธีสาบนตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการ ในสัปดาห์นั้น เพียงสัปดาห์เดียว ได้เกิดเหตุการณ์เรือยามฝั่งของกองทัพเรือจีน ได้เข้าป้วนเปี้ยนล้ำน่านน้ำของหมู่เกาะนาตูนา อินโดนีเซีย ถึงสองครั้งสองครา
เกิดการเผชิญหน้าระหว่างเรือยามฝั่งของกองทัพเรือจีน กับเรือยามฝั่งของกองทัพเรืออินโดนีเซีย แต่โชคดีที่ไม่มียิงปะทะกัน โดยเรือยามฝั่งของกองทัพเรือจีน เป็นฝ่ายแล่นออกนอกน่านน้ำไป จึงไม่มีความสูญเสียเกิดขึ้น แม้ว่าหนึ่งในเหตุการณ์นั้น เรือยามฝั่งของกองทัพเรือจีนได้เข้ามาสร้างความปั่นป่วน ด้วยการสกัดขัดขวางการสำรวจน้ำมันปิโตรเลียมของบริษัทเปอร์ตามินา ซึ่งเป็นบริษัทดำเนินกิจการด้านพลังงานของทางการอินโดนีเซีย ที่บริเวณน่านน้ำของหมู่เกาะนาตูนาดังกล่าวก็ตาม
อย่างไรก็ดี เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นที่จับตาของบรรดานักวิเคราะห์ ที่มีความคิดเห็นว่า ไม่ผิดอะไรกับการรับน้องของจีนที่มีต่อประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งได้ไม่ทันข้ามอาทิตย์
นอกจากนี้ เหล่านักวิเคราะห์ก็ยังแสดงทรรศนะด้วยว่า ยังเป็นการหยั่งเชิงของจีน ที่นายปราโบโว ในฐานะประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนใหม่ ว่าจะเหมือน หรือแตกต่าง จากนายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนก่อนที่เพิ่งอำลาตำแหน่งไป
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงนายวิโดโด เจ้าของนิกเนมว่า โจโกวี ผู้กลายเป็นอดีตประธานาธิบดีของอินโดนีเซียไปแล้วนั้น ก็ต้องนับว่าเป็นผู้นำอินโดนีเซีย ที่ “โปร” หรือสนับสนุนยืนเคียงข้างกับจีนโดยแท้
โดยมีการกล่าวกันว่า นายวิโดโด เป็นผู้นำอินโดนีเซีย ที่โปรจีนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของอินโดนีเซียกันเลยก็ว่าได้ หรือถ้าจะกล่าวเปรียบเทียบกับผู้นำคนอื่นๆ ของประเทศในกลุ่มชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียนด้วยกันแล้ว ก็ต้องบอกว่า นายวิโดโด ก็ยืนอยู่ในระดับแถวหน้าด้วยเหมือนกัน สำหรับ ผู้นำชาติอาเซียนที่โปรจีน
ถึงขนาดจัดทำเป็นตัวเลขสถิติว่า นายวิโดโด เดินทางเยือนประเทศจีนมากถึง 7 ครั้ง ในระหว่างที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย 2 สมัย ตลอดระยะเวลา 10 ปี คือ ระหว่าง 2014 – 2024 (พ.ศ. 2557 – 2567) โดยเป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์ที่เขาเดินทางไปเยือน 9 ครั้ง
นอกจากนี้ ในสมัยของอดีตประธานาธิบดีวิโดโด เขาก็ทำให้อินโดนีเซีย ประเทศที่ได้ชื่อว่า มีประชากรที่เป็นมุสลิมในโลก เป็นแหล่งการลงทุนจากจีนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งอีกด้วย จากข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และการลงทุน ตลอดจนการปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรักเจอร์ต่างๆ เช่น ทางรถไฟ เป็นต้น ในอินโดนีเซีย
อย่างไรก็ตาม แม้ในยุคของอดีตประธานาธิบดีวิโดโด ที่ได้ชื่อว่า โปรจีน แต่ก็มีเหตุการณ์ปะทะ กระทบกระทั่งกับจีน ในพื้นที่น่านน้ำนอกชายฝั่งหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซียด้วยเหมือนกัน
โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปี 2016 (พ.ศ. 2559) ที่ปรากฏว่า เรือยามฝั่งของกองทัพเรืออินโดนีเซีย ได้ยิงเรือประมงของจีน จนส่งผลให้ลูกเรือของเรือประมงจีนดังกล่าว ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย และถูกทหารเรืออินโดนีเซียจับกุมตัวไปหลายคน พร้อมกับยึดเรือประมงเอาไว้ด้วย โทษฐานที่ละเมิด รุกล้ำน่านน้ำของประเทศ และกระทำความผิดกฎหมายของอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงหมู่เกาะนาตูนาแห่งนี้ ก็ต้องบอกว่า ถูกทางการจีนทึกทักเอาตามการตีเส้นแผนที่ “เส้นประเก้าเส้น” ในทะเลจีนใต้ ซึ่งปรากฏว่า ผนวกรวมหมู่เกาะนาตูนาของอินโดนีเซีย ทั้งๆ ที่อยู่ห่างน่านน้ำนอกชายฝั่งของจีนนับพันกิโลเมตร โดยแผนที่ข้างต้น ได้สร้างปัญหากรณีพิพาทดินแดนทางทะเลระหว่างจีนกับเหล่าชาติในอาเซียนอื่นๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย จนกล่าวได้ว่า เป็นแผนที่เจ้าปัญหาโดยแท้
ว่ากันถึงปฏิกริยาจากทางฟากของประธานาธิบดีมือใหม่ป้ายแดงของอินโดนีเซียรายนี้ ที่ผ่านมาในระหว่างที่เขาเป็นทหารหน่วยรบพิเศษของกองทัพอินโดนีเซีย ก็มีปัญหาเรื่องละเมิดสิทธิมนุษยชนกับชาวจีนในอินโดนีเซีย นอกเหนือจากที่เขากระทำต่อพวกนักกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ ในอินโดนีเซีย จนทำให้เขาถูกปลดจากกองทัพมาแล้ว
อย่างไรก็ดี หลังจากที่นายปราโบโว ชนะเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ซึ่งในระหว่างที่รอประกอบพิธีสาบานตนรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เขาก็ได้เดินทางเยือนจีนเป็นประเทศแรก ส่งสัญญาณเป็นนัยยะว่า ผู้นำใหม่ของอินโดนีเซีย ยังคงเดินหน้ากระชับสัมพันธ์กับจีน เฉกเช่นนายโจโกวี ประธานาธิบดีคนก่อน
ทว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าในน่านน้ำของหมู่เกาะนาตูนาข้างต้น ดูเหมือนว่า ก็ทำให้ประธานาธิบดีใหม่ของอินโดนีเซีย ก็ต้องคิดหนักเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิเคราะห์ แสดงทรรศนะว่า อินโดนีเซียภายใต้การนำของประธานาธิบดีปราโบโว ซูเบียนโต ก็ยังคงเดินหน้าสานสัมพันธ์กับจีน เพราะยังมีความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการลงทุนต่างๆ รออยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องระมัดระวังที่จะมิให้ประเทศต้องเสียหมู่เกาะที่กล่าวกันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติแห่งนี้ให้แก่จีนด้วย โดยการเผชิญหน้าก็คาดหมายว่า ยังคงดำเนินต่อเนื่องไป
กล่าวถึงความคิดเห็นของประชาชนชาวอินโดนีเซียที่มีต่อจีน ตามที่เคยมีกาสำรวจที่ผ่านมาในปีนี้ ก็ดูจะไม่เป็นมิตรกับจีนสักเท่าไหร่ โดยผลสำรวจปรากฏว่า จำนวนถึงร้อยละ 73 เห็นว่า การปรากฏตัวของจีนเป็นภัยคุกคามต่ออินโดนีเซีย และร้อยละ 79 เห็นว่า จีนเป็นภัยคุกคามต่อชาติต่างๆ ในอาเซียนเลยทีเดียว และผู้ตอบแบบสอบถามมีข้อแนะนำว่า เหล่าชาติอาเซียนต้องจับมือกัน รวมถึงการร่วมมือกับประเทศนอกอาเซียนเช่น สหรัฐฯ เพื่อต้านทาน และคานอำนาจของจีนในภูมิภาคอุษาคเนย์แห่งนี้