วันที่ 29 ต.ค.67 ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงมาตรการรับมือฝุ่น PM 2.5 โดยมี นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย นายธีระพงษ์ วิมลจิตรานนท์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เข้าร่วม
นายธีระพงษ์ กล่าวว่า จากการใช้มาตรการลดฝุ่นในปี 2567 อย่างเข้มข้น พบว่าฝุ่นลดลงกว่าปี 2566 จึงคาดว่าการใช้มาตรการในปีนี้ จะทำให้ฝุ่นในปี 2568 ลดลงด้วย ส่วนมาตรการที่จะนำมาใช้ในปี 2568 ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ 1.ในเขตพื้นที่ป่า ตั้งเป้าลดความรุนแรงของไฟป่า 25% ใน 14 กลุ่มป่า 2.พื้นที่เกษตร ตั้งเป้าลดความรุนแรงของฝุ่นในพื้นที่ภาคกลาง 10% จากพืช 3 ชนิด คือ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน 3.พื้นที่เมือง เข้มงวดเรื่องการควบคุมฝุ่น 100% จากยานพาหนะและภาคอุตสาหกรรม
นายชัชชาติ กล่าวว่า ในปีนี้ กทม.เพิ่มมาตรการรับมือฝุ่น Low Emission Zone โดยอาศัย ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ใช้อำนาจตามมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 37 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ความว่า เมื่อเกิดหรือใกล้จะเกิดสาธารณภัยขึ้นในพื้นที่ใดและการอยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการใด ๆ ในพื้นที่นั้นจะเป็นอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพประชาชน ประกาศดังกล่าวให้กำหนดระยะเวลาการห้ามและเขตพื้นที่ที่ห้ามตามที่จำเป็นไว้
จาก พ.ร.บ.ดังกล่าว หากเกิดกรณีค่าฝุ่นสูงตามเงื่อนไขกำหนด กทม.จะประกาศห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ วงแหวนรัชดาภิเษก และ วงแหวนกาญจนาภิเษก โดยมีเงื่อนไขคือ ห้ามรถบรรทุกตามเป้าหมาย 106,578 คัน เข้าในพื้นที่ดังกล่าว เนื่องจากมีข้อมูลในปี 2561 รถบรรทุก เป็นประเภทรถที่มีการระบายฝุ่นถึงร้อยละ 40 จากรถแต่ละประเภท เนื่องจากเป็นรถเครื่องยนต์เก่าต่ำกว่า EURO 5 แต่หากเป็นรถประเภท EV, NGV, EURO 5 และ 6 สามารถเข้าพื้นที่ได้ เพราะระบายฝุ่นน้อยกว่า
อย่างไรก็ตาม หากรถบรรทุกได้รับการดูแลตรวจเช็กสภาพเครื่องยนต์ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง สามารถเข้าพื้นที่ได้ตามปกติ ในกรณีฝุ่นวิกฤต โดย กทม.กำหนดให้รถประเภท 6 ล้อขึ้นไป ทั้งรถโดยสารและรถขนส่ง ที่ผ่านการเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ไส้กรองแล้ว นำหลักฐานลงทะเบียนในคิวอาร์โค้ดที่กำหนด เพื่อยืนยันสิทธิ์การเข้าพื้นที่ในช่วงฝุ่นวิกฤต ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.67 เป็นต้นไป สำหรับรถ 6 ล้อขึ้นไป ที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่ในช่วงฝุ่นวิกฤต หากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ซึ่งการตรวจจับผู้ฝ่าฝืนอาศัยหลักฐานจากกล้องวงจรปิด และการลงพื้นที่ตรวจสถานประกอบการและอู่รถเมล์ต่าง ๆ ควบคู่กัน
สำหรับเกณฑ์การประกาศพื้นที่ Low Emission Zone หรือเขตมลพิษต่ำ ห้ามรถ 6 ล้อขึ้นไป ที่ไม่ได้ลงทะเบียนเข้า ประกอบด้วย 1.ค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ในระดับสีแดง 5 เขต 2.การพยากรณ์ล่วงหน้า 2 วัน วิเคราะห์จาก ค่าฝุ่นละออง PM2.5 ระดับสีแดง 5 เขต หรือระดับสีส้ม 15 เขต อัตราการระบายอากาศน้อยกว่า 3,000 ตารางเมตรต่อวินาที รวมถึง ทิศทางลมจากตะวันออก 3.ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษก กายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยประกาศล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ระยะเวลาการห้าม 3 วัน มีผลใช้บังคับนับแต่วันถัดจากวันประกาศ เช่น กทม. ออกประกาศฯ ในวันจันทร์ เวลา 06.00 น. รถบรรทุกจะไม่สามารถเข้าพื้นที่วงแหวนรัชดาภิเษกได้ ตั้งแต่วันอังคาร เวลา 06.00 น. ถึงวันพฤหัสบดี เวลา 06.00 น. ทั้งนี้ หากค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 เพิ่มอย่างต่อเนื่อง พิจารณาออกประกาศห้ามรถประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติม
ส่วนมาตรการสำหรับประชาชนทั่วไป กทม.มีมาตรการขอความร่วมมือ Work from Home (WFH) จากการดำเนินการปีที่แล้ว วันที่ 15-16 ก.พ.66 ตามเงื่อนไขฝุ่นละออง PM2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. จำนวน 5 เขต และมีแนวโน้มต่อเนื่องอีก 2 วัน มีบริษัทเข้าร่วม 151 แห่ง จำนวน 60,279 คน พบค่าเฉลี่ยปริมาณรถยนต์ที่สัญจรบนถนน ลดลงร้อยละ 8 ในปีนี้ จึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนร่วมเป็นเครือข่าย WFH ตามคิวอาร์โค้ดที่กำหนด เพื่อร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในการลดฝุ่นช่วงวิกฤต โดย กทม.ตั้งเป้าไว้ที่ 200,000 คน
นอกจากนี้ กทม.มีโครงการเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง โดยในช่วงเดือน ธ.ค.66-ก.พ.67 ดำเนินการไปแล้ว 265,130 คัน จากเป้าหมาย 300,000 คัน ในปี 2568 ช่วงเดือน พ.ย.67-ม.ค.68 ตั้งเป้า 500,000 คัน ซึ่งรถที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับสติ๊กเกอร์เป็นสัญลักษณ์ลดฝุ่น
นายประเสริฐ กล่าวว่า ในส่วนกระทรวงพลังงาน ได้ประสานผู้ประกอบการที่ให้บริการตรวจเช็กสภาพรถ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ไส้กรอง เช่น ปตท. บางจาก เชลล์ และอีกหลายผู้ให้บริการ ซึ่งจะให้ส่วนลดประชาชนถึง 40% เพื่อสนับสนุนการลดฝุ่น PM2.5
นายทองอยู่ กล่าวว่า ในส่วนสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย มองว่ามาตรการทั้งหมดในปีนี้เป็นเรื่องดีที่จะทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น การดูแลสภาพเครื่องยนต์ให้ได้มาตรฐานกรมการขนส่งทางบกและมาตรการต่าง ๆ ของ กทม.เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการ เนื่องจาก กรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นแหล่งกระจายสินค้านำเข้าและส่งออก ทำให้รถบรรทุกวิ่งเข้าพื้นที่จำนวนมาก ส่งผลให้ค่าฝุ่น PM2.5 ขึ้นสูง ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุณภาพอากาศโดยรวม สามารถเข้าร่วมโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้ รวมถึง ห้ามเข้าพื้นที่จำนวน 113 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่รอบเกาะรัตนโกสินทร์ ตามเกณฑ์กำหนดเดิม เชื่อว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยลดฝุ่นอย่างยั่งยืน
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทำวิจัยเรื่องสาเหตุฝุ่นมากว่า 10 ปี พบว่า แหล่งกำเนิดฝุ่น PM2.5 มีความหลากหลาย แตกต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศ ความกดอากาศ การใช้วิทยาศาสตร์มาช่วยจะสามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ แต่ต้องสำรวจข้อมูลแหล่ง PM2.5 ให้แน่ชัดก่อน เช่น มาจากอะไรบ้าง อย่างละเท่าไร ในเวลาใด อย่างไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดย สถาบันวิจัยฯ ร่วมกับ กทม.ติดตั้งเครื่องวัดแหล่งที่มาของฝุ่น 3 จุด ได้แก่ กรุงเทพฯ เขตพญาไท จ.เชียงใหม่ จ.สงขลา โดยมุ่งเป้าวัดองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่น และวัดการลอยตัวและความสูงของฝุ่น เพื่อพยากรณ์ล่วงหน้า