ชัยภูมิ เกษตรจังหวัดฯจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีมันสำปะหลังมุ่งหวังเพิ่มผลผลิตยั่งยืนเกษตรกรพร้อมรับมือในอนาคตโดยมีผู้แทนเกษตรกรจาก 5 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิเข้าร่วมงานจำนวน 250 คน
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2567 ที่บ้านหนองกก หมู่ที่ 8 ตำบลบ้านเพชร อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ นาย อนันต์ นาคนิยม ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังโครงการยกระดับสินค้าเกษตรมูลค่าสูงเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันโดยมีนางสาว กังสดาล ชาตกุล เกษตรจังหวัดชัยภูมิ เป็นผู้กล่าวรายงาน มีนาย สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส. เขต 3 พรรคภูมิใจไทย, นางสาว สุรีวรรณ นาคาศัย นายก อบจ.ชัยภูมิ และผู้แทนเกษตรกรจาก 5 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิรวม 250 คน ซึ่งจังหวัดชัยภูมิถือเป็นแหล่งผลิตมันสำปะหลังที่สำคัญ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกกว่า 800,000 ไร่ในหลายอำเภอ อาทิ อำเภอเทพสถิต หนองบัวระเหว ซับใหญ่ บ้านเขว้า และ อำเภอ จัตุรัส
ปัจจุบันเกษตรกรประสบปัญหาด้านต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนของราคาผลผลิต มันเกิดปัญหาโรคใบด่าง และผลผลิตต่อไร่ที่ยังต่ำ ซึ่งงานในวันนี้จึงจัดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ในการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรในด้านการผลิตที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน และสร้างความมั่นคงด้านรายได้กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วยฐานเรียนรู้ 4 สถานี ออกแบบมาเพื่อให้เกษตรกรได้เรียนรู้กระบวนการผลิตที่ทันสมัย ได้แก่ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังด้วยระบบน้ำหยด โดย ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดลพบุรี 2. พันธุ์มันสำปะหลังต้านทานโรคใบด่าง โดย บริษัท สยามควอลิตี้ สตาร์ช จำกัด 3. การควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง โดย ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดนครราชสีมาและ4.การใช้ประโยชน์จากมันสำปะหลังเพื่อแปรรูปเป็นอาหารสัตว์โดย สำนักงานเกษตรปศุสัตว์ จังหวัดชัยภูมิ
ด้านนาย สัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ สส. เขต 3 พรรคภูมิใจไทย 'มิสเตอร์เกษตร' เปิดเผยว่า ขอสะท้อนปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังไปยังรัฐบาลโดยขอให้ความสำคัญและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคใบด่างมันสำปะหลังและราคามันปัจจุบันตกต่ำมาก ซึ่งมันเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกอันดับที่ 5 รองจากข้าวโพด ข้าวสาลี ข้าวจ้าว และมันฝรั่ง ประเทศไทยส่งออกผลิตภัณฑ์จากมันสำปะหลังเป็นอันดับ 1 ของโลกติดต่อกันทุกปี มีมูลค่าการส่งออกมากกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี
ส่วนการจัดงานครั้งนี้มีเกษตรกรและผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมจำนวน 250 คนประกอบด้วยเกษตรอำเภอ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานมันสำปะหลังระดับอำเภอ และผู้แทนเกษตรกรจากทั้ง 5 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรได้รับความรู้ในการเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผนการผลิตที่เหมาะสม ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และสามารถดำเนินอาชีพอย่างมั่นคงและยั่งยืนในอนาคตต่อไป