"นายกฯ" เปิดทำเนียบฯ ถกภาคเอกชน พร้อมรับมอบ"สมุดปกขาว" ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจประเทศ ระบุ10 ปีที่ผ่านมาไทยมีปัญหาศักยภาพการเติบโตเศรษฐกิจ ลั่นจับมือเอกชนหารายได้ใหม่ ไม่ใช่แค่ปรับโครงสร้างหนี้ ขณะที่”กกร.”แนะโครงการคูณสองช่วยเพิ่มกำลังซื้อกระตุ้นเศรษฐกิจ

 ที่ห้องม่วง ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 ต.ค.67 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หารือกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน3 สถาบัน (กกร.) นำโดย นายสนั่น อังอุบลกุล ในฐานะประธาน กกร. และประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ,นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ,นายผยง ศรีวณิช ประธานกรรมการสมาคมธนาคารไทย และนายสุธีร์ สธนสถาพร ผู้อำนวยการสำนักงาน กกร. โดยก่อนเริ่มหารือนายสนั่นได้มอบสมุดปกขาว ข้อเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศจัดทำโดย กกร. ให้กับนายกรัฐมนตรี


 ขณะที่ น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ดีใจที่ได้เจอที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งเพราะได้เจอครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยก่อนแถลงนโยบายรัฐบาล ก็อยากพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งครั้งที่แล้วก็ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมาก อย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจซึ่งต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี และแน่นอนว่าผลกระทบนี้ส่งผลถึงประชาชนมีหนี้ครัวเรือนสูงขึ้น อยากให้ภาครัฐและภาคเอกชนได้พูดคุยร่วมมือกัน เราไม่สามารถจะพูดได้แค่เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเดียวที่เป็นปัญหา แต่ต้องมีการหารายได้ใหม่เข้าสู่ประเทศถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้


 น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า และสิ่งที่รัฐบาลทำขณะนี้ก็มีเรื่องของซอฟต์พาวเวอร์ และมีความร่วมมือกับเอกชนจำนวนมากเพราะมองว่าเอกชนคือภาคสำคัญที่จะทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มและสนับสนุนประชาชนด้วยจึงอยากจะให้รัฐกับเอกชนทำงานร่วมกันเยอะขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจและโอกาสใหม่ๆ ให้กับประชาชนซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก วันนี้รัฐบาลพร้อมที่จะซัพพอร์ตรับฟังจากภาคเอกชน เพื่อให้สามารถปรับให้เข้านโยบายของรัฐบาลต่อไป


 ด้าน นายสนั่น กล่าวว่า เชื่อมั่นรัฐบาลภายใต้การนำของน.ส.แพทองธาร ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยในปัจจุบันกำลังเผชิญกับความท้าทายและปัญหาหลากหลายมิติ กกร.จึงได้ระดมความคิดเห็นจากภาคธุรกิจในสาขาต่างๆ จัดทำเป็นสมุดปกขาวเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการทั้งในระยะเร่งด่วนระยะกลาง และระยะยาว โดยมีทั้งหมด 4 ประเด็น ได้แก่ การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs การบริหารจัดการน้ำและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เช่น ระยะเร่งด่วน เสนอมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน ลดต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งการควบคุมราคาสินค้าพื้นฐาน และบริการที่จำเป็น ตรึงราคาค่าไฟ น้ำมันดีเซล เพื่อลดต้นทุนผู้ประกอบการ และลดภาระประชาชน รวมถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยเอกชนขอให้เป็นไปตามกลไกของคณะอนุกรรมการไตรภาคี
 สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรแยกวิธีให้เหมาะสมและใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพโดยมุ่งเป้ากระตุ้นไปยังกลุ่มเปราะบาง ถือเป็นสิ่งเร่งด่วนที่รัฐบาลดำเนินการไปแล้ว ขณะที่ประชาชนกลุ่มที่ยังพอมีกำลังซื้อสามารถดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจในลักษณะโครงการคูณสองเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณมาก สำหรับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงสามารถออกมาตรการดึงการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้นเช่น มาตรการทางภาษี ที่รัฐไม่ต้องใช้งบประมาณเลย