"ขุนคลัง" เร่ง ธปท.ออกมาตรการหนุน ศก.โตดันเงินเฟ้อเข้าจุดเหมาะสม 2%
เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยภายหลังการหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึงกรอบนโยบายการเงินปี 2568 ว่า กระทรวงการคลังยอมรับได้หากกรอบเงินเฟ้อของไทยปี 2568 จะอยู่ 1-3% ต่อปี แต่มีข้อตกลงว่า ธปท.ต้องมีมาตรการช่วยส่งเสริมการขยายตัวของเศรษฐกิจ และมีมาตรการผลักดันการลงทุนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงมีแนวทางทำให้อัตราเงินเฟ้อใกล้เคียง 2% โดยมองว่า แม้เงินเฟ้อจะสูงขึ้น และราคาสินค้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจไทยก็ยังรับได้ รับได้กรอบเงินเฟ้ออยู่ที่ 1-3% แต่ ธปท.ต้องแนวทางมีมาตรการช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว และต้องทำให้เงินเฟ้อไม่ต่ำกว่า 1% หรือทำเงินเฟ้อให้ขึ้นไปอยู่ในจุดที่เหมาะสมใกล้เคียงที่ 2% เพื่อให้เกิดการลงทุน ผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจ หากราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เศรษฐกิจไทยก็รับได้
ทั้งนี้มองว่า กรอบเงินเฟ้อเป็นเรื่องปลายเหตุ เราต้องมาดูกันเรื่องต้นเหตุ ดังนั้นจะกำหนดกรอบเงินเฟ้อไม่ว่าจะอยู่ที่ 1.5% หรือ 3.5% มันก็ไม่มีผลหากของจริงมันออกมาต่ำกว่า 1% เราต้องดูถึงปัญหาจริงๆของประเทศ นั่นคือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ มีการลงทุนน้อย หนี้ครัวเรือนสูง ถ้าแก้ปัญหาพวกนี้ได้ก็ไม่ติด เช่น หากจะกระตุ้นการลงทุนก็ต้องมาดูเรื่องดอกเบี้ยว่าสนับสนุนการลงทุนหรือไม่ แต่จะขึ้นหรือลงดอกเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับธปท.ซึ่งก็ต้องเทียบเคียงกับดอกเบี้ยต่างประเทศด้วย เพื่อให้ไทยสามารถแข่งขันได้ โโยหลังจากการหารือในวันนี้ ธปท.ต้องไปทำข้อตกลงในแนวนโยบายกลับมายังกระทรวงการคลังให้กระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ทันในปีนี้
โดยเชื่อว่า ธปท.น่าจะเข้าใจในเจตนาของรัฐบาล และเห็นด้วยกับแนวทางรัฐบาล ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ส่วนการปรับลดอกเบี้ยของกนง. ก็ขึ้นอยู่กับการติดสินใจของธปท.โดยไม่ได้บอกว่าต้องลดดอกเบี้ยในการประชุมรอบหน้า แต่ดอกเบี้ยของธปท.จะต้องสนับสนุนการลงทุนด้วย รวมถึงสนับสนุนเรื่องการแก้หนี้ครัวเรื่อน ถ้าเศรษฐกิจเติบโตทุกอย่างดีการเงินดีมีเสถียรภาพมันถือเป็น KPI ของทุกคน
สำหรับการแก้หนี้ครัวเรือนอยู่ระหว่างการบูรณาการของทุกฝ่าย โดยใน 2 สัปดาห์จากนี้ไปจะมีแนวทางการแก้หนี้ครัวเรือนออกมา โดยเฉพาะหนี้ที่อยู่อาศัย หนี้รถยนต์ และหนี้อุปโภคบริโภค ที่หากทำให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นผ่านการขอสินเชื่อใหม่ ๆ ได้ โดยมองว่าวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ คือ มาตรการด้านการคลังและมาตรการด้านการเงินจะต้องเดินไปด้วยกัน เราไม่พยายามแก้ปัญหาไปคนละทาง แต่พยายามจะมองให้เห็นปัญหาเดียวกัน เห็นเรื่องเดียวกัน และอยากให้ประเทศมีการเจริญเติบโตเหมือนกัน โดยคาดปีนี้คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ราว 2.7% บวกลบ ส่วนปี 2568 คาดว่าจะโตได้ถึง 3% บวกลบ แต่หากมีการปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นได้ก็ควรจะทำ
#คลัง #ข่าววันนี้ #เงินเฟ้อ #ธปท #สยามรัฐ #สยามรัฐออนไลน์