นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของ “ประเทศไทย” ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร (The Federation of Neurogastroenterology and Motility Meeting 2024 - FNM 2024) รวมแพทย์ และนักวิชาการกว่า 1,000 คนจากทั่วโลก ตอกย้ำความเชื่อมั่นในความแข็งแกร่งของบุคลากรทางการแพทย์ไทยทางด้านวิชาการในเวทีนานาชาติ พร้อมร่วมขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของรัฐบาลให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (2568–2577) โดยงานประชุมจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 6–8 พฤศจิกายน 2567 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
งานประชุม FNM จัดโดยสหพันธ์ระบบประสาททางเดินอาหารและการเคลื่อนไหว (Federation of Neurogastroenterology and Motility) โดยมีพันธกิจในการส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบประสาท และทางเดินอาหาร ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรคที่พบบ่อยในประชากรทั่วไป เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ โรคลำไส้แปรปรวน และท้องผูกเรื้อรัง โดยงานประชุมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้ และสร้างเครือข่ายของนักวิจัย และแพทย์ที่มีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับโรคทางเดินอาหารทำงานผิดปกติจากทั่วโลก โดยประเทศไทยมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสหพันธ์ฯ และได้รับเลือกเป็นผู้จัดงานถึง 2 ครั้ง คือในปี 2014 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรก แต่ได้มีการย้ายสถานที่จัดงานเนื่องจากสถานการณ์การเมืองที่ไม่สงบ และในปีนี้ 2024 นี้ ซึ่งเป็นครั้งที่ 5 และเป็นครั้งแรกที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าทางการแพทย์ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีวาระแก้ไขปัญหาโรคเกี่ยวกับระบบประสาท และทางเดินอาหารที่กำลังน่าเป็นห่วงในคนยุคใหม่
ศ.นพ.สุเทพ กลชาญวิทย์ ประธานจัดงาน FNM 2024 หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์เฉพาะทางด้านการทำงานระบบทางเดินอาหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจของวงการแพทย์ไทยที่ FNM และสมาคมระบบประสาททางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหวแห่งเอเชีย (The Asian Neurogastroenterology and Motility Association-ANMA) โดยผู้ทรงคุณวุฒิด้านทางเดินอาหารจากทั่วโลก วางใจให้ประเทศไทยจัดงาน FNM 2024 การกลับมาเลือกประเทศไทยในครั้งนี้จึงการันตีถึงชื่อเสียงของบุคลากรทางการแพทย์ไทยทางด้านระบบประสาทและการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิชาการ และการวิจัยที่เป็นเลิศที่ได้รับการยอมรับระดับสากล เป็นองค์ประกอบสำคัญในการช่วยผลักดันประเทศไทยสู่การเป็น Medical Hub ภายใต้ยุทธศาสตร์ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันด้านการจัดบริการสุขภาพ และการพัฒนา การรักษาพยาบาล ผ่านการส่งเสริมองค์ความรู้ เชื่อมโยงแพทย์ไทย และต่างชาติเข้าหากัน ด้วยการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระดับสากล นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับระบบสาธารณสุขไทย ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และสร้างโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ”
“นอกจากความเชี่ยวชาญทางด้านวิชาการแล้ว ความพร้อมในการจัดงานระดับนานาชาติ ทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่ว่าจะเป็นสนามบิน โรงแรมที่พัก เดสติเนชันที่ตอบโจทย์ทั้งการเข้าร่วมประชุมวิชาการและท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจในที่ที่เดียว และความพร้อมของสถานที่จัดประชุม ล้วนเป็นเกณฑ์ที่คณะกรรมการใช้พิจารณาเลือกสถานที่จัดงานทั้งสิ้น สำหรับศูนย์ฯ สิริกิติ์ มีความทันสมัย มีพื้นที่รองรับการประชุมรูปแบบต่าง ๆ และผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนมาก เดินทางสะดวกสบาย และทำเลใกล้สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ”ศ.นพ.สุเทพกล่าวเสริม
โดยภายในงาน FNM 2024 จะประกอบไปด้วยกิจกรรมที่น่าสนใจ ดังนี้
-การบรรยายความรู้ เกี่ยวกับโรค หรือภาวะสำคัญที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท ทางเดินอาหาร และการเคลื่อนไหว (Postgraduate course)
-การนำเสนอผลงาน และบรรยายทางวิชาการ จากผู้เชี่ยวชาญชั้นนำระดับโลกมุ่งเน้นประเด็นที่เกี่ยวกับอาหาร จุลินทรีย์ในลำไส้ และภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบทางเดินอาหาร และสมอง (Disorders of gut brain interaction)
-การนำเสนอผลงานวิจัย จากนักวิจัยจากสถาบันชั้นนำต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งในรูปแบบการบรรยายในห้องประชุม และนิทรรศการ
ด้านสุรพล อุทินทุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กล่าวว่า “ศูนย์ฯ สิริกิติ์ รู้สึกภูมิใจที่จะได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชื่อให้กับวงการแพทย์ไทย ในด้านการจัดประชุมนานาชาติ และงาน FNM 2024 เป็นอีกหนึ่งงานที่ตอกย้ำความพร้อมของศูนย์ฯ สิริกิติ์ ในการเป็นสถานที่จัดงานทุกรูปแบบทุกสเกล โดยเฉพาะงานประชุมวิชาการนานาชาติสำหรับคนจำนวนมาก มีรูปแบบที่หลากหลาย และต้องการห้องเป็นจำนวนมาก เราหวังว่าผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความสะดวกสบายและได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการประชุมครั้งนี้ที่ศูนย์ฯ สิริกิติ์”