งานเข้า! "บอสพอล" สั่งตรงให้ทนายฟ้องเพิ่ม "กบ ไมโคร-ลูกตาล" อดีตแม่ข่ายดิไอคอน และอีก 3 ราย รวม 5 ราย ตีเนียนเป็นเหยื่อ ยันไม่ใช่การขู่มขู่ จ่อยื่นประกันตัว”บอสพอล”สัปดาห์หน้า ด้าน "รอง ผบช.ก." ส่งมอบสำนวนให้ดีเอสไอแล้ว  เผยแจ้งข้อหา "18 บอส" เพิ่มเติมต้องเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ หลังโอนเป็นคดีพิเศษเเล้ว ขณะที่ "วุฒิสภา" ตั้งกระทู้ดิไอคอน ติงส่งเรื่องดีเอสไอ หวั่นเสร็จไม่ทัน ทำเหล่าบอสรอดคุก

 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 นายวิฑูรย์ เก่งงาน ทนายความของ นายวรัตน์พล วรัทย์วรกุล หรือบอสพอล เปิดเผยว่า วันนี้ได้คุยกับบอสพอล โดยเตรียมเอาผิดแม่ข่ายบริษัท ดิไอคอน กรุ๊ป ที่ตีเนียนเป็นผู้เสียหายรวม 5 ราย ประกอบด้วย คุณลูกตาล ชลธิชา ที่ออกรายการโหนกระแส โดยมีลูกข่ายหลายคนและได้ผลกำไรไปด้วย รวมถึง คุณกบ ไมโคร โดยจะยื่นหนังสือไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ให้เปลี่ยนสถานะจากผู้เสียหายเป็นผู้ต้องหา โดยอาจเป็นผู้ต้องหารายที่ 21

 นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ทั้ง 5 คนนี้ ถ้าเราผิด ทั้ง 5 คน ก็ต้องผิดไปด้วยกัน โดยพฤติกรรมของแม่ทีมคือจะมีตัวแทนในสังกัดและให้คนมาเปิดบิลกับบริษัท ทั้งที่ผู้บริหารไม่ทราบเรื่อง ซึ่งไม่ได้ประเมินความสามารถของตัวแทน ถ้าเราโดนทั้ง 5 คน ก็ต้องโดนด้วย
 "ยืนยันเราลากทั้ง 5 คนจริง เราซวย เราโชคร้าย คุณทั้ง 5 คน ก็ต้องโชคร้ายเหมือนเรา คุณจะมาลอยตัวไม่ได้ คุณต้องพิสูจน์ตัวเองในกระบวนการยุติธรรมเหมือนเรา ตอนนี้เราต้องพิสูจน์ตัวเอง แต่ทั้ง 5 คนจะมานั่งลอยหน้าลอยตาแล้วบอกตัวเองเป็นผู้เสียหายคงไม่ได้ ไม่ถูกต้อง คุณต้องมาเป็นผู้ต้องหาเหมือนเรา โดยคิดว่ายังมีอีก ไม่ใช่แค่ 5 คน แต่ 5 คนนี้เรารู้จัก เลยเอาแค่นี้ก่อน" 

 นายวิฑูรย์ กล่าวยืนยันว่า ตนจะเริ่มดำเนินการรเรื่องการประกันตัว “บอสพอล” ภายในสัปดาห์หน้าเดือนพฤศจิกายน ซึ่งไม่ได้คาดหวังอะไรมาก เพียงแต่ขอประกันตัวให้ลูกความออกมาสู้คดีเท่านั้น ส่วน 3 บอสดาราและคนอื่นๆตนไม่ทราบว่าทางทนายจะยื่นประกันตัวหรือไม่
 ด้าน พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (รอง ผบช.ก.) เปิดเผยถึงกรณีที่หลังจาก พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้เข้าพบ นายภูมิธรรม เวชยชัย รอง นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อรายงานความคืบหน้าและประชุมร่วมกันในคดีดิไอคอนกรุ๊ปและได้ข้อสรุปว่า จะโอนสำนวนคดีทั้งหมดในส่วนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ไปให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินคดีต่อ

 พล.ต.ต.สุวัฒน์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง บช.ก.อยู่ระหว่างการนำส่งสำนวนให้ดีเอสไอ โดยทาง บช.ก. นำส่งข้อมูลทางคดีดังกล่าวทุกอย่างที่มีให้และมั่นใจว่าเพียงพอที่จะนำไปสอบสวนต่อ ซึ่งปัจจุบันทาง บช.ก. ยังดำเนินการรับแจ้งความในกรณีดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกันกับทุก สภ.ทั่วประเทศ ไทย แต่หากถูกโอนเป็นคดีพิเศษและทางดีเอสไป เล็งเห็นว่าคดีนี้มีความสำคัญ ก็อาจจะมีการประสาน ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ซึ่งเช่นนั้นางบช.ก.ก็จะต้องรับแจ้งความต่อไป ในส่วนของเรื่องการแจ้งข้อหากับ18 บอสดิไอคอนเพิ่มเติม รวมถึงแม่ข่ายและผู้ต้องหาในล็อตที่ 2 ก็คงจะต้องเป็นส่วนของดีเอสไอ ที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อจากนี้

 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม พิจารณากระทู้ถามสด โดย นายชิบ จิตนิยม ส.ว.สายสื่อมวลชน ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถึงมาตรการการแก้ไขปัญหากรณีความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย ดิไอคอน กรุ๊ป ที่มีผู้เสียหายเกือบ 10,000 คน และลุกลามทั่วโลก โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้ตอบแทน

 โดย นายชิบ อภิปรายว่า ความเสียหายจากปัญหาธุรกิจเครือข่าย ดิไอคอน กรุ๊ป ยังลุกลามบานปลายไม่หยุด ตัวเลขจากสำนักงานตำรวจสอบสวนกลาง เมื่อค่ำวันที่ 27 ต.ค.สรุปว่าระหว่างวันที่ 10-27 ต.ค. มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความแล้ว 9,472 คน ความเสียหายเกือบ 3,000 ล้านบาท สอบปากคำผู้เสียหายแล้ว 5,999 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,728 ล้านบาท ซึ่งพิษของดิ ไอคอน ระบาดไปเกือบ 20 ประเทศ ทั้งเอเชีย และยุโรป โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่เป็นคนไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ และพำนักอยู่ที่นั่น นอกจากจะลงทุนด้วยตัวเองแล้วยังชักชวนญาติชาวต่างชาติให้มาร่วมเปิดบิลลงทุนกับ ดิ ไอคอน รวมความเสียหายตรงนี้อีกกว่า 20 ล้านบาท

 นายชิบ กล่าวต่อว่า ดังนั้นการส่งคดีให้กับดีเอสไอ เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหวั่นว่าหากดำเนินการไม่เสร็จทันตามกรอบเวลา อาจจะต้องมีการปล่อยตัวผู้ต้องหาจากการคุมขัง ทำให้ผู้ต้องหารอดคดี รวมถึงมาตรการควบคุมป้องกันการใช้สื่อหรือแพลตฟอร์มออนไลน์ไม่ให้มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชน ลงทุนธุรกิจขายตรง โดยการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงมา สร้างความน่าเชื่อถือ การทำหน้าที่กำกับดูแลของ กสทช. รวมถึงแนวทางช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย ให้ได้รับความยุติธรรม

 ขณะที่ นายประเสริฐ ชี้แจงว่า รัฐบาลมีมาตรการป้องกันการใช้สื่อออนไลน์และแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีการโฆษณาหลอกลวงประชาชนผ่านธุรกิจขายตรง โดยมีกฎหมายมาดำเนินการ ส่วนเรื่องการอายัดทรัพย์สิน การดำเนินการต่างๆ ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน วันนี้ทราบล่าสุด ว่าทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สตช.จะโอนคดีหลักเข้าสู่ ดีเอสไอ เป็นคดีพิเศษ เพราะเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานฟอกเงิน ส่วนเรื่องการเยียวยา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) จะปฏิบัติตามขั้นตอนต่อไป

 นอกจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สคบ. ซึ่งได้มีอนุกรรมการของคณะขึ้น 2 ชุด ประกอบด้วยชุดแรกนำสืบค้นหาข้อมูลทั้งหมดเพื่อประกอบการพิจารณา และอนุกรรมการชุดที่ 2 คือการดำเนินการแก้ไขเรื่องนี้ในอนาคต วันนี้ (28 ต.ค.) อนุกรรมการทั้ง 2 คณะ จะเข้ามารายงานกับคณะทำงานชุดใหญ่ เพื่อดำเนินการอย่างเข้มงวดในเรื่องนี้ต่อไป หากพบว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องก็จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ากระทบต่อประชาชนในวงกว้าง หรืออาจจะมีเรื่องในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต