วันที่ 29 ต.ค.2567 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)  นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม    ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยภักดี เข้าให้ถ้อยคำต่อ  กกต.กรณียื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคเพื่อไทย   ยินยอมให้นายทักษิณ ชินวัตร เข้าครอบงำ ชี้นำพรรค

โดยนพ.วรงค์ กล่าวว่า วันนี้ กกต.เชิญมาให้ถ้อยคำเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ที่ได้มีการร้องไว้ทั้งการประชุมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลที่บ้านจันทร์ส่องหล้า เมื่อวันที่ 14 ส.ค.2567 การที่นายทักษิณ ชี้นำว่าน.ส.แพทองธาร ชินวัตร จะควบตำแหน่งรัฐมนตรี และการเชิญ 6 พรรคร่วมรัฐบาลหารือเพื่อจัดตั้งรัฐบาล 

และตนก็จะมีการเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมที่จะให้กกต.อีก 3 ประเด็น แต่ทีมที่ปรึกษากฎหมายของพรรคเห็นว่าไม่ควรจะเปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะการเปิดเผยจะทำให้อีกฝ่ายนำข้อมูลไปบิดเบือน โดย 3 ประเด็นใหม่นี้เป็นข้อมูลที่สำคัญ และมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือซึ่งเราได้เตรียมเอกสารมายื่นให้กับกกต. เราเชื่อว่าหลักฐานที่มีอยู่และสิ่งที่สื่อรายงานไม่มีคนของพรรคเพื่อไทยสักคนออกมาปฏิเสธการรายงานของสื่อ ถ้ารายงานไม่ถูกต้องคนของพรรคเพื่อไทยต้องออกมาปฏิเสธ เราจึงมั่นใจว่าหลักฐานชิ้นนี้จะเอาผิดพรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ ได้ 

เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยอ้างว่านายทักษิณ ไม่ได้ครอบงำเพราะการประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า มีการเสนอชื่อนายชัยเกษม นิติสิริ แต่สุดท้าย 6 พรรคร่วมก็โหวตให้น.ส.แพรทองธาร  เป็นนายกนายกรัฐมนตรี นพ.วรงค์ กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยโต้แย้งหลายประเด็นแต่ถ้าวันนั้นไม่ได้มีการประชุมจัดตั้งรัฐบาล ทำไมพรรคเพื่อไทยจึงไม่ได้ออกมาตอบโต้ตั้งแต่วันนั้น ทำไมเพิ่งออกมาแก้ตัวหลังจากที่กกต. รับคำร้องว่าเป็นการไปทานข้าว แม้วันที่ประชุมที่บ้านจันทร์ส่องหล้า จะมีมติเสนอชื่อนายชัยเกษม แต่วันรุ่งขึ้นกลับโหวตเลือกน.ส.แพทองธาร เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องถามกลับว่า เย็นวันนั้นที่นายทักษิณ มาประชุม หากพรรคร่วมรัฐบาลไม่เชื่อว่านายทักษิณ มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย 6 พรรคร่วมจะมาร่วมประชุมทำไม คงไม่ได้มาเพื่อนั่งเล่นเฉยๆ เพราะสื่อก็รายงานตรงกัน แสดงว่าสิ่งที่นายทักษิณ จะทำเป็นเครื่องยืนยันว่ามีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรคจึงมาร่วมประชุมด้วย และถ้านายทักษิณ ไม่มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทยจริง ทำไมคนของพรรคเพื่อไทยไม่ออกมาปฏิเสธไม่ให้นายทักษิณ เข้ามายุ่งย่าม เรื่องการจัดตั้งรัฐบาล ณ ขณะนั้น 

นพ.วรงค์ กล่าวอีกว่าในคำร้องของตนไม่ได้มีการกล่าวหาพรรคร่วมรัฐบาล แต่อาจจะมีของผู้ร้องคนอื่นๆ ซึ่งเหตุผลที่ตนไม่ได้ร้อง 6 พรรคร่วม เพราะในฐานะที่ทำพรรคการเมืองตนไม่เชื่อว่านายทักษิณ จะสามารถครอบงำพรรคการเมืองอื่นได้ แต่เขามีสิทธิที่จะต่อรองกับ 6 พรรค ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า 6 พรรคร่วมต่อรองกับนายทักษิณแล้วจะจบ และเท่ากับว่านายทักษิณ มีอำนาจเหนือพรรคเพื่อไทย คิดว่าพรรคเพื่อไทยคงคิดว่าสิ่งที่เขาทำมาทั้งหมดมันสร้างกระแสโต้กลับให้พรรคเพื่อไทย และนายทักษิณ หนักหน่วงกว่าที่คิด ซึ่งแน่นอนว่าเขาจะต้องแก้เกม แต่เกมที่มันไหลลงมา มันหลายเกมมาก ทำให้เขาต้องหยุดนิ่งและประเมินสถานการณ์ อย่างน้อยเขาต้องมาชี้แจงต่อ กกต. และเขาต้องคาดเดาว่าอีก 3 ประเด็นเพิ่มเติมที่ตนมายื่นต่อกกต.มีอะไรบ้าง ซึ่งตนคิดว่าไม่ควรที่จะเปิดเผย เพราะเมื่อเปิดแล้วเขาจะไปสร้างสถานการณ์ทำให้คนเข้าใจผิด ฉะนั้นการที่วันนี้เขานิ่ง เขาต้องตั้งรับเขาไม่สามารถที่จะรุกคืบต่อไปได้ 

เมื่อถามว่า พรรคเพื่อไทยเชื่อมือทีมกฎหมายว่าจะชี้แจงในเรื่องนี้ได้ นพ.วรงค์ กล่าวว่า  ทุกอย่างมีข้อเท็จจริง ต่อให้ทีมกฎหมายเก่งแค่ไหน ถ้าคุณทำผิดมันก็สู้ยาก และเท่าที่สังเกตดู ทีมกฎหมายก็ประกาศอยู่เสมอว่าไร้สาระแต่สุดท้ายก็มีประเด็น ทีมกฎหมายก็พูดแบบให้กำลังใจกันไปก่อน บอกเลยว่าประเด็นนี้ไม่ง่ายสำหรับทีมกฎหมาย ยังไม่รวมในประเด็นที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอิสระ ยื่นเรื่องชั้น 14 สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่นายทักษิณ พรรคเพื่อไทย ยินยอมกระทำร่วมกัน ทำให้สถานการณ์โต้กลับเขาแรงกว่าที่คิด ฝากไปถึงพรรคเพื่อไทยว่า วันนี้กับ 20 กว่าปีที่แล้ว สังคมไม่เหมือนเดิม มีการสื่อสารหลายช่องทาง ในอดีตคุณอาจจะทำอะไรกับสื่อก็ได้ แต่วันนี้ทุกอย่างผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้กระแสโต้กลับมันแรงกว่าที่เขาคาดคิด แล้วตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก

"แม้วันนี้คุณทักษิณ จะไม่ออกมา แต่เชื่อว่าคุณทักษิณ ยังคุมและมีอิทธิพลเหนือรัฐบาลอยู่ ซึ่งหลักฐานในอดีตมีอยู่หลายชิ้น แล้วผมก็เคยพูดเตือนคุณทักษิณ ว่าอย่าออกมาแต่สุดท้ายนายทักษิณ ก็เป็นผู้สร้างหลักฐานขึ้นมาเอง วันนี้การที่อยู่นิ่งๆก็ดีแล้ว จะทำให้รัฐบาลมีเวลาแก้ปัญหา" นพ.วรงค์ กล่าว